“DXR mkII Series ถูกปรับปรุงคุณภาพเสียงให้มีมิติการฟังที่ดีขึ้น มี SPL สูง ใช้วัสดุดีขึ้น”
Yamaha DXR mkII เป็นลำโพงโฉมใหม่ที่เปิดตัวออกมาล่าสุด หลังจากตู้ลำโพง Series นี้ประสบความสำเร็จในตลาดระดับโลกมาหลายปี ตอนนี้ทางยามาฮ่าก็ได้กฤกษ์ เปิดตัวสินค้าใหม่ออกมาเป็นโฉมใหม่ปี 2019 ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของลำโพง Series นี้จะพบว่าลำโพงตระกูลนี้เน้น 3 เรื่องคือ
- ให้ความดังสูง
- มีน้ำหนักเบา
- ให้โทนเสียงมีเอกลักษณ์
กว่าจะมาเป็นลำโพง DXR Series นั้น ทาง Yamaha ได้ใช้เวลาในการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งเฟ้นหานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาผลิตประกอบเป็นตู้ลำโพง เรียกว่าทีมพัฒนาทำงานกันอย่างหนักเลยทีเดียว นั่นก็เพื่อให้ได้ตู้ลำโพงที่มีคุณภาพ ทั้งในเรื่องให้กำลังขับสูง ให้เสียงคุณภาพยอดเยี่ยมและมีโทนเสียงที่ชัดเจน
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
DXR โฉมใหม่มีอะไรน่าสนใจ
สำหรับ DXR mkII Series จัดเป็นลำโพงที่มีภาคขยายเสียงในตัว โดยทุกรุ่นได้ถูกอัพเกรดให้มีค่า SPL (sound pressure level) สูงขึ้น ซึ่งจะได้ความดังมากขึ้น และยังมีฟีเจอร์เด่นๆ เพิ่มมาด้วย อย่างเช่นดอกลำโพงที่ใช้ขับเสียงแหลมนั้น ผลิตจากแม่เหล็กนีโอไดเมียม ขนาด 1.75 นิ้ว เป็นชนิดคอมเพรสชันไดรเวอร์ ซึ่งจุดแข็งของดอกลำโพงประเภทนี้จะได้เสียงพูดหรือเสียงร้องที่เคลียร์ แถมยังให้เสียงมีความเป็นดนตรีสูง
สิ่งหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือทาง Yamaha ได้ร่วมมือกับทีม NEXO ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตลำโพงเพื่อใช้กับงานทัวร์คอนเสิร์ตระดับโลก โดยมีชื่อเสียงมายาวนาน ในวงการเครื่องเสียงกลางแจ้งรู้จักกันดี จากความร่วมมือกับ NEXO นั้น ทำให้ Yamaha สามารถผลิตลำโพงเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับอาชีพได้ดียิ่งขึ้น เพราะทีม NEXO รู้ลึก รู้จริงในเรื่องลำโพงสำหรับงานกลางแจ้งนั่นเอง
DXR mkII ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับงานติดตั้งถาวร และงานแสดงสดแบบเคลื่อนย้าย เช่น อีเว้นต์เปิดตัวสินค้า งานแสดงดนตรีสด หรือกิจกรรมการตลาดที่ต้องใช้เสียงประกาศ สามารถตอบโจทย์งานประเภทนี้ได้แทบทุกรูปแบบ นั่นเพราะลำโพงซีรี่ส์นี้ถูกออกแบบเพื่อให้ใช้งานเอนกประสงค์ได้ ความโดดเด่นและถือเป็นหัวใจหลัก คือภาค DSP ฟังก์ชัน
ซึ่งจะทำหน้าที่ปรับจูนการตอบสนองของโทนเสียงไปตามพื้นที่ใช้งานนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม หรือตามที่เราคาดหวังไว้ เช่น ใช้เป็นลำโพงมอนิเตอร์บนเวที เป็นลำโพงหลัก (Main PA) หรือนำไปใช้ร่วมกับตู้ลำโพงซับวูเฟอร์ก็ได้ ลองมาพิจารณาคุณสมบัติที่โดดเด่นของลำโพงโฉมใหม่มีดังนี้
น้ำหนักเบา – ให้กำลังขับสูง
ตู้ลำโพง DXR mkII ทุกรุ่น ตัวดอกลำโพงถูกสั่งผลิตแบบคัสตอมขึ้นใหม่ ซึ่งสเป็คต่างๆ ก็จะได้ตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ซึ่งจุดเด่นของลำโพง DXR รุ่นใหม่นั้น จะให้เบสที่ลึก มีดิสตอร์ชันต่ำ เช่น ดอกลำโพงที่ใช้ขับเสียงแหลมก็ตอบสนองเสียงกลางและเสียงแหลมได้ไปจนถึง 20kHz
รวมถึงยังปรับปรุงมิติของมุมกระจายเสียงให้กว้างขึ้น โดยอาศัยปากฮอร์นหรือ waveguide เป็นตัวควบคุมทิศทางเสียงนั้นจะทำงานได้แม่นยำขึ้น จึงช่วยให้เสียงครอบคลุมพื้นที่ผู้ฟังได้ทั่วถึง สำหรับลักษณะการกระจายเสียงของลำโพงรุ่นนี้ จะรู้สึกว่ามีมิติที่ดีขึ้น ทำให้เสียงขยายขอบเขตในการฟังได้มากขึ้นนั่นเอง ภายใต้มุม 90 องศาแนวนอน และ 60 องศาแนวตั้งเหมือนรุ่นก่อนหน้า
จูนด้วย FIR
ด้วยความกว้างหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตอลนั้นทำให้ Yamaha ก้าวขึ้นแท่นผู้นำในการผลิตสินค้าเครื่องเสียงระดับอาชีพ มีการใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของครอสโอเวอร์ ระบบ EQ ปรับจูนความถี่ และการทำ time alignment1 ไปจนถึงการเซตระบบป้องกัน (limiter) และยังควบคุมไดนามิกของเสียงได้อย่างสม่ำเสมอ
จูนด้วย FIR-X ฟิลเตอร์ ช่วยให้ตอบสนองเฟสแม่นยำขึ้น
นอกจากนี้ มีการตรวจสอบ ตั้งแต่ขั้นตอนจำลองผล โดยการทดสอบการทำงานของตู้และดอกลำโพง รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ระดับความดังสูงสุด แต่ยังคงให้โทนเสียงคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียกได้ว่าทาง Yamaha พยายามผนวกจุดแข็งภาคแอนาลอกและเทคโนโลยีอคูสติกให้ลงตัวที่สุด
Yamaha DXR mkII ประมวลผลด้วย DSP 48-Bit
ตู้ลำโพงฟูลเร้นจ์ทุกรุ่นของ DXR mkII Series จะถูกจูนด้วย FIR-X tuningTM เพื่อให้เกิดลิเนียร์เฟสที่เหมาะสม สำหรับ FIR ฟิลเตอร์นั้นจะใช้ในครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก เพื่อช่วยให้การตอบสนองความถี่และเฟสให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการปรับจูนเรื่อง time alignment ของดอกลำโพงเสียงทุ้มและเสียงแหลมอีกด้วย
ประมวลผลด้วย DSP 48-bit
ผลลัพธ์จะช่วยให้เกิดการตอบสนองของเสียงได้ราบรื่นขึ้น สรุปง่ายๆ คือจะทำให้ได้เสียงที่ชัดเจนขึ้น มีมิติมากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง ภาคครอสโอเวอร์ของ DXR mkII มีความแตกต่างกับระบบครอสโอเวอร์ทั่วไป รวมถึงสัญญาณทั้งหมดจะถูกประมวลผลด้วยภาค DSP ที่ระดับความละเอียด 48-Bit โดยใช้โพรเซสเซอร์ประสิทธิภาพสูง ช่วยให้เสียงที่มีคุณภาพระดับไฮเอ็นด์ ส่วนภาค A/D และ D/A มีความละเอียด 24-Bit ซึ่งทำให้ได้อัตราส่วนของไดนามิกเร้นจ์เสียงที่ดี
D-CONTOUR
เป็นจุดเด่นสำคัญของตู้ลำโพง Yamaha คือออกแบบให้ผู้ใช้ทำงานง่าย ติดตั้งใช้งานได้รวดเร็ว ลูกเล่นนี้อยู่ในลำโพง DXR Series โดย D-CONTOUR มีไว้ทำหน้าที่จูนเสียง ให้เหมาะกับรูปแบบการติดตั้งของผู้ใช้ โดยจะทำงาน 2 โหมดที่ต่างกันคือ หากต้องการเซตให้ตู้ DXR ทำงานในลักษณะเป็นตู้หลัก (FOH/Main) หรือ MONITOR เพียงแค่ปรับสวิตซ์ที่ด้านหลังตู้
จากนั้นระบบจะทำงานปรับแต่งภายในให้ผู้ใช้โดยอัตโนมัติ ซึ่งลักษณะการทำงานของโหมด FOH/Main จะตอบสนองความถี่เสียงต่างกับโหมด MONITOR เช่น หากเลือกโหมด FOH/Main ระบบจะเพิ่มความถี่ต่ำมากขึ้น ทำให้ระบบได้เสียงทุ้มมากกว่าปกติ
D-Contour ใช้ได้ทั้ง FOH/MAIN Mode, MONITOR mode
กรณีใช้โหมด MONITOR ระบบจะลดเสียงความถี่ต่ำลงจากค่าปกติ โดยทุกโหมดจะยังรักษาความชัดเจนของเสียงเอาไว้ แม้ว่าจะมีการเพิ่มหรือลดความถี่ต่ำก็ตาม ซึ่งในกระบวนการภายในของระบบนั้น ทาง Yamaha ได้จัดการด้วยเอฟเฟ็กต์คอมเพรสเซอร์และปรับแต่ง EQ มาแล้ว ด้วยการทดสอบของซาวด์เอ็นจิเนียร์ แต่ทั้งนี้ผู้ใช้งานอาจปรับแต่งเสียงเพิ่มเติมได้ตามที่ต้องการได้เช่นกัน
วงจรป้องกันระบบ
ไม่ว่าจะเป็น DZR, DXR mkII, DBR และ DXS series จะมีวงจรป้องกันความเสียหายให้ครบถ้วน หากสำรวจในตลาด ตู้ลำโพงที่มีภาคขยายในตัว ถ้าออกแบบมาดี โรงงานจะปรับแต่งภาคขยายและดอกลำโพงให้เข้ากันมากที่สุด ตรงกันข้าม ลำโพงที่ไม่มีภาคขยายในตัว เราจะต้องใช้เครื่องขยายเสียงและโพรเซสเซอร์แยกต่างหาก จากนั้น ผู้ใช้ต้องปรับจูนอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทำงานร่วมกัน
มีระบบป้องกันภายในเต็มพิกัด
แต่ปัญหาสำคัญคือ ถ้าผู้ใช้ไม่มีความเชี่ยวชาญในระบบเสียง จะถือว่าเป็นการทำงานที่น่ากลัว เพราะระบบเสียงอาจเกิดความเสียหายในระหว่างใช้งานได้ตลอดเวลา ดังนั้น Yamaha จึงออกแบบตู้ลำโพงให้ใช้งานง่าย ติดตั้งได้แทบทุกสถานการณ์ มีระบบป้องกันความเสียหาย มีไฟ LED แจ้งสถานะการทำงานของระบบทั้งหน้าตู้และด้านหลังตู้ ซึ่งภายในมีการออกแบบระบบป้องกันไว้อย่างรัดกุม ทั้งป้องกันของภาคจ่ายไฟ และภาคขยายเสียง
วงจรภาคขยายแบบ Class-D
ภาคขยาย 1100 วัตต์ Class-D แบบสวิตชิ่ง
ลำโพง DXR12 และ DXR15 mkII มีวงจรขยายเสียงให้กำลัง 1100 วัตต์ ซึ่งได้ออกแบบให้เข้ากันกับดอกลำโพงที่อยู่ภายในตู้ ทั้งดอกขับเสียงแหลมและเสียงทุ้ม สามารถให้ความดังสูงถึง 134dB SPL ซึ่งถือว่าสูงกว่าลำโพงหลายรุ่นที่อยู่ในตลาดเลยทีเดียว มีการตอบสนองความถี่เสียงอย่างรวดเร็ว
ส่วนภาคจ่ายไฟเป็นสวิตชิ่ง ช่วยให้ตู้ลำโพงมีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก หากพิจารณาด้านประสิทธิภาพแล้ว วงจรขยายแบบ Class-D นั้น ถือว่ามีแต้มต่อในเรื่องนี้
Yamaha DXR mkII มาพร้อมมิกเซอร์ 3 แชนเนล
DXR mkII นอกจากจะมีภาคขยายในตัวแล้ว ยังมีวงจรมิกเซอร์จำนวน 3 แชนเนลมาให้อีกด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกได้พร้อมกัน 3 ชิ้น ผ่านขั้วต่อทั้งแบบ XLR, Line ปกติ และ RCA L/R แชนเนล 1 สามารถต่อได้ทั้งสัญญาณจากไมโครโฟนและ LINE มีลูกบิดควบคุมระดับสัญญาณขาเข้า และสวิตซ์เลือกชนิดสัญญาณ MIC/LINE ด้านล่างมีช่อง THRU ไว้ต่อพ่วงไปลำโพงใบอื่น โดยสัญญาณของช่องนี้จะผ่านออกไปโดยไม่ผ่านภาคเอฟเฟ็กต์ใดๆ อาจจำเป็นในกรณีต้องการต่อขนานระบบ
รองรับการเชื่อมต่อด้วยมิกเซอร์ 3 แชนเนล
ส่วนด้านล่างสุดมีช่อง LINK OUT มีไว้เชื่อมต่อกับตู้ลำโพง DXR mkII ใบอื่น ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกการลิงค์เป็นโหมด MONO/STEREO ได้ตามลักษณะการใช้งาน ส่วนด้านข้างจะเป็นชุด DSP มีสวิตซ์ D-CONTOUR สามารถเลือกโหมด FOH/MAIN, OFF, MONITOR และ HPF ในกรณีใช้ติดตั้งร่วมกับตู้ซับเบส สามารถตัดความถี่ได้ 2 ความถี่ คือ 100Hz และ 120Hz
ด้านบนสุดจะเป็นไฟ LED จะแสดงสถานะการทำงานของตู้ลำโพง LIMIT บอกสถานะการทำงานของลิมิเตอร์ SIGNAL บอกสถานะการทำงานของสัญญาณที่ป้อนเข้าไป PROTECTION บอกสถานะวงจรป้องกันทำงาน ซึ่งระบบจะ Mute เสียง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อภาคขยายทำงานหนักเกินไป มีไฟ DC ออกไปลำโพง กระแสเกิน และตอนเปิดสวิตซ์ใช้งานตู้ลำโพงครั้งแรกหรือตอนปิดลำโพง และ POWER บอกสถานะการทำงานของตู้ลำโพง
DXR mkII โฉมใหม่ vs DXR รุ่นเก่า
หลายท่านคงสงสัยว่า Yamaha DXR รุ่นเก่าและรุ่นใหม่ต่างกันยังไง ถ้าพิจารณาตามสเป็กโรงงาน จะต่างกับรุ่นเก่าไม่มากนัก ในรุ่น DXR15, 12 เมื่อเทียบกับรุ่นใหม่ รุ่นเก่าจะให้ความดัง 133dB SPL ส่วนรุ่นใหม่จะให้ความดัง 134dB SPL แม่เหล็กเสียงแหลมรุ่นเก่าเป็นแบบ Ferrite ส่วนแม่เหล็กของลำโพงรุ่นล่าสุดเป็นนีโอไดเมียม
มุมกระจายที่ให้มิติเสียงกว้างขึ้น พร้อมอัพเกรดไดรเวอร์ HF ใหม่
สำหรับรุ่น 10 นิ้วกับ 8 นิ้ว รุ่นเก่าให้ความดัง 131dB SPL และ 129dB SPL ส่วนรุ่นใหม่นั้นจะให้ความดัง 132dB SPL และ 130dB SPL ส่วนสเป็กอื่นๆ เหมือนกัน เรื่องคุณภาพเสียงระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต้องลองไปฟังด้วยตัวเอง
ทดสอบฟังเสียง Yamaha DXR mkII
Reverb Time ได้เข้าไปทดสอบฟังเสียง DXR12 mkII ที่บริษัทสยามดนตรียามาฮ่า เป็นตู้ขนาด 12 นิ้ว เมื่อแกะกล่องแล้วจะพบคู่มือ สายไฟ AC และตัวตู้ลำโพง จากนั้นได้เชื่อมต่อสายสัญญาณต่างๆ เพื่อฟังเสียง เพลงแรกที่ใช้ทดสอบเป็นเพลงคลาสสิค เพราะต้องการเช็คไดนามิกเร้นจ์ของตู้ลำโพงว่าตอบสนองความถี่ได้กว้างแค่ไหน ผลคือตอบสนองได้ยอดเยี่ยมทีเดียว ฟังแล้วเหมือนมีวงออเคสตร้ามาเล่นอยู่ตรงนั้น
ด้านความถี่ต่ำวัดด้วย App มือถือได้ต่ำถึง 49Hz โดยที่ไม่ได้ดูสเป็คเลยว่า ทางโรงงานระบุไว้เท่าไหร่ ภายหลังจึงรู้ว่า 52Hz-20kHz เรียกว่าสเป็กของโรงงานนั้นเชื่อถือได้ รุ่นนี้ทำความดังได้สูงสุด 134dB SPL ซึ่งเท่ากันกับรุ่น 15 นิ้ว
หลังจากนั้นได้ลองกับดนตรีที่เป็นเพลงกีตาร์ฮีโร่ เสียงกีตาร์ไฟฟ้าพุ่งออกมาอย่างน่าทึ่ง เสียงกลางคมชัด ได้เบสที่อิ่ม แม้จะไม่มีตู้ซับก็ตาม จากนั้นได้ลองแนวแจ็ซ เสียงดนตรีมีความสดมากๆ รวมถึงทดสอบกับแทร็กที่เป็นการเล่นกลองสดๆ เสียงเบสกระแทกดี แต่ประทับใจที่สุดคือเสียงกลาง เสียงกลอง Snare ชัดมาก จากนั้นได้เดินผ่านตู้ เพื่อเช็คมุมกระจายเสียง ก็พบว่าเสียงไม่วูบ ความดังของเสียงมุม On-Axis และ Off-Axis ฟังแล้วแทบไม่ต่างกัน คงเพราะตู้ออกแบบมุมกระจายเสียงได้ดี
ข้อมูลทางเทคนิคของ DXR12 mkII
- 2-Way Active Loudspeaker
- 1100W Class-D
- 48Bit DSP
- 1.75 นิ้ว คอมเพรสชันไดรเวอร์
- 134dB SPL
- FIR-X tuning
- Mic&Line Mixer Onboard
- DSP ป้องกันระบบความเสียหาย
- D-Contour
- ติดตั้งบนเสาได้
- ดอกลำโพงใช้วัสดุประกอบคัดเกรดพรีเมียม
- ใช้เป็น Main PA / Monitor ได้
- น้ำหนักเบา (18kg.)
ติดตั้งบนผนังหรือเพดานได้หลายรูปแบบ
รองรับ Symmetrical Enclosure เฉพาะ DXR15 และ DXR12 mkII
ตู้ลำโพงสามารถปรับมุมก้มและมุมปกติบนเสาได้
DXR mkII Series เข้ากันได้ดีกับตู้ซับวูเฟอร์ DXS Series
บทสรุปของ Yamaha DXR mkII
มีบางท่านบอกว่ายามาฮ่าเป็นตู้ลำโพงที่ขึ้นห้างได้ หมายความว่า ซื้อไปแล้วรับงานอีเว้นต์ในห้างได้ เพราะคุณภาพเสียงเป็นที่ยอมรับ หรือจะนำไปติดตั้งในบริษัท โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่บริการต่างๆ ได้หมด
อย่างไรก็ดี Series ใหม่นี้ไม่ได้เปลี่ยนโฉมแบบพลิกเทคโนโลยี ดังนั้น หากใครมี DXR รุ่นเก่า ยังสามารถซื้อรุ่นใหม่ไปเพิ่มได้ ไม่จำเป็นต้องขายรุ่นเก่าออก หากใครยังไม่มีตู้ลำโพง Series นี้ ลองหาโอกาสไปฟังเสียงที่ตัวแทนใกล้บ้านได้ทั่วประเทศ
DXR mkII ผลิตออกมา 4 รุ่นคือ DXR15mkII, DXR12mkII, DXR10mkII และ DXR8mkII ทุกรุ่นมีสเป็กส่วนใหญ่เหมือนกัน ต่างกันที่ ในรุ่น DXR10mkII และ DXR8mkII จะให้ความดังที่ 132dB SPL และ 130dB SPL ทั้งนี้ ท่านสามารถเลือกแต่ละรุ่นตามความเหมาะสม
1 เชิงอรรถ: time alignment – ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคของตู้ลำโพงและลักษณะตัวดอกลำโพง รวมถึงผลของการใช้ครอสโอเวอร์ ทำให้เกิดปัญหาด้านเวลาของความถี่เสียง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับย่านความถี่ต่ำ กล่าวคือเฟสเสียงย่านความถี่ต่ำและสูงนั้น จะเดินทางมาถึงหูคนเราไม่พร้อมกัน ดังนั้น การทำ time alignment สามารถแก้ปัญหาให้เฟสของความถี่ต่างๆ อยู่ในระนาบเดียวกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง :
Review | Yamaha VXL Series ลำโพงไลน์อาร์เรย์
Review | ลำโพง Yamaha STAGEPAS 1K
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด
เพจ Yamaha Pro Audio Thailand
โทร. (02) 215-2626-39