Audioversity ก้าวใหม่ของการศึกษาด้านเสียงในไทย

DSC 0127 1200

จาก YCATS สู่ Y-DACC ล่าสุดคือ Audioversity แหล่งเรียนรู้ของผู้สนใจเรื่องเสียง

หากกล่าวถึงกิจกรรมด้านการศึกษา บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเจ้าแรกๆ ของไทย ซึ่งได้เป็นผู้ริเริ่มจัดงานอบรมสัมมนาในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและนอกสถานที่มายาวนาน จนทำให้หลายปีมานี้วงการเครื่องเสียงไทยมีกระแสการจัดอบรมเกิดขึ้นกันอย่างแพร่หลาย

วันนี้ “Audioversity” คือตราสัญลักษณ์ใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ในวงการเครื่องเสียงในบ้านเราอย่างจริงจัง เพื่อสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับผู้สนใจ โดยมียามาฮ่าประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้วางรากฐานในการฝึกอบรม

นิตยสาร Reverb Time ได้สัมภาษณ์ อ.เอ็กซ์ ประพิชญ์ ชมชื่น ผู้ดูแล Audioversity ในไทย จะมาเล่าเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน..

Audioversity resized
Logo ของ Audioversity ประกอบด้วยเส้นโค้งขึ้นลงคล้ายกับคลื่นไซน์เวฟ บ่งบอกว่าที่นี่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเสียง

เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน

Audioversity มีที่มายังไง

Audioversity เห็นชื่อ “Audio” เรารู้เลยว่ามันต้องเกี่ยวกับเรื่องเสียงแน่นอนบวกกับคำว่า “University” นั่นแปลว่าเราพยายามจะสื่อถึงเรื่องเอ็ดดูเคชั่น ดังนั้น ที่นี่เรามองเรื่องการศึกษาเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องรอง เราให้ความสำคัญกับการศึกษาในระยะยาว ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของเราคือ YCATS (Yamaha Commercial Audio Training Seminars) ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว

ตอนนั้นเขาต้องการเทรนนิ่งเฉพาะกลุ่ม Pro Audio เป็นหลัก นั่นคือจะมีสินค้ากลุ่มคอนโซลมิกเซอร์ทั้งหลาย ที่มันใช้งานไม่ง่ายนัก ต้องมีการเซตอัพ มีเรื่อง Know-how ค่อนข้างสูงกว่าปกติ นั่นเป็นที่มาของการจัดอบรมเกี่ยวกับโปรดักซ์ในกลุ่มนี้ ทีนี้มันต้องมีเนื้อหามาซับพอร์ต คงไม่ใช่มีแค่เรื่องคอนโซลอย่างเดียว มันมีเรื่องของเน็ตเวิร์กเบื้องต้น รวมถึงอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมต้องมี YCATS ในช่วงแรก

จากนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อครั้งที่ 1 มาเป็น Y-DACC เมื่อประมาณปี 2013 เวลาผ่านไป 5-6 ปี เขาต้องการกระตุ้นตลาดอีกครั้งหนึ่ง อยากรีเฟรชในด้านการศึกษาที่ชัดเจนขึ้น เพราะคนอาจมองว่า Y-DACC เป็นโชว์รูม เป็นการโชว์สินค้าเป็นหลัก ตรงนี้มันยังมีความคาบเกี่ยวกันอยู่ เพราะแยกระหว่างการศึกษากับการค้าไม่ออก หรือบางทีอาจมองว่าเป็น Technical Support ก็ไม่ตรงซะทีเดียว

เพราะฉะนั้น เขาต้องการแยกการศึกษาออกไปให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้คนได้ความรู้เต็มที่ จึงมีการรีแบรนด์ใหม่เป็น Audioversity ซึ่งเป็นชื่อล่าสุดตามแผนงานที่ถูกวางไว้ ทำให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายกว่าเดิม ผู้เรียนอาจจะไม่ใช่แค่การมานั่งเรียนเฉยๆ เขาอาจต้องการมีส่วนร่วมในการสัมมนา ทุกคนมาจอยกัน ตอนนี้ทางญี่ปุ่นพยายามผลักดันให้ทุกๆ ประเทศมี webinars ควบคู่ไปด้วย

DSC 0126
Audioversity : ภายในห้องเรียนของ Audioversity จัดวางโต๊ะเก้าอี้ในลักษณะตัว U มีจอภาพขนาดใหญ่ติดอยู่ผนังห้อง เพื่อแสดงภาพวิดีโอและสื่อการสอนต่างๆ

อยากให้ขยายความว่าการมาจอยกันหมายถึงอะไร

ปกติเวลาเรามาเข้าคลาสเรียน เราจะต้องลงทะเบียนผ่านทางอีเมล์ ผ่านเว็บไซต์ หรือทาง Facebook มีการ inbox เข้ามาเพื่อสมัครเรียน เราก็จะเลือกวันเวลาที่เราสะดวก นั่นคือการเรียนตามรูปแบบปกติ ซึ่งปกติเราก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ทีนี้มันจะมีกลุ่มผู้ใช้งาน หรือผู้เรียนบางกลุ่มซึ่งมักจะเป็นกลุ่มใหญ่เลย คือเวลาว่างของเขามักจะไม่ตรงกับเวลาที่เราสอนนี่คือปัญหาหลัก ไม่มีเวลาว่างพอที่จะมาจอยกับเราได้ ซึ่งก็เป็นการเสียโอกาส ปกติเวลาที่เราสอนคือเวลาบ่ายโมงครึ่งถึงสี่โมงหรือห้าโมงเย็น

หากเป็นนักเรียนก็อาจจะติดเรียน หากเป็นคนทำงานก็ยังทำงาน อาจมีการลางานมาเรียน ตรงนี้มันจะเกิดความไม่สะดวกแก่ผู้อยากเรียน หรือบางคนทำงานในธุรกิจนี้ อาจจะยังไม่ตื่น มาไม่ทัน มาไม่ได้ แต่เขายังอยากเรียน ก็เลยเสนอให้ทำเป็น webinars สามารถดูย้อนหลังได้ ถามว่าทำไมต้องมีคอนเท้นต์ประเภทออฟไลน์ ปัจจุบันเราใช้ Facebook เป็นช่องทางเชื่อมตรงนี้ได้ง่ายขึ้น นั่นหมายถึงคนสามารถมาดูย้อนหลัง มากด Like, Comment หรือ Share ได้ ทุกอย่างฟรี! ไม่มีเรื่องการค้า สบายใจได้

รูปแบบการเรียนการสอนเป็นคอร์สหลักสูตรอะไร

เรื่องนี้มีคนสอบถามเข้ามาเยอะเหมือนกัน สำหรับคอร์สที่สอนจะมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่สายเคเบิลเส้นแรกเลย เรื่องไมโครโฟน เรื่องของลำโพง พื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ไปจนกระทั่งเรื่องเน็ตเวิร์กที่ซับซ้อน หรืออุปกรณ์ติดตั้งในอาคารขนาดใหญ่ พวกนี้ต้องใช้ทักษะความรู้ค่อนข้างเยอะกว่าปกติ ดังนั้นเนื้อหาที่อบรมนั้นจะครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐาน ไปจนถึงโปรดักซ์บางตัว แต่เราจะไม่ได้เน้นไปที่ตัวโปรดักซ์มากนัก แต่จะเน้นวิธีการคิด การออกแบบมากกว่า เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ไปต่อยอด ไปใช้งานกับสิ่งที่เขามีอยู่ หรือจะออกแบบกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่เขาสนใจก็ได้

แสดงว่า Audioversity วางหลักสูตรไว้กว้างๆ

เราไม่ได้เจาะจงไปที่โปรดักซ์ตัวใดตัวหนึ่ง แต่อาจจะมีการยกตัวอย่างโปรดักซ์ของ Yamaha เราโฟกัสในด้านแนวคิดมากกว่า ซึ่งผมจะเป็นผู้บรรยาย เรามีคอนเท้นต์เหล่านี้เตรียมไว้เรียบร้อย โปรแกรมการเรียนจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนไปถึงมีนาคมปี 2020 เลย

DSC 0090 crop
อ.เอ็กซ์ ประพิชญ์ ชมชื่น ผู้ทำหน้าที่บรรยายเนื้อหาคอร์สต่างๆ ของ Audioversity

ทราบเรื่องตั้งแต่เมื่อไหร่ ว่าจะถูกรีแบรนด์มาเป็น Audioversity

จริงๆ มันอยู่ในแผนงานของยามาฮ่าประเทศญี่ปุ่น เขาได้วางแผนล่วงหน้าไว้ 2-3 ปีแล้ว แต่แผนงานยังไม่ได้เป็นรูปธรรม เพิ่งมีความชัดเจนเมื่อปลายปีที่แล้ว ประมาณตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2018 มีการออกวิดีโอแคมเปญ Audioversity ใน YouTube ในโซเชียลให้คนเริ่มแชร์ว่ามันคืออะไร มีความยาวสั้นๆ แค่ประมาณ 30 วินาที ให้คนเริ่มตื่นตัวว่ามีรูปแบบใหม่มาแล้วนะ จากนั้นทางเราก็ได้เริ่มทำตามแผนของยามาฮ่าญี่ปุ่น ผมเองได้ไปประชุมที่ญี่ปุ่นเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับนโยบายมามีความชัดเจนขึ้น ว่าเราจะไปในทิศทางใด

การรีโนเวทสถานที่บนชั้น 3 เริ่มทำเมื่อไหร่

เนื่องจากเรารู้แผนงานล่วงหน้ามา 2-3 ปี แล้ว เราจึงเตรียมรีโนเวทสถานที่ตรงนี้ไว้รอเลย ทันทีที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการ เราสามารถใช้ห้องใหม่ได้เลย เราใช้เวลาปรับปรุงสถานที่ประมาณ 4 เดือน

เนื้อหาเก่าที่ใช้อบรมใน Y-DACC ยังมีอยู่

เนื้อหาเก่าๆ ที่เราใช้อบรมยังมีอยู่ครบ คอร์สที่เราประกาศออกไปแล้ว ก็อยู่ในส่วนของ Audioversity หากต้องการเรียนรู้เนื้อหาอื่นๆ ก็สามารถร้องขอเข้ามาได้ หากสนใจในบางเรื่อง อยากให้เราช่วยสามารถส่งเรื่องมาได้เลย ทั้งทาง Facebook โดยการ inbox เข้ามาที่เพจ Yamaha Pro Audio Thailand หรืออีเมล์ก็ได้เรายังเปิดกว้าง เพราะเราคือศูนย์การเรียนรู้

ทำไมจึงนำคอร์สเดิมมาสอนหลายๆ รอบ

อันนี้เราดูจากสถิติเก่าๆ อย่างเช่นเรื่องพื้นฐานด้านระบบเสียง ปกติเราจะเซตไว้ปีละหนึ่งครั้ง แต่มันก็จะมีคนที่ตกรอบเสมอ มักมีคำถามเข้ามา “พี่จะเปิดอีกทีเมื่อไหร่” เราเองก็อยากเปิดสอนนะ แต่ด้วยคิวไม่ว่าง เรื่องเวลาไม่ได้ เราจึงมองว่า ในเมื่อคอร์สเหล่านี้มีคนสนใจตลอดทั้งปีอยู่แล้ว จะเป็นหน้าใหม่หน้าเก่า บางคนมาเรียนซ้ำก็มี..

แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดิม แต่ผมในฐานะผู้บรรยายจะไม่พูดเหมือนเดิม ผมสามารถเปลี่ยนตัวอย่างไปได้เรื่อยๆ แม้จะเป็นหัวข้อเดิม จะเป็นเพาเวอร์พ้อยต์หน้าเดิม แต่เนื้อหาที่ผมจะพูด มันอาจจะไม่เหมือนเดิม มั่นใจได้ว่ามันจะใหม่สดทุกครั้ง อาจจะไม่หวือหวา แต่คาดว่าจะดึงคนมาฟังได้อย่างต่อเนื่อง เรามีตัวอย่างให้ทดลองได้หลายแบบมาก เผลอๆ ในเรื่องเดิมในรอบต่อๆ ไปอาจจะมีเรื่องที่น่าสนใจกว่าเดิมก็ได้

อย่างเรื่อง Basic Sound ผมก็เปิดไตรมาสละครั้งไปเลย คือสามเดือนต่อหนึ่งครั้ง หนึ่งปีมีสี่รอบ มั่นใจว่าน่าจะครอบคลุมความต้องการของผู้เรียนได้ ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีแรกของวิธีคิดแนวนี้ ปีที่แล้วถือว่าเป็นแนวที่เราทำแปลกออกไป แต่ทำในนาม Y-DACC

53617085 2488769034478916 4101357768093466624 n
ตารางสอนของ Audioversity ปี 2019-2020 มีหลายคอร์สที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สยอดนิยมอย่าง Beginners to PA System, Analog vs Digital Mixer หรือจะเป็น Dante for Sound Network, Mixing for Live Space, Cubase Pro Modern Music และ MTX3 Seminar

Audioversity มีแผนจะไปอบรมนอกสถานที่หรือไม่

การไปอบรมสัมมนานอกสถานที่นั้น เราจะเรียกว่าการทำคลินิก จะไม่เรียกว่า Audioversity คือเราจะแยกส่วนออกจากกัน หรือกิจกรรมงานเสวนาอื่นๆ ที่ทำนอกสถานที่ แต่คอนเท้นต์ก็จะมาจากผมนี่แหละ ซึ่งเราช่วยกันทำงาน เพราะว่าตรงนั้นจะเกี่ยวข้องกับการขายโดยตรง คือจะเป็นทีม Technical Support ของ Pre-Sale มันจะเน้นไปที่ฟีเจอร์ของสินค้าโดยตรง ถ้าทำที่สำนักงานก็จะเป็นเรื่องการศึกษาล้วนๆ หากเป็นนอกสถานที่ก็แล้วแต่ตัวสินค้า ว่าจะเน้นสินค้าตัวไหนไปขายในช่วงนั้นๆ แนะนำว่าหากสนใจก็มาเรียนที่นี่ หรือถ้าไม่สะดวกก็ดูผ่านทาง Facebook ได้

ผู้ที่มาเรียน Audioversity จะได้รับใบประกาศเหมือน Y-DACC ไหม

ได้รับครับ เราจะออกเป็นใบ Certificate ให้ ตอนนี้มีมาลงทะเบียนประมาณ 10 กว่าคนแล้ว

โปรแกรมการเรียนปีนี้เป็นอย่างไร

คอร์สที่สอนปีนี้อาจจะไม่หนาแน่นเหมือนปีที่แล้ว ทั้งหมดประมาณ 10 กว่าครั้ง รวมทุกเรื่องแล้วนะครับ โปรแกรมบางช่วงอาจจะแน่น คือเราดูตามฤดูกาลของธุรกิจด้วย แต่วันเวลาเราได้ระบุฟิกซ์ไปแล้ว ว่าวันไหนเราจะสอนอะไรบ้าง เช่น Basic Live Sound มี 4 ครั้ง ผมจะวางไว้ทุกๆ ไตรมาส บางเรื่องอาจจะซ้ำเยอะหน่อย บางเรื่องอาจจะมีเพียงครั้งเดียว ปีนี้แนวคิดจะต่างออกไปครับ

ปีนี้เนื้อหาจะครอบคลุมทุกประเด็น

ใช่ครับ มีหัวข้อเกี่ยวกับ Install, Mixing, PA System, Networking และ Music and Post Production ทั้งหมดเป็นหัวข้อที่เราโฟกัสอยู่

DSC 0107
Audioversity : มุมด้านข้างได้จัดวางตู้ลำโพงสตูดิโอมอนิเเตอร์ของ Yamaha ลำโพง LD และเครื่องเล่น DJ บนผนังห้องมีไฟดัดตัวอักษรสีสรรสวยงามเขียนว่า “Yamaha Pro Audio”

Dante จะไปอยู่ในส่วนไหน

แยกออกไปเลย เพราะมันสามารถไปซับพอร์ต PA และทั้ง CIS (Commercial Installation Solution) ก็ได้ ผู้ที่สนใจทั้ง 2 เรื่องก็สามารถมาเรียนเน็ตเวิร์กได้โดยตรง

ในหลักสูตรมีการลงมือปฎิบัติไหม

มีครับ ทุกคอร์สจะมีการลงมือทำจริง จะไม่ให้นั่งดูสไลด์อย่างเดียว เราเซตไว้ว่าครึ่งแรก ประมาณสักชั่วโมงครึ่ง จะเป็นสไลด์สัก 20 หน้า จากนั้นจะเบรค แล้วมาลงมือปฎิบัติ

ใครเป็นผู้วางหลักสูตร

หลักๆ แล้วสไลด์เพาเวอร์พ้อยต์จะเป็นยามาฮ่าญี่ปุ่น (YCJ) จากนั้นผมจะนำมาปรับให้เข้ากับผู้เรียนในบ้านเรา เพื่อให้เนื้อหามันไม่ยากจนเกินไปนัก ในบางเรื่องมันอาจจะยากเกินไป เราก็ต้องมาปรับกันสักนิดนึง เรื่องที่มันมีฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ชั้นสูงเราจะตัดออกไป บางเรื่องหากเป็นเรื่องภายในมากๆ ก็ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ เราจะเน้นเบสิค สิ่งสำคัญเป้าหมายหลักเราต้องการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมมากๆ เนื้อหาจึงถือว่าไม่รุนแรงมากนัก

เมื่อเราลงทุนกับตรงนี้ คิดหรือไม่ว่าทางบริษัทจะได้อะไรกลับมา

ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการตลาดในภาพใหญ่นะ สุดท้ายแล้ว พอผู้คนเริ่มมีความรู้และเข้าใจสินค้ามากๆ เขาจะเป็นผู้เลือกสินค้าเอง ซึ่งเรามั่นใจว่าสินค้าของเราอยู่ในลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน เราจึงไม่จำเป็นต้องบังคับว่าเขาต้องซื้อสินค้าของเราก่อนแล้วค่อยมาเรียน

DSC 0091 crop
Audioversity : นี่คือตู้แร็คขนาดใหญ่ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระบบภาพและเสียงด้วย Dante เน็ตเวิร์ก สามารถใช้เป็นกรณีศึกษางาน Install และระบบเน็ตเวิร์กให้กับผู้เรียนได้

หัวข้อ Install มีการสอนเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ออกแบบหรือไม่

ผมคิดว่าจะวางตารางเสริมในช่วงสิงหาคม-กันยายนนี้ เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเราจำเป็นต้องเจาะลึกไปที่ตัวสินค้า เพราะโดยโครงสร้างเนื้อหามันบังคับมาแบบนั้น มันจึงมีชื่อสินค้าเข้าไป เพราะด้วยสถาปัตยกรรมภายในอุปกรณ์มันถูกออกแบบมาชัดเจนว่างาน Install ต้องมีอะไรบ้าง คือต้องเรียนรู้ซอฟต์แวร์โดยอ้างอิงกับฮาร์ดแวร์ของเรา เพื่อตีกรอบลงมาให้ชัดเจนขึ้น ว่าใช้งานได้จริง รวมถึงพวกเพาเวอร์แอมป์ 100V/70V Line ในโปรแกรมการสอนมีครบหมด

หัวข้อเกี่ยวกับ Mixing เป็นยังไง

เราจะเน้นไปที่ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ เราไม่เน้นว่าต้องเป็นโปรดักซ์ตัวนี้ แค่อยากให้รู้ว่าฟีเจอร์นี้มันนำไปใช้งานได้จริงหรือเปล่า สมมติ ต้องการนำไปใช้ในห้องประชุม เจอปัญหาเรื่องหวีดหอน เขาควรจะต้องใช้ Dan Dugan ไหม แล้ว Dan Dugan คืออะไร Feedback Suppressor เอาอยู่ไหม นี่คือ Know-how ที่เราอยากให้ผู้สนใจได้เข้ามาสัมผัสกัน

สำหรับมิกเซอร์ในปีนี้หลักๆ เราจะใช้ TF ซีรี่ส์ เนื่องจากมันมีแปลนของการอัพเดตซอฟต์แวร์ค่อนข้างชัดเจน แน่นอนในงานที่สเกลใหญ่ขึ้น พวกที่ใช้ Dante ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น คงต้องเป็น QL, CL ซีรี่ส์ ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ยังไม่ใช่แผนใหญ่ อาจจะมีคอร์สย่อยลงไป

หัวข้อ PA System เป็นอย่างไร

เป็นเรื่องภาพรวมที่เราอยากให้ผู้เรียนเห็นว่า ในระบบควรจะต้องมีอะไร หรือจะต้องระวังเรื่องอะไร ต้องเข้าใจในส่วนไหน มากเป็นอันดับแรก อันดับสอง-สาม ส่วนเนื้อหาลึกๆ เราจะยังไม่ไปถึงตรงนั้น แต่อาจจะมีให้เห็นกันบ้างเล็กน้อย เนื่องด้วยมันมีเวลาจำกัดนิดนึง คือเรามีเวลาแค่บ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น อย่างพวก System Design, Optimization เรายังไม่ได้ลงไปตรงนั้น

แต่จริงๆ คอนเท้นต์มันมีแล้ว แต่อาจจะติดปัญหาในเรื่องเครื่องมือ คือต้องปรับจูนกับสถานที่ที่เรามีด้วย หัวข้อพวกนี้อาจจะไปอยู่ในส่วนของคลินิก คืออาจไม่ได้มาทำในส่วนของ Audioversity โดยตรง ถ้าจะทำแบบนั้นน่าจะจัดในโรงแรม เพราะขนาดห้องที่เรามีอยู่ตอนนี้อาจจะไม่สะดวกพอที่จะทำ Facebook Live

DSC 0099
Audioversity : เมื่อมองบนเพดานห้อง นอกจากจะเห็นหลอดไฟแล้ว เราจะพบลำโพงหลากหลายชนิด ได้ติดตั้งไว้จำนวนหลายใบ มีหลายซีรี่ส์ ส่วนใหญ่เป็นลำโพงของ Yamaha

เพราะไลน์สินค้าของ Yamaha ไม่มีพวกไลน์อาร์เรย์หรือเปล่า

ก็มีส่วน เพราะสินค้า Yamaha ไม่มีลำโพงไลน์อาร์เรย์อยู่แล้ว ล่าสุดเพิ่งมีตัว VXL เป็นไลน์อาร์เรย์ แต่ก็เหมาะกับงาน Install ไม่ใช่งาน PA คอนเสิร์ตทัวริ่งโดยตรง ความซับซ้อนอาจจะไม่เหมือนกับไลน์อาร์เรย์ทั่วไป เพราะเขาออกแบบมาให้ติดตั้งง่ายกว่า

คอร์ส Cubase กับ Wavelab ยังมีอยู่ไหม

Cubase ยังมีอยู่ แต่ Wavelab ยังไม่ได้ลงไว้ เพราะ Wavelab ถือเป็นเรื่องเฉพาะเช่นกัน ก็เลยยังไม่มีตาราง สำหรับตาราง Cubase ปีนี้ลงไว้ครั้งเดียว แต่ทั้งนี้ขอดูกระแสก่อนว่ามีคนสนใจมากน้อยแค่ไหน

ทางบริษัทคาดหวังอะไรในปีแรก

ผมว่าในเชิงธุรกิจ คงมีคาดหวังอยู่บ้าง แต่เท่าที่ผมฟังๆ จากทางญี่ปุ่นเนี่ย เค้าไม่พูดถึงเรื่องขายของเลย ไม่สนใจว่าเราใช้งบเท่านี้ แล้วต้องขายของให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ตรงนั้นเป็นหน้าที่ของ Technical Support นั่นคือทีม Pre-Sale เค้าต้องไปอธิบายให้ลูกค้าทราบเองว่า ทำไมต้องเลือกใช้ Yamaha สำหรับในส่วนของ Audioversity ไม่ได้ตั้งเป้าหรือกำหนดตัวเลขมา เราเป็นการตลาดในเชิงการศึกษาล้วนๆ ครับ

DSC 0114
Audioversity : มุมนี้จัดวางสินค้า Yamaha, Steinberg มีตู้ลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ MSP ซีรี่ส์ ออดิโออินเทอร์เฟซ ซอฟต์แวร์ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด ไมโครโฟน หูฟัง ทั้งหมดคืออุปกรณ์เกี่ยวข้องกับงาน Post และ Music Production

สุดท้ายก็หวังว่า Audioversity จะเป็นสถานที่เรียนรู้แห่งใหม่ ที่จะมอบทักษะและความรู้ให้กับทุกๆ ท่าน ได้อย่างที่คาดหวังไว้ หากท่านใดสนใจ เชิญเข้าอบรมสัมมนาได้ที่ห้อง Audioversity ชั้น 3 อาคารสยามกลการ ถนนพระราม 1 BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ฟรี! ตั้งแต่เวลา 13.00 เป็นต้นไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook : Yamaha Pro Audio Thailand
Tel : 0-2215-2626-39

Mail: prapich.c@yamaha.co.th

Read Previous

NPE Electronic & Kit Fair 2019

Read Next

เปิดตัว SHURE GLX-D ADVANCED ชุดไมโครโฟนดิจิตอลไร้สาย