เราเลือก Yamaha CL5 โดยมีสเตจบ็อกซ์ขนาด 32 แชนแนล รุ่น Yamaha Rio3224-D จำนวน 2 ตัว เชื่อมต่อด้วยระบบ Dante เน็ตเวิร์ก
ธีระชัย สิริล้อสกุลเพชร
ศาลาดนตรีสุริยเทพ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ติดกับวิทยาลัยดนตรีบริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัย ที่นี่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ที่แสดงศิลป์ยุคใหม่และศิลปะการแสดงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น คอนเสิร์ต งานวิวาห์ ละครเวที งานสัมมนา และอีเว้นท์ต่างๆ (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://musicsala.rsu.ac.th/)
ศาลาดนตรีสุริยเทพ ณ. มหาวิทยาลัยรังสิต
จุดเด่นของฮอลล์นี้คือมีการออกแบบระบบอะคูสติกเสียงที่ดี มีให้เลือกใช้หลายโหมด รวมทั้งยังมีระบบเสียงที่ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย
จากผลงานที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมหลายรายการ อาทิ
- งานปฐมนิเทศนักศึกษา
- พิธีมอบประกาศนียบัตรฯ
- ฟรีคอนเสิร์ตการกุศล
- คอนเสิร์ต Royal Birthday Celebration Concerts
- คอนเสิร์ตการแสดงดนตรีของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ และอื่นๆ อีกมากมาย
อ.ธีระชัย สิริล้อสกุลเพชร หัวหน้าฝ่ายเทคนิคสำนักงานบริหารศาลาดนตรีสุริยเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต
Reverb Time มีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์พูดคุยกับ อ.ธีระชัย สิริล้อสกุลเพชร ผู้ทำหน้าที่เป็น FOH Engineer ประจำศาลาดนตรีสุริยเทพ โดยบทความชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอให้ผู้อ่านเข้าถึงการจัดการระบบเสียงในภาพรวม และอุปกรณ์สำคัญที่ถูกนำมาใช้งานในฮอลล์แห่งนี้
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
การออกแบบอะคูสติกของศาลาดนตรีสุริยเทพมีลักษณะเป็นอย่างไร
สำหรับจุดเด่นด้านอะคูสติกของศาลาดนตรีสุริยเทพนั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ 3 แบบ คือแบบที่หนึ่งจะเป็นลักษณะสะท้อนกลับ เหมาะที่จะใช้กับการแสดงสดของวงออเคสตร้า แบบที่สองจะเป็นลักษณะดิสทริบิวเตอร์ จะทำงานผสมกันระหว่างการดูดซับเสียงและการสะท้อน ส่วนใหญ่เราจะใช้กับการแสดงวง Brass ที่เป็นเครื่องเป่า แบบที่สามจะเป็นแบบ Absorb เหมาะใช้กับดนตรีแนวหนักๆ ที่ต้องการความดังเยอะๆ
งานที่ใช้ฮอลล์นี้เป็นประจำมีอะไรบ้าง
ลักษณะภายในศาลาสุริยเทพ เป็นมุมภาพจากตำแหน่ง FOH
ด้วยความที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีคณะดนตรี เราจะมีรูปแบบดนตรีแทบทุกประเภทเลย ไม่ว่าจะเป็นป๊อบ ร็อค แจ็ซ โฟล์ค อะคูสติก พวกโอเปร่าก็มีบ้าง สำหรับฮอลล์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อการแสดงวงซิมโฟนีออเคสตร้าโดยเฉพาะ รองรับวงขนาด 60-100 ผู้เล่น
การเซตอัพระบบเสียงโดยรวมของฮอลล์นี้จัดการยังไง
ฮอลล์นี้มีส่วนประกอบหนึ่งที่เรียกว่าออเคสตร้าพิท (Orchestra pit) หากมีการแสดงโอเปร่าบนเวที เราจะนำวงออเคสตร้าไปนั่งอยู่ในออเคสตร้าพิท จากนั้นเราจะเซต Miking และปรับจูนเสียงเพื่อให้เสียงนั้นสามารถได้ยินครอบคลุมทุกตำแหน่งการฟัง
อุปกรณ์สำคัญของระบบเสียงที่ใช้ในฮอลล์มีอะไรบ้าง
Yamaha CL5 ดิจิตอลคอนโซลมิกเซอร์
ในส่วนอุปกรณ์ด้านระบบเสียงตัวหลักที่ใช้ในฮอลล์เราเลือกใช้ Yamaha นั่นคือคอนโซลมิกเซอร์ Yamaha CL5 โดยมีสเตจบ็อกซ์ขนาด 32 แชนแนล รุ่น Yamaha Rio3224-D จำนวน 2 ตัว โดยติดตั้งไว้บริเวณฝั่งซ้ายและขวาของเวที เพื่อให้สะดวกต่อการเชื่อมต่อกับแหล่งสัญญาณอินพุตต่างๆ และก็ยังมีระบบ Dante เน็ตเวิร์กใช้สวิตซ์ของ Cisco เพื่อช่วยให้ส่งสัญญาณไปมาได้อย่างเสถียร
ชอบฟังก์ชันไหนของ Yamaha CL5 มากที่สุด
โดยส่วนตัวชอบหลายฟังก์ชันเลย อย่างเช่นฟังก์ชัน Virtual Rack ซึ่งใช้ Insert เอฟเฟ็กต์เข้ามา อีกฟังก์ชันที่ผมคิดว่ามันมีประโยชน์มากเลยคือ Dan Dugan Automixer จำเป็นมากต่องานแสดงละครเวที ซึ่ง CL5 ได้ให้มาหลายแชนแนล และยังชอบ Multi-band Compressor, Dynamic Compressor จำเป็นอย่างมากกับงานที่มีนักร้อง หรือวงดนตรีที่ใช้จำนวนแชนแนลเยอะๆ
ที่ผ่านมาใช้งาน Yamaha CL5 สเกลใหญ่แค่ไหน
ผมเคยใช้งานตั้งแต่ระดับหนึ่งแชนแนลไปจนถึงงานระดับ 72 แชนแนลเลย ทั้งแชนแนลปกติ และแชนแนล AUX ใช้เต็มหมดเลย ซึ่งงานที่ใช้แชนแนลเยอะๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่มีวงออเคสตร้ามาเล่น เช่น งานปฐมนิเทศนักศึกษา การจัดการระบบเสียงก็จะมีแชนแนลส่งออก/นำเข้ามา พวก VTR จึงทำให้ต้องใช้คอนโซลครบทุกแชนแนล
ทำไมจึงเลือกมิกเซอร์ Yamaha
ผมว่าข้อดีของมิกเซอร์ Yamaha คือเขาผลิตออกมาเป็นฮาร์ดแวร์ จึงทำให้ในระหว่างการใช้งานเราไม่ต้องกังวลอะไรมาก อย่างเช่น เปิด/ปิดเมื่อไหร่ก็ใช้งานได้ทันที อีกอย่าง Yamaha คุณภาพเสียงก็ดี และยังเป็นมิกเซอร์ที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดี
เคยใช้มิกเซอร์ Yamaha มากี่รุ่น
ถ้าเป็นดิจิตอลมิกเซอร์ ใช้มาตั้งแต่รุ่น LS9 ถัดจากนั้นก็เคยใช้มาทุกรุ่น ระดับ PM Series ก็เคยใช้ ส่วนอะนาล็อคมิกเซอร์ก็ใช้เกือบทุกรุ่นเหมือนกัน ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีฟีเจอร์ต่างกัน ถ้าเทียบภาคไมค์ปรีแล้ว ในรุ่นแรกๆ จะให้คุณภาพเสียงดีอยู่แล้ว เพียงแต่ในรุ่นหลังๆ เขาพัฒนาคุณภาพเสียงให้คล้ายอะนาล็อคมากขึ้น เช่นให้โทนเสียงที่หนาขึ้น ดิจิตอลมิกเซอร์รุ่นแรกๆ อาจจะใช้งานในลักษณะทัชสกรีนไม่ได้ แต่รุ่นหลังๆ ได้มีการพัฒนาให้ใช้งานแบบทัชสกรีน ช่วยให้เราทำงานสะดวกสบายยิ่งขึ้น
แหล่งจ่ายไฟของ CL5
ในฮอลล์นี้บริหารจัดการสัญญาณร่วมกับ Stage Box อย่างไร
ฮอลล์นี้จะมีสเตจบ็อกซ์ 2 ข้าง เราส่งสัญญาณจาก CL5 เป็นเมทริกซ์ทั้ง 2 ข้างเลย เราแบ่งเป็น Subgroup, Front filed, Side filed และ Main PA 2 ข้าง โดยทั้งหมดส่งเป็นเมทริกซ์ เราใช้ LAN ทั้ง Primary และ Secondary ก็คือเราจะต่อสัญญาณผ่านสวิตซ์ Cisco ทั้งหมด 4 ตัว แบ่งเป็น Primary 2 ตัว และ Secondary 2 ตัว
ในฐานะที่เป็นผู้ใช้ Yamaha มาหลายรุ่น มีอะไรอยากแนะนำผู้ที่อยากใช้มิกเซอร์แบรนด์นี้ไหม
สำหรับผู้ที่สนใจ ทาง Yamaha มีมิกเซอร์ให้เลือกหลายรุ่น จะเห็นว่ามีตั้งแต่รุ่นเล็กระดับเริ่มต้นไปจนถึงรุ่นใหญ่ๆ เราก็เลือกตามความเหมาะสม ตามงบประมาณของบริษัท หรือสเกลงานที่จะใช้ รับรองว่ามิกเซอร์ Yamaha มีข้อดีมากมาย ใช้งานง่าย ซึ่งคิดว่าคนส่วนใหญ่รู้จักอยู่แล้ว
ขอขอบคุณบริษัทสยามดนตรี ยามาฮ่า จำกัด ที่ประสานงานให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ในครั้งนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เจาะระบบเสียง Yamaha ร้าน Cafe Amazon
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด
เพจ Yamaha Pro Audio Thailand
โทร. (02) 215-2626-39