Shure MXA910 เป็นไมโครโฟนที่มีเทคโนโลยีสุดล้ำรุ่นหนึ่ง ครั้งนี้บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด จัดงาน “Shure Enhanced Digital Network Solution” เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2562 โดยมีการเวิร์คช็อปไมโครโฟน Shure MXA910 IntelliMix® ซึ่งงานนี้มีวิทยากรจาก Shure สิงคโปร์และทีมแอปพลิเคชันของมหาจักรฯ ร่วมบรรยายเนื้อหาในครั้งนี้
หากพิจารณาถึงโซลูชัน เวลาที่นำไมโครโฟน MXA910 ไปใช้งานในห้องลักษณะต่างๆ คำถามแรกควรมีอุปกรณ์อะไรบ้าง หากเราใช้งาน MXA910 IntelliMix® ในห้องขนาดเล็กก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตัว Shure P300 ซึ่งเราอาจจะมีเพียงแค่ไมโครโฟนก็ได้
ห้องขนาดเล็ก – ติดตั้ง MXA910 พร้อมกับ ANIUSB-MATRIX เชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ video codec แล้วใช้ DSP ผ่านตัวไมโครโฟน ซึ่งแอปพลิเคชันนี้เพียงพอต่อการใช้งาน
“Voice-Lift เป็นเทคนิคที่ช่วยเสริมความดังในบางจุดที่บอด ทำให้ผู้ฟังได้ยินเสียงราวกับว่าอยู่ใกล้ผู้พูด”
อันนี้จะเหมาะกับกรณีเราใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดิมตลอดเวลา แต่หากเป็นห้องประชุมที่มีแผนกต่างๆ ของบริษัทเข้ามาใช้งาน เขาอาจพกพาคอมพิวเตอร์มาเอง มีซอฟต์แวร์ทำคอนเฟอร์เร้นซ์เอง เครื่องหนึ่งใช้ Skype อีกเครื่องใช้ Line
ถ้ามีคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวอาจจะต้องลงซอฟต์แวร์เยอะแยะไปหมด ถ้าหากเป็นห้องส่วนกลาง ต้องให้ผู้ใช้งานนำโน้ตบุ๊คมาเอง แล้วเชื่อมต่อกล่องที่ทำหน้าที่แปลง USB ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอนเน็คเตอร์ ซาวด์การ์ด เพื่อให้สัญญาณมาเข้ากับระบบนี้ได้ นั่นคือตัว Shure ANIUSB-MATRIX
ฉะนั้นเมื่อเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ก็สามารถประชุมได้เลย โดยการเรียกซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้งาน นี่เป็นคำแนะนำที่จะช่วยให้เราใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
ห้องขนาดกลาง
กรณีเป็นห้องขนาดกลาง แนะนำให้ใช้ Shure P300 ร่วมกับระบบ แม้ว่า MXA910 จะอัพเดตเฟิร์มแวร์แล้วก็ตาม ในบางกรณียังจำเป็นต้องใช้ เช่น สิ่งที่เรานำมาฝังไว้ในอุปกรณ์มันเป็นเพียงเทคโนโลยีในการปรับเสียง แต่ตัว P300 ด้านหลังจะมีช่องสำหรับเสียบลำโพง มีช่องเสียบไมโครโฟนจากภายนอกเข้ามาเพิ่ม จะเห็นว่าลำพังตัวเฟิร์มแวร์ ไม่สามารถเพิ่มช่องการเชื่อมต่อไมโครโฟนได้ มันเป็นเพียงไมโครโฟนไม่มีออปชันที่จะให้เสียงออกลำโพง
ห้องขนาดกลาง – ใช้ MXA910 ร่วมกับ P300 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไมโครโฟน เพื่อรองรับการประมวลผลสัญญาณที่มากขึ้น อาจใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ Microsoft Skype For Business
ดังนั้นหน้าที่ของ P300 จะช่วยให้เสียงส่งไปออกลำโพงได้ 2 ช่อง แล้วต่อไมโครโฟนตัวอื่นมาเพิ่มได้อีก 2 ช่อง รวมถึงยังสามารถเชื่อมต่อกับมือถือที่ต้องการใช้งานคอนเฟอร์เร้นซ์ได้เลย เช่น เรากำลังคุยงานผ่าน Skype กับบริษัทแห่งหนึ่ง จู่ๆ บนมือถืออาจจะเป็น Line, WhatApp หรืออะไรก็ตามที่เขาต้องการเข้าร่วมสนทนาด้วย แค่เรานำมือถือนี้มาเชื่อมต่อด้านหลังเครื่อง ก็สามารถพูดคุยกับสายที่สามได้เลย
ห้องขนาดใหญ่
สำหรับห้องขนาดใหญ่จำเป็นต้องติดตั้งตัวไมโครโฟนมากขึ้นอีกหน่อย จำนวน 2-3 ตัว อาจจะเป็นห้อง Boardroom ขนาดใหญ่ เราแนะนำให้ใช้ P300 ควบคู่ไปได้วย เนื่องจากเราจะใช้ P300 รวมสัญญาณจากไมโครโฟนหลายๆ ตัวที่มีอยู่เพื่อควบคุมผ่านอุปกรณ์ตัวเดียว จุดเด่นของ P300 มันสามารถรับสัญญาณดิจิตอลได้สูงสุด 8 ช่องสัญญาณ และสัญญาณแอนาลอก 2 In/Out
ฉะนั้นหากเรามีไมโครโฟน MXA910 จำนวนหนึ่งตัว ซึ่งมันจะมี Beam 8 จุด แปลว่าเสมือนเราใช้งานไมค์ 8 ตัวหรือไม่ คำตอบคือในตัว MXA910 มันมีมิกเซอร์อยู่ ดังนั้น เรานำไมค์ทั้ง 8 ผ่านมิกเซอร์ในตัวมันก่อนแล้ว จากนั้นสัญญาณทั้ง 8 จะถูกรวมเป็นหนึ่งสัญญาณซึ่งจะส่งออกมาเพียงช่องเดียว (Automix Output) มันจะมาเข้าที่ P300 เพียงหนึ่งช่องเท่านั้นเอง
ห้องขนาดใหญ่ – ใช้ MXA910 มากกว่าหนึ่งตัว ร่วมกับ P300 กรณีต้องการใช้เทคนิค Voice-Lift ต้องใช้อุปกรณ์ DSP อย่าง Soundweb London BLU มาทำหน้าที่ช่วยจัดการไมโครโฟน
จริงๆ แล้วตัว P300 สามารถรับสัญญาณไมค์ได้สูงถึง 8 ช่อง เราสามารถเหลือช่องสัญญาณต่อกับ MXA910 ได้อีกหลายตัว หากเราติดตั้งอุปกรณ์ในห้องขนาดใหญ่ เราสามารถใช้ MXA910 จำนวนถึง 8 ตัวเพื่อเชื่อมเข้ากับ P300 จำนวน 1 ตัว หรือถามว่าเราไม่ต้องการใช้ MXA910 ได้หรือไม่ ตอบว่าได้ เราอาจใช้ไมโครโฟนที่เป็น Dante หรือไมค์ชนิดแอนาลอกก็แล้วแต่ แล้วทำการต่อพ่วงกับระบบก็ได้
ยกตัวอย่าง กรณีเรามีไมค์ Shure ULX-D ซึ่งไมค์รุ่นนี้รองรับ Dante เน็ตเวิร์ก เราสามารถเชื่อมต่อสัญญาณของไมค์มาที่ตัว P300 ได้เลย ไม่ต้องใช้สายแอนาลอกใดๆ
จุดเด่นของ Shure MXA910
จุดเด่นในด้านเทคโนโลยีของ MXA910 คือ Auto-focus จะเห็นได้ว่าเวลาที่ตั้ง Lobe ให้โฟกัสผู้พูด แม้ผู้พูดอาจขยับศีรษะไปเพียงเล็กน้อยระบบจะวิ่งตามทันที ในระยะรัศมีประมาณ 50 เซ็นติเมตร ซึ่งมันจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเสียงวูบได้ดี ในกรณีที่ผู้พูดขยับตัวไปจากตำแหน่งเดิม ไม่ว่าจะนั่งหรือย้ายตำแหน่งพูดก็ตาม และยังสามารถประยุกต์ใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Voice-Lift ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยเสริมความดังในบางจุด เหมือนกับการฟังผู้พูดอยู่ใกล้เรา
แม้ว่าผู้พูดจะยืนห่างออกไปหลายเมตรก็ตาม โดยอาศัยลำโพงตัวที่อยู่ใกล้ผู้ฟังเปล่งเสียงออกมา มันไม่ได้ดังถึงระดับ Reinforcement ในแบบที่เราฟังคอนเสิร์ต แต่ Voice-Lift ช่วยให้ตำแหน่งการฟังที่เกิดการบอดได้ยินเสียงนั้นชัดเจนขึ้น เช่น มีคนพูดอยู่หน้าห้อง ผู้ที่อยู่ตำแหน่งด้านหน้าจะได้ยินเสียงผู้พูดจากปาก
คุณเจมี่ กำลังบรรยายเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ของ MXA910 ซึ่งสามารถควบคุมการทำงานจุดรับเสียงทั้ง 8 จุดได้อย่างแม่นยำ
ระบบจะส่งระดับความดังของเสียงไปยังลำโพงที่อยู่ด้านหน้าน้อยกว่า ส่วนผู้ฟังที่อยู่ด้านหลังจะส่งระดับความดังไปเยอะกว่า เพราะอยู่ระยะไกล เนื่องจากได้ยินเสียงจากปากไม่ชัดเจน ฉะนั้นจึงต้องเปิดเสียงหลังห้องมากกว่าปกติ
เทคนิค Voice Lift
สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกับ Voice-Lift คือมันไม่ใช่ Sound Reinforcement แบบระบบเสียง PA อย่างเช่นเวลาเราใช้งานไมค์ลอย แล้วด้านข้างซ้ายขวามีลำโพงติดตั้งอยู่ แล้วเปิดเสียงให้ดัง ไม่ว่าจะเป็นตามงานประกาศ งานคอนเสิร์ต เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะเสริมให้เสียงมันดังขึ้น ซึ่งเสียงที่ออกระบบลำโพงนั้นจะมีระดับความดังกว่าผู้พูดหลายเท่าตัว
ส่วนเทคนิค Voice-Lift จะทำเหมือนกับว่าเสียงมันไม่ได้หายไปไหน สมมติเราพูดด้วยความดังระดับหนึ่ง ด้านหน้าและด้านหลังก็ควรจะดังเท่ากัน แต่เสียงที่ผู้ฟังรับรู้นั้นไม่ได้รู้สึกว่าเสียงมันดังกว่าผู้พูดแต่อย่างใด ซึ่งเหมาะกับงาน AV Conference หรือห้องประชุมขนาดใหญ่ เช่น กรณีผู้พูดอยู่ตำแหน่งหัวโต๊ะ แต่อาจทำให้ผู้ฟังอีกฟากหนึ่งไม่ได้ยินเสียงของผู้พูด
ระบบนี้จะเข้าไปชดเชยความดังให้ผู้ฟังได้ยินเสียงนั้นชัดเจนขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการให้เสียงมันดังมากๆ เหมือนกับระบบเสียง Sound Reinforcement
(ซ้าย) Voice-Lift แบบพื้นฐาน มีการแบ่งลำโพงออกเป็น 2 โซน ในห้องขนาด 30 ft. x 18ft.
(ขวา) ระบบขนาดใหญ่ขึ้น มีการแบ่งจำนวนโซนมากถึง 4 โซน การใช้ Dante เน็ตเวิร์กจะช่วยให้ระบบทำงานดีขึ้น และการเลือกติดตั้งลำโพงแบบ Ceiling เหมาะกว่าตู้ลำโพงแบบพ้อยต์ซอร์ส ห้องขนาด 60 ft. x 40 ft.