Yamaha QL5 เราปูพื้นฐานการใช้คอนโซลตั้งแต่ปี 1 กันเลย มันอาจจะเหนื่อย เพราะเราต้องการให้ตัวนี้เป็นตัวแรกให้เขาได้สัมผัส
ชยุตม์ เจษฎาวรานนท์
สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการสอนดนตรีอันดับต้นๆ ของไทย เชื่อว่าหลายคนจะต้องนึกถึงมหิดล ที่นี่มีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นวิทยาลัยดนตรีมีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งเลยทีเดียว
ครั้งนี้ Reverb Time จะพาทุกท่านไปรู้จักระบบเสียงในหอประชุมที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ อ.ชยุตม์ เจษฎาวรานนท์ อาจารย์หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการฝ่ายเทคนิคฝ่ายการจัดการหอแสดงดนตรี ท่านจะมาบอกเหล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดิจิตอลมิกเซอร์ Yamaha QL5 ในบางแง่มุม ซึ่งคาดว่าหลายท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อน
ภายในหอประชุมดุริยางคศิลป์ รองรับกว่า 300 ที่นั่ง
ระบบการเรียนการสอนของดุริยางคศิลป์นั้น เปิดสอนตั้งแต่ระดับ ม.4 จนถึงระดับปริญญาเอก โดยมีหลักสูตรสอนดนตรีครอบคลุมเกือบทุกแขนง
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
วัตถุประสงค์ของหอประชุมแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออะไร
หอประชุมดุริยางคศิลป์ เป็นหอประชุมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการแสดงดนตรี ของนักเรียนนักศึกษาที่เรียนในวิทยาลัยดนตรี ซึ่งใช้เป็นที่จัดกิจกรรมการแสดงของสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เรียนเอกการแสดง หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวกับ Music Business สาขาเทคโนโลยีดนตรี โดยสาขาต่างๆ จะมาทำงานร่วมกัน อย่างเช่น Music Business จัดละครขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะมีนักเรียนนักศึกษาของสาขาอื่นเข้ามาเล่นเป็นนักแสดง นักดนตรี ได้ฝึกทำงานเพื่อเรียนรู้ภาคปฎิบัติแบบจริงจัง
อยากให้กล่าวถึงระบบเสียงภายในหอประชุมดุริยางคศิลป์
ปัจจุบันที่หอประชุมแห่งนี้เราจะใช้ดิจิตอลมิกเซอร์ของ Yamaha จำนวน 2 ตัว โดยแยกเป็นส่วนงาน Live และการบันทึกเสียง ระบบที่มีอยู่ตอนนี้ เป็นระบบที่ถูกปรับปรุงจากระบบเก่า เดิมทีเราใช้มิกเซอร์อะนาล็อก ตัวที่ใช้ทำงาน Live จะใช้ 56 แชนแนล ส่วนงานเรคอร์ดเราใช้มิกเซอร์อะนาล็อกขนาด 48 แชนแนล
อ.ชยุตม์ เจษฎาวรานนท์ อาจารย์หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในส่วนระบบบันทึกเสียงเราใช้เป็นแบบฮาร์ดดิสก์เรคอร์ด เราได้ปรับปรุงระบบมาเรื่อยๆ ในช่วงหลังเริ่มมีการถ่ายทอดสด ได้เพิ่มชุดตัดต่อวิดีโอ ฝั่งมิกเซอร์ตัวที่อยู่ในภาคบันทึกเสียงจะมีหน้าที่เพิ่มเข้ามาคือเป็นบรอดคาสต์ด้วย
เราใช้ระบบนี้กันมาสัก 10 ปี คือตั้งแต่หอประชุมเปิด จากนั้นเราได้ปรับปรุงอุปกรณ์ให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้นักศึกษาของเราได้เรียนรู้ เป็นระบบดิจิตอล เราเลือก Yamaha QL5 ทั้ง 2 ตัว มีสเตจบ็อกซ์รุ่น Rio 16 (Rio1608-D2) กับ 32 แชนแนล (Rio3224-D2) จริงๆ เดิมทีอินพุตทั้งหมดที่อยู่ในหอแสดงเนี่ย ซึ่งมาจากฝั่งเวที มีทั้งหมด 120 ช่องจะถูกส่งเข้ามาที่ระบบของเรา หากพิจารณาแร็คที่ติดตั้งอุปกรณ์ไว้นั้น จะมี Split box ส่วนหนึ่ง และมีกลุ่มสัญญาณที่มาเข้า Rio 16 และ 32
ในส่วนของ Split box ก็จะไปเข้า Patch Bay เพื่อนำมาเข้า Local Input ของดิจิตอลมิกเซอร์ทั้ง 2 ตัว เรายังคงรูปแบบนี้ไว้ เหตุผลเพราะว่า เราต้องการให้นักเรียนได้ Patching ระบบกายภาพที่จับต้องได้ ว่าในระบบอะนาล็อกมันจะต้อง Patch แบบนี้ ส่วนอีก 48 แชนแนล คือ Rio 16 และ 32 เนี่ย จะถูกยุบไปลง Dante เน็ตเวิร์ก เท่ากับว่านักศึกษาจะได้เรียนทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิตอล โดยมีการ Patching สัญญาณในซอฟต์แวร์ และแบบที่จับต้องเสียบสายสัญญาณได้
Yamaha QL5 ดิจิตอลมิกเซอร์คอนโซล ตำแหน่ง Front of House
ปกติมักจะมีการนำสเตจบ็อกซ์ไปติดตั้งบนเวที ทำไมที่นีจึงวางอุปกรณ์ในห้องคอนโทรลรูม
มันเป็นเรื่องการปรับปรุงระบบ คือเดิมทีสายระบบ Infrastructure ภายในอาคารมันถูกเดินไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้มาเข้าที่แร็ค แล้วเราก็นำสายชุดเดิมที่ออกแบบไว้มาใช้งานเลย ทั้งนี้เพื่อประหยัดเวลาในการติดตั้ง ข้อดีของการวางสเตจบ็อกซ์ไว้ในห้องคอนโทรล จะทำให้นักเรียนเห็นภาพง่ายขึ้นว่า มีอุปกรณ์อะไรบ้าง เวลามีการเชื่อมต่อสัญญาณ ตัวเครื่องก็อยู่ด้านหลังมิกเซอร์เลย จะทำให้เวลาสาธิตการใช้งานได้คล่องตัวกว่า
การติดตั้งอุปกรณ์ไว้บนเวที พอมันเป็น Rio 16 และ 32 เรายังสามารถถอดออกจากตู้แร็คเพื่อใช้ทดลองอะไรบางอย่างได้ตลอดเวลา เพราะตัวระบบไม่ได้ติดตั้ง fix ถาวรอะไรแบบนั้น จะเป็นลักษณะการนำอุปกรณ์ไปวางบนเวทีแล้วเชื่อมต่อสัญญาณมาเข้ามิกเซอร์ที่หน้างานก็ได้
ทำไมจึงเลือกนำระบบ Dante เน็ตเวิร์กมาใช้ในการเรียนการสอน มันมีประโยชน์อย่างไร
จริงๆ ที่เราเลือกระบบ Dante เน็ตเวิร์กเพราะว่าเป็นระบบที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เราจึงมองว่า ยังไงนักศึกษาหากได้มีโอกาสใช้ระบบ Dante ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ พอเค้าจบไปแล้ว หากไปเจองานจริงๆ ก็จะไม่มีปัญหาการใช้งาน อย่างน้อยก็ได้รู้จักระบบออดิโอเน็ตเวิร์กสักหนึ่งโพรโตคอล ตัวซอฟต์แวร์ของ Dante เองก็มีความยืดหยุ่น ใช้งานง่าย เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับใช้อธิบายเรื่องการ Patch แบบดิจิตอล สามารถนำไปต่อยอดหรือทำความเข้าใจกับระบบออดิโอเน็ตเวิร์กอื่นๆ ได้
ตู้แร็คติดตั้ง Yamaha RMio64-D, Rio1608-D2, Rio3224-D2
ดิจิตอลมิกเซอร์ Yamaha QL5 ใช้สอนไปในแนวทางใด
เราใช้สอนแบบเจาะลึกเลย เพราะว่า เราอยากให้นักเรียนนักศึกษาที่นี่ ใช้งานอุปกรณ์ได้จริงๆ หากเราไม่ได้สอนเจาะลึกฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับ Dante เวลาไปทำงานจริง ก็จะมีความเข้าใจตัวระบบไม่มากพอ ซึ่งปัญหานี้อาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการให้นักเรียนสามารถนำไปใช้งานจริง เพราะเราต้องการให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศ หรือหลังจากมาเรียนวิทยาลัยของเรา จะต้องมีความรู้นำไปใช้งานได้
ด้านหลังตู้แร็คมีสวิตซ์สำหรับเชื่อมต่อกับระบบ Dante เน็ตเวิร์ก
เท่ากับว่าหลังเรียนจบ นักเรียนจะสามารถใช้ดิจิตอลมิกเซอร์ Yamaha QL5 ได้เลย
อันที่จริงเราปูพื้นฐานการใช้คอนโซล QL5 ตั้งแต่ปี 1 กันเลยครับ มันอาจจะเหนื่อย เพราะเราต้องการให้ตัวนี้เป็นตัวแรกให้เขาได้สัมผัส เพราะหากผู้เรียนเข้าใจการใช้อุปกรณ์ตัวนี้ตั้งแต่แรก เขาจะมีเวลาไปโฟกัสเรื่องอื่นๆ เช่น การปรับแต่งย่านความถี่เสียง หรือการเซตอัพระบบอย่างอื่นมากขึ้น ทำให้เข้าไม่ต้องมากังวัลเรื่องของปุ่มกด ฟังก์ชันต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องมันใช้ทำอะไร ทำให้สมาธิเขาไปอยู่กับเรื่องการมิกซ์เสียงว่าจะทำยังไง เราจึงเน้นให้เขาเข้าใจตัวระบบอุปกรณ์ตั้งแต่แรกที่เข้ามาเรียนเลยครับ
ทำไมจึงเลือกดิจิตอลมิกเซอร์ Yamaha QL5
ที่เลือก QL5 เพราะมีฟังก์ชันเกี่ยวข้องกับ Dante ยืดหยุ่นกว่า ในรุ่นอื่นก็อาจพอทำงานกับ Dante ได้ แต่กับ QL5 เราเห็นว่ามีความยืดหยุ่นตามที่เราต้องการ เช่นแบบ Full Matrix และสามารถนำไปประยุกต์กับซอฟต์แวร์ Dante อื่นๆ ได้ง่าย บนซอฟต์แวร์ Dante Control เราจะเห็นหน้าตาของระบบ Matrix ที่เข้าใจง่าย หากเราไปเจอระบบอื่นไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน หน้าตาของระบบ Patching ก็จะเหมือนกัน
อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องบันทึกเสียง/บรอดคาสต์ ซึ่งมี Yamaha QL5 อีกหนึ่งตัว
นอกจากการเรียนการสอนแล้ว ใช้ QL5 ทำอะไรบ้าง
จริงๆ เราใช้งานทุกประเภท เพราะงานที่อยู่ภายในคณะของเรามีความหลากหลายมาก ถ้าแยกประเภทงานจะมีกิจกรรมการเรียนการสอน เป็นห้องเลคเชอร์ก็ใช้มิกเซอร์ตัวนี้ หรืองานประเภทคอนเสิร์ต คือพอเป็นคอนเสิร์ต ในวิทยาลัยดนตรีจะมีคอนเสิร์ตหลากหลายมาก เรามีตั้งแต่ดนตรีพื้นบ้าน จนถึงดนตรีคลาสสิคที่เป็นโซโล่ ดนตรีคลาสสิคที่เป็น Chamber music จนถึงขั้นออร์เคสตร้า เรามีวงที่เป็นสาขาแจ็ส วงดนตรีสาขาสมัยนิยม วงป๊อบ ไปจนถึงละครเพลงมิวสิคอล งานทั้งหมดใช้ QL5
อุปกรณ์ I/O, Outboard, Audio Interface สำหรับงานบันทึกเสียง/บรอดคาสต์
งานอะไรที่ใช้ QL5 แบบเต็มระบบ
น่าจะเป็นงานมิวสิคอล ใช้เต็มทุกแชนแนลเลย ทั้ง 64 แชนแนล เฉพาะนักร้องอย่างเดียวก็น่าจะ 30 แชนแนล ไมค์ lavalier ของนักแสดงก็สัก 20 ตัว ที่เหลือเป็นแชนแนลดนตรี เป็นแทร็กซาวด์เอฟเฟ็กต์ รวมถึงระบบของบรอดคาสต์ เราทำเป็น Live Streaming คือมีการใช้งานมิกเซอร์ทั้ง 2 ตัว
QL5 มีปัญหาในระหว่างการใช้งานไหม
ไม่เชิงว่าเป็นปัญหา คือเวลาเรามีจำนวนอินพุต/เอาต์พุตแชนแนลมากขึ้น ผู้ใช้อาจจะสับสนการใช้งาน การเซตอัพ ซึ่งเราจะต้องวางแผนในการเลือกอินพุต ทั้ง 64 แชนแนลนั้น จัดเรียงยังไง เราจะส่งสัญญาณเอาต์พุตไป Live บรอดคาสต์ หรือเอาต์พุตไปออกที่ PA คือพอมันมี 2 มิกเซอร์ เราอาจจะใช้ตัวที่เป็นบรอดคาสต์ทำหน้าที่มิกซ์สัญญาณบางชุดส่งกลับมายังมิกซ์ที่คุม PA เพื่อให้เสียงกระจายไปยังห้องนักแสดงอีกด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องของการวางแผนการจัดการระบบ
สำหรับผู้ที่ใช้งานอะนาล็อกมิกเซอร์มาก่อน หรือไม่เคยเล่นมิกเซอร์ จะใช้เวลาเรียนรู้ QL5 นานหรือไม่
ผมขอเปรียบเทียบจากส่วนตัวละกัน ในด้านการทำงานผมใช้งานมิกเซอร์อะนาล็อกมาตลอด พอเริ่มมีโอกาสใช้ดิจิตอลมิกเซอร์หลายๆ ยี่ห้อ จริงๆ มันไม่ได้ปรับตัวยากนัก อย่างตัวคอนโซล QL5 มีการออกแบบฟังก์ชันค่อนข้างเลียนแบบมิกเซอร์อะนาล็อก มันจะมีความแตกต่างคือเรื่องความยืดหยุ่น ที่ QL5 ทำได้ ขณะที่มิกเซอร์อะนาล็อกทำไม่ได้ อย่างเช่น การเลือกอินพุตแชนแนลจากเฟดเดอร์อินพุตเนี่ย กรณีมิกเซอร์อะนาล็อก สัญญาณอินพุตที่เข้าช่องแชนแนล 1 ก็จะต้องเป็นของแชนแนล 1
แต่สำหรับดิจิตอลมิกเซอร์ บนแชนแนล 1 จะส่งสัญญาณอินพุตที่เท่าไหร่มาก็ได้ ซึ่งคราวนี้เราก็ต้องมาปรับวิธีคิดใหม่ว่า แชนแนล 1 เนี่ยมันไม่ได้ถูกฟิกซ์ไว้กับอินพุตแชนแนล 1 แล้วนะ ส่วนฝั่งเอาต์พุตก็เช่นกัน มันไม่ได้ฟิกซ์ว่าจะต้องเป็น Aux Send 1 เท่านั้น เราสามารถใช้เป็นเอาต์พุตอะไรก็ได้ ส่วนหลักการอื่นก็คล้ายๆ กัน
Yamaha QL5 เชื่อมต่อ XLR เต็มทุกช่องสัญญาณ
คุณภาพเสียงในการบันทึกการแสดงสดเป็นยังไง
QL5 ให้คุณภาพเสียงจัดว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดี เราสามารถนำไปใช้งานในด้าน Post-Production ได้สบายเลยครับ
ขอขอบคุณบริษัทสยามดนตรี ยามาฮ่า จำกัด ที่ประสานงานให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ในครั้งนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เจาะระบบเสียง Yamaha ศาลาดนตรีสุริยเทพ ม.รังสิต
เจาะระบบเสียง Yamaha ร้าน Cafe Amazon
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่
Facebook : Yamaha Pro Audio Thailand
Line: @yamahaproaudioth
Website: th.yamaha.com
Instagram: yamahaproaudiothailand
Tel: 02-215-2626-39 (1401)