Yamaha DZR12-D ลำโพง 2 ทาง ขนาด 12 นิ้ว ขุมพลัง 2000W ให้ความดัง 139dB SPL รองรับการเชื่อมต่อสัญญาณทั้งอะนาล็อก และดิจิตอลผ่านระบบ Dante เน็ตเวิร์ก
Yamaha DZR เป็นตู้ลำโพงที่อยู่ในรุ่นระดับเรือธงของแบรนด์ Yamaha บทความชิ้นนี้จะพาไปรู้จัก DZR12-D โดยละเอียด สำหรับอักษรตัว “D” ที่พ่วงมานั้นหมายถึง Dante เน็ตเวิร์ก บางท่านอาจทราบมาแล้วว่าคืออะไร แต่บางท่านอาจจะไม่ทราบ ซึ่งเราจะอธิบายในส่วนถัดไป
สำหรับลำโพง DZR Series ทาง Yamaha ได้แบ่งสายการผลิตออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มรุ่นที่รองรับ Dante เน็ตเวิร์ก และกลุ่มที่ไม่รองรับ Dante อย่างไรก็ดี ส่วนประกอบฟีเจอร์ต่างๆ จะมีเหมือนกันทุกประการ
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
DZR Series ดีไหม
จุดเด่นของ DZR Series คือมีการออกแบบยกเครื่องใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะภาคประมวลผลสัญญาณ ในรุ่นนี้มีระดับค่า Sampling rate สูงถึง 96kHz แม้มีค่า Sampling rate สูง แต่จะไม่มีปัญหาเรื่องความหน่วงของสัญญาณเสียง
ผลจากการใช้งาน เช่น การใช้ทำเป็นมอนิเตอร์ ผู้ใช้จะรับรู้ได้ว่าแทบไม่มีค่า Latency เลย
ด้านล่างตู้ลำโพงจะมีช่องสำหรับเสียบกับเสา แบบ 0 องศา และมุม 7 องศา ส่วนด้านบนสามารถขัน eyebolt แล้วยึดด้วยลวดสลิงได้
ด้านหลังตู้ Yamaha DZR12-D จะมีฟังก์ชันให้เราสามารถปรับแต่งเสียงได้ละเอียดมาก หลายคนอาจเคยใช้เพาเวอร์แอมป์ Yamaha PX Series ซึ่งเป็นแอมป์ดิจิตอล โดยมีภาค DSP ในตัว มีฟังก์ชันการใช้งาน รองรับการปรับแต่งมากกว่าเพาเวอร์แอมป์อะนาล็อกทั่วไป
ในภาค DSP ผู้ใช้สามารถปรับ EQ, Delay, Routing สัญญาณ รวมถึงการจัดเก็บพรีเซตเก็บไว้ใช้งานภายหลังได้ จะเห็นว่า DSP บน DZR12-D จะเป็นชุดโปรแกรมคำสั่งเดียวกับ Yamaha PX Series ผ่านจอภาพที่ใช้แสดงผล
Yamaha DZR12-D จูนด้วย FIR ฟิลเตอร์
กราฟเปรียบเทียบการตอบสนองทางเฟสระหว่างฟิลเตอร์ทั่วไปกับ FIR-X จะพบว่าสัญญาณเสียงที่จูนด้วย FIR จะเกิดเฟสเลื่อนน้อยกว่า
Yamaha DZR12-D มีการปรับจูน FIR ในระดับ Advance ซึ่งช่วยรอยต่อความถี่ที่ถูกตัดครอสโอเวอร์ โดยเฉพาะในช่วง 1kHz-2kHz มีความนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น เป็นการปรับจูนเพื่อให้เสียงน่าฟัง มีความเป็นธรรมชาติ ให้ความชัดเจนโดยไม่มีเสียงแตก รวมถึงยังได้มิติสเตริโอที่ดีอีกด้วย
D-CONTOUR
จุดเด่นตัวชูโรงของลำโพงค่ายนี้คือ D-CONTOUR เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ของลำโพงแบรนด์ Yamaha ซึ่งถูกบรรจุลงในตู้ลำโพงหลาย Series ช่วยให้ผู้ใช้ปรับแต่งหรือเซตอัพตู้ลำโพงให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ครอบคลุมทุกแอปพลิเคชันการใช้งานลำโพง ไม่ว่าจะเป็นงานที่เน้นการเปิดเพลง งานที่ใช้เป็นลำโพงชุดหลักเพื่อการแสดงสด (Main PA/FOH) หรือใช้เป็นลำโพงมอนิเตอร์วางบนพื้น (Stage monitor) ซึ่งโหมดดังกล่าวนี้รองรับการใช้งานทุกรูปแบบในยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง
การทำงานของโหมด D-CONTOUR (ฝั่งซ้ายมือ) ลำโพง DZR315 ทำงานในโหมด FOH/Main จะบูสต์ย่าน Low เพิ่มขึ้น (ฝั่งขวามือ) ลำโพง DZR15/12/10 ทำงานเป็นสเตจมอนิเตอร์ ระบบจะคัตย่าน Low ออกและบูสต์ย่าน Low-mid ขึ้น โดยกราฟสีแดงคือ D-CONTOUR ถูกใช้งาน ส่วนกราฟสีดำคือ D-CONTOUR ถูกปิด
D-CONTOUR จะมีรูปแบบการใช้งานที่ต่างกัน เช่น กรณีเซตอัพตู้ลำโพงเพื่อใช้ในลักษณะ Front of House จะโฟกัสที่ย่านความถี่สูงกว่า 75Hz ขึ้นไป และย่าน 10kHz โดยระบบจะมีการปรับ Gain ความถี่ย่านเหล่านี้ขึ้นเล็กน้อย ซึ่งช่วยให้ความถี่เสียงมีความชัดเจน หนักแน่นขึ้นกว่าปกติ ตรงนี้เหมาะกับการแสดงกลางแจ้ง
โหมดนี้ช่วยให้เราไม่ต้องปรับจูนลำโพงให้ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน แค่ปรับสวิตซ์ของโหมดนี้เสียง เราจะได้คาเร็กเตอร์เสียงของลำโพงที่เหมาะสมกับประเภทการใช้ที่ต้องการทันที ซึ่งการใช้งานบางประเภทอาจไม่จำเป็นต้องมีตู้ซับวูฟเฟอร์ก็ได้ โดยเฉพาะงานแสดงเล็กๆ ที่เน้นเสียงพูด หรือเสียงดนตรีเบาๆ
กรณีเราใช้ตู้ลำโพงเป็น FOH และเปิดเสียงดังมากๆ ระบบจะมีการลดระดับความดังของความถี่บางย่านให้เล็กน้อย เพื่อไม่ให้ลำโพงทำงานหนักเกินไป แต่ไม่สูญเสียความดังและรายละเอียดภาพรวมของความถี่เสียง ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้ลำโพงเกิดความเสียหาย
ในกรณีใช้เป็นมอนิเตอร์บนเวที ระบบจะลดย่านความถี่ต่ำให้ หากนำลำโพงไปวางบนเวทีโดยไม่มีการปรับแต่งความถี่ หรือปรับแต่งไม่ถูกต้อง เราจะได้ยินเสียงความถี่ต่ำออกมารบกวน เช่น เสียงกระพือของย่านเบส ซึ่งมักจะไปลดความชัดเจนที่เราต้องการได้ยิน ดังนั้นโหมดนี้จะช่วยให้เสียงจากลำโพงมอนิเตอร์มีความคมชัด ฟังได้สมูธยิ่งขึ้น ช่วยให้นักดนตรีเล่นดีขึ้น
นักดนตรีหลายคนชอบลำโพงมอนิเตอร์ Yamaha ไม่ว่าจะเป็นรุ่น DSR, DXR หรือรุ่นอื่นๆ ที่มี D-CONTOUR ทุกคนรู้ดีว่ามันช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้จริง
Yamaha DZR12-D มาพร้อม Dante
ด้านหลังตู้ลำโพงจะมีพอร์ต Dante เน็ตเวิร์กให้จำนวน 2 พอร์ต คือ Primary และ Secondary ทำให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อสัญญาณจากดิจิตอลมิกเซอร์ที่เป็น Dante ตรงดิ่งมายังที่ตัวลำโพงรุ่นนี้ได้เลย รวมถึงโพรเซสเซอร์ที่มี Dante ก็สามารถใช้งานร่วมกันได้ อาทิ MRX7-D, MTX5-D ช่วยให้การใช้งานของผู้ใช้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดภาระในการเซตอัพระบบเสียงที่ใช้สายแบบอะนาล็อกได้มาก และสามารถลิงค์สัญญาณออกไปที่อื่นๆ ได้อีกหลายจุด
ด้านหลังตู้ลำโพงจะพบช่องเชื่อมต่อ Dante เน็ตเวิร์ก จำนวน 2 พอร์ต
ขณะเดียวกันผู้ใช้สามารถควบคุมสัญญาณในรูปแบบอะนาล็อกได้ เพราะการใช้งานบางครั้งสัญญาณเสียงอาจไม่ได้เป็น Dante เน็ตเวิร์กทั้งหมด ตัวลำโพงจะมีฟังก์ชันที่เรียกว่า Dante break-IN ตัวอย่างเช่น เราใช้สัญญาณอินพุต 1 และ 2 เป็นสัญญาณสเตริโอจากคีย์บอร์ด ซึ่งเป็นสัญญาณอะนาล็อกอินพุต แต่สัญญาณฝั่งเอาต์พุตจะทำการแปลงให้เป็น Dante
ตัวระบบจะนำสัญญาณดังกล่าวส่งไปยังดิจิตอลมิกเซอร์ที่รองรับ Dante เน็ตเวิร์ก เช่น มิกเซอร์ Yamaha QL1 สรุปว่าแม้สัญญาณอินพุตจะเป็นอะนาล็อกก็ตาม แต่ฝั่งเอาต์พุตจะเป็น Dante เน็ตเวิร์ก กล่าวคือเราสามารถส่งสัญญาณกลับออกไปได้ โดยอาศัยตู้ลำโพงเป็น Dante อินเทอร์เฟซในการส่งสัญญาณนั่นเอง นี่คือหลักการทำงานของ Dante break-IN ซึ่งมากับเฟิร์มแวร์ตั้งแต่เวอร์ชัน 1.22
ลักษณะการติดตั้งตู้ลำโพงมุมก้ม 7 องศา
ดังนั้น ไม่ว่างานประเภทใดก็ตามที่อินพุตเป็นอะนาล็อก แล้วเราต้องการส่งกลับไปยังมิกเซอร์ ในรูปของดิจิตอลโดยที่สัญญาณไม่เกิดการสูญเสียของสัญญาณ ระบบนี้ถือว่าตอบโจทย์ดีมาก โดยเฉพาะงานติดตั้งในโรงภาพยนตร์ โรงละคร ร้านกาแฟขนาดใหญ่ ร้านอาหารขนาดใหญ่ สามารถใช้ร่วมกับ Yamaha TF-Rack ซึ่งใช้ติดตั้งในตู้แร็คก็ได้ ส่วนอินพุตต้นทางอาจจะเป็นมิกเซอร์อะนาล็อก โดยเชื่อมต่อกับเครื่องดนตรีพวกกีตาร์ คีย์บอร์ดหรืออื่นๆ ที่เป็นอะนาล็อกแล้วส่งเป็น Dante กลับมายังดิจิตอลมิกเซอร์ได้ทันที
หรือกระทั่งงานในระบบห้องประชุม มีการออกแบบโซนเยอะๆ มีห้องประชุมย่อยจำนวนมาก สามารถส่งสัญญาณไปยังตัวเน็ตเวิร์กสวิตซ์ อาทิ Yamaha SWP1, SWP2 สามารถส่งกลับมาเป็น Dante ไปยังมิกเซอร์ Yamaha QL/CL Series ได้
ตรงนี้ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมสัญญาณเสียงได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกประเภทคืองานในสนามกอล์ฟ สนามกีฬา ซึ่งในไทยยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ แต่ต่างประเทศนิยมนำระบบนี้ไปใช้กันมาก ถ้านึกภาพถึงสนามกอล์ฟจะพบว่าสามารถจัดแบ่งได้หลายโซน เพราะระยะทางจากหลุม 1 ไปหลุม 18 นั้น มีระยะห่างกันพอสมควร เราสามารถใช้ลำโพงพ่วงสัญญาณผ่าน Dante ได้ ถือเป็นอีกหนึ่งโซลูชันที่น่าสนใจมากๆ
ลองเล่น Yamaha DZR12-D
Yamaha DZR12-D มีไดรเวอร์ขนาด 12 นิ้ว ถือว่ากำลังดี รองรับงานได้กว้าง หลากหลายแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็นงานในห้องประชุม คอนเสิร์ตฮอลล์ งานแสดงกลางแจ้ง (พื้นที่ไม่กว้าง) ถือว่าเหมาะมาก เพราะโทนเสียงของ DZR12-D นั้นมีความชัดเจน
ตู้ลำโพงทำด้วยไม้ แต่ไม่หนัก หากพิจารณาด้านหลังตู้ลำโพง บนสุดจะพบหน้าจอแสดงผล ในรูปแบบเดียวกับเพาเวอร์แอมป์ PX Series ในจอจะพบคำสั่งและพารามิเตอร์ต่างๆ
Master มิเตอร์
จะแสดงผลระดับสัญญาณว่าขณะนั้น เราปรับไว้ที่เท่าไหร่ ซึ่งในจอจะแสดงระดับสัญญาณทั้งอะนาล็อกและดิจิตอลที่เป็น Dante เน็ตเวิร์ก หากผู้ใช้ป้อนสัญญาณอินพุตเข้ามาเป็น Dante ระดับความดังก็จะแสดงผลขึ้นลงอยู่ในช่อง Dante
ฟังก์ชัน HPF
หน้าจอนี้นอกจากจะแสดงผลสัญญาณ Master แล้ว ยังมีในส่วนของ HPF เพื่อใช้ตัดย่านความถี่ที่ต้องการ สามารถตัดความถี่ได้หลายย่านตั้งแต่ 60Hz, 70Hz, 80Hz, 90Hz, 100Hz, 110Hz และ 120Hz ถือว่าจุดตัดความถี่สามารถทำได้กว้างและละเอียดเลยทีเดียว
ฟังก์ชัน D-CONTOUR
โหมด D-CONTOUR ลำโพงรุ่นนี้จะอยู่ในโหมดฟังก์ชันดิจิตอล เราสามารถปรับใช้งานตามแอปพลิเคชันที่ติดตั้งลำโพง สามารถเลือกเป็นแบบ Flat, FOH, Monitor ซึ่งโทนเสียงที่ได้ยินจากตู้ลำโพงจะมีลักษณะต่างกันไป ตามประเภทการใช้งานเหล่านั้น
ฟังก์ชัน EQ
สำหรับ EQ บน Yamaha DZR12-D เป็นชุดเดียวกับแอมป์ PX Series ปรับได้ละเอียดในระดับหนึ่ง สามารถกด flat ได้ สั่งรีเซต EQ ได้ สามารถปรับแต่ละแบนด์ความถี่แยกอิสระ ซึ่งการปรับ EQ ของลำโพงรุ่นนี้จะเป็นพาราเมตริก EQ ภายในจะมีพารามิเตอร์หลายชนิด เช่น ค่า Q ค่า Type (Lo-Self, Hi-Self, Hi-Pass, Low-Pass) สามารถปรับได้สูงสุดถึง 6 แบนด์ความถี่ คิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการใช้งานในประเภทต่างๆ อีกทั้งแต่ละแบนด์สามารถสั่ง Bypass ได้ ช่วยให้เช็คสัญญาณความถี่แต่ละแบนด์ ว่าก่อนปรับและหลังปรับความถี่เหล่านั้นลักษณะเสียงแตกต่างกันอย่างไร
ฟังก์ชัน Delay ของ Yamaha DZR12-D
ผู้ใช้สามารถ Delay สัญญาณเสียงของตู้ลำโพง มีให้เลือกหลายแบบ แบบแรกเป็นหน่วยเวลาคือแบบ ms หรือหากรู้ระยะทางก็สามารถป้อนเป็นค่าระยะทางได้ โดยค่านี้อาจได้จากการวัดระยะห่างของตู้ลำโพงแต่ละใบ ผู้ใช้สามารถ On/Off ฟังก์ชันนี้เพื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังใส่ Delay ได้ ฟังก์ชันนี้เหมาะกับงานที่มีการใช้ลำโพงมากกว่า 2 โซนขึ้นไป
ฟังก์ชัน Router
ผู้ใช้สามารถนำสัญญาณอินพุตเข้ามา แล้วนำมาแปลงเป็นดิจิตอลได้ รวมถึงกรณีเชื่อมต่อกับสัญญาณอินพุตเป็นดิจิตอล สามารถสั่งให้รับดิจิตอลหรือไม่รับก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกสัญญาณแบบ Post EQ/Pre EQ ได้
ฟังก์ชัน Utility
หน้าที่ฟังก์ชันนี้สามารถเซตอัพความสว่างหน้าจอ การล็อคฟังก์ชันต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาปรับแต่งค่าต่างๆ ที่เราเซตไว้ ซึ่งสามารถกำหนดรหัสผ่านได้
ฟังก์ชัน Load/Save
ผู้ใช้สามารถ Load/Save ค่าคอนฟิกของลำโพงที่เราปรับแต่งไว้ เพื่อนำไปใช้งานกับตู้ลำโพงใบอื่นๆ หรือใบนั้นๆ ในภายหลังได้ โดยจัดเก็บลงใน USB แฟลชไดร์ฟ รวมถึงการสำรองข้อมูลพรีเซตต่างๆ ของตู้ลำโพงเก็บไว้ได้
ฟังก์ชัน Dante Setup
ซอฟท์แวร์ Dante Controller ใช้ Patch สัญญาณเสียงไปยังลำโพง
เป็นฟังก์ชันหนึ่งที่สามารถเซตอัพ Dante เน็ตเวิร์ก ซึ่งรายละเอียดในเชิงลึกสามารถไปจัดการผ่านหน้าซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ได้ เช่น Unit ID ที่เท่าไหร่ ค่า Sampling rate ของ Dante เท่าไหร่ ค่า Latency เท่าไหร่ ตรงนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับเน็ตเวิร์ก ข้อดีคือช่วยให้เราจัดการสัญญาณได้ง่ายขึ้น สำหรับฟังก์ชันนี้ มักจะถูกจัดการผ่านคอมพิวเตอร์ ด้วยซอฟท์แวร์ Dante Controller
ซอตท์แวร์ Dante Virtual Soundcard ใช้จำลอง Audio Interface บนคอมพิวเตอร์
ฟังก์ชัน Network
บนตู้ลำโพงจะโชว์เลข IP Address ที่รันอยู่ หากใครที่อบรมคอร์ส Dante มาแล้วจะเข้าใจส่วนนี้เป็นอย่างดี
เฟิร์มแวร์ของ Yamaha DZR12-D
เราสามารถเช็คเวอร์ชันของเฟิร์มแวร์ปัจจุบันที่รันบนตู้ลำโพงได้ ในอนาคตหากมีเฟิร์มแวร์ใหม่ออกมา เราสามารถอัพเดตเฟิร์มแวร์ผ่าน USB ได้
ฟังก์ชัน Initialize
กรณีปรับแต่งฟังก์ชันต่างๆ ไปมากๆ เราสามารถรีเซตคืนค่าโรงงานให้ลำโพงได้ โดยใช้ฟังก์ชัน Initialize
Log Data
เราสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่าน Log ไฟล์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่บันทึกการใช้งาน ที่มีการอ้างอิงกับวันเวลา ปริมาณหรือการปรับแต่งค่าต่างๆ ของระบบ เบื้องต้นระบบจะแสดงรายละเอียดประวัติการใช้ตู้ลำโพง ผู้ใช้สามารถจัดเก็บลงใน USB แฟลชไดร์ฟ เพื่อนำไปวิเคราะห์ซึ่งอยู่ในรูปของ Text ไฟล์ ช่วยให้ไล่เรียงช่วงเวลาที่ลำโพงมีปัญหาได้อย่างแม่นยำ
ภาค INPUT/OUTPUT
หากท่านเคยใช้ลำโพงใน Series ต่างๆ ของ Yamaha ไม่ว่าจะเป็นรุ่น DSR, DXR จะพบช่องอินพุตสำหรับสัญญาณชนิด LINE สามารถรับสัญญาณเป็นอะนาล็อก แล้วส่งออกไปยังภายนอกผ่านช่อง THRU
บน Yamaha DZR12-D จะไม่มีช่องสำหรับเชื่อมต่อกับไมโครโฟน จะมีเฉพาะ LINE INPUT อย่างเดียว แต่หากเป็นรุ่น DXR จะใช้กับ Mic ได้
ในช่องที่ 2 สามารถเชื่อมต่อกับ LINE INPUT แต่ฝั่งเอาต์พุตสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แบบ THRU หรือ DSP OUT หากเลือกเป็น THRU หมายถึงการนำสัญญาณที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งเสียงไปใช้ หรือกรณีช่อง DSP OUT หมายถึงการนำสัญญาณที่ผ่านการปรับแต่งไปใช้งาน
พอร์ต Ethernet
ด้านหลังตู้ลำโพงจะมีพอร์ตอีเธอร์เน็ตจำนวน 2 พอร์ต ทั้งพอร์ต 1 และ 2 เป็นพอร์ตที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อกับสาย LAN RJ-45 หรือพอร์ต Dante เน็ตเวิร์กนั่นเอง ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งพอร์ต 1 หรือ 2 ในแบบ Daisy Chain โดยเลือกผ่านคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ยิงสัญญาณมายังตู้ลำโพงให้ถูกต้อง
พอร์ต USB บน Yamaha DZR12-D
สำหรับพอร์ต USB ที่อยู่ด้านหลังตู้ลำโพง มีไว้สำหรับเชื่อมต่อกับแฟลชไดร์ฟแบบ USB 2.0 (5V 500mA) เพื่อเก็บค่าพรีเซตในการปรับแต่งลำโพง รวมถึงเฟิร์มแวร์ตู้ลำโพง โดยที่พอร์ตนี้ไม่สามารถนำไปใช้ชาร์จสมาร์ทโฟน หรือแท็บเลตได้ และไม่สามารถใช้เปิดไฟล์ Wave/MP3 เพลงต่างๆ ได้ ส่วนในกรณีถ้าต้องการต่อพ่วงด้วยสาย USB แนะนำว่าไม่ควรยาวเกิน 1 เมตร
ตัวอย่างการเชื่อมต่อลำโพง DZR Series ร่วมกับคอมพิวเตอร์ ดิจิตอลมิกเซอร์ และสวิตซ์ผ่านระบบ Dante เน็ตเวิร์ก
สรุป
Yamaha DZR12-D เป็นลำโพงสำหรับ PA/Installation ขนาด 12 นิ้ว คุณภาพระดับไฮเอ็นด์ของ Yamaha ลำโพงรุ่นนี้มาพร้อมกับภาคขยายกำลังสูง มีภาค DSP ถอดแบบมาจากเพาเวอร์แอมป์ PX Series มีฟังก์ชันมากมายที่จำเป็นต่อการปรับแต่งลำโพง มีการปรับจูนด้วย FIR ฟิลเตอร์ รองรับการเชื่อมต่ออินพุตทั้งแบบอะนาล็อก และสามารถเชื่อมต่อผ่าน Dante เน็ตเวิร์กได้
หลังจากเราได้ลองเล่นพบว่า ลำโพงรุ่นนี้ให้เสียงยอดเยี่ยม เป็นธรรมชาติ เสียงโปร่งใส คมชัด สามารถประยุกต์ใช้งานได้ทุกแอปพลิเคชัน จึงขอแนะนำ DZR12-D ไม่ผิดหวังแน่นอน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
DZR Series ลำโพง Active 2000W จาก Yamaha
Yamaha DXR mkII ลำโพงโฉมใหม่ปี 2019
สามารถมาทดลองสินค้าได้ที่
YDACC ชั้น 3 อาคารสยามกลการ ใกล้กับ bts สนามกีฬาแห่งชาติhttps://goo.gl/maps/ca3fkb2ZmwUq4Rrg6
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่
Facebook : Yamaha Pro Audio Thailand
Line: @yamahaproaudioth
Website: th.yamaha.com
Instagram: yamahaproaudiothailand
Tel: 02-215-2626-39 (1401)