Soundcraft Ui12 & Ui16 (ตอนที่ 1)

Ui12-16950-628px-ok

Ui12 & Ui16 ดิจิตอลมิกเซอร์ อินพุต 12 และ 16 ช่อง ควบคุมผ่านเว็บเบราเซอร์ด้วยอุปกรณ์โมบาย มี EQ และเอฟเฟ็กต์ให้ครบ เล่นไฟล์เพลงและบันทึกเสียงโหมด 2-Tracks ได้

RT60

หากกล่าวถึง Soundcraft แบรนด์นี้ถือว่าอยู่ในวงการเครื่องเสียงมายาวนาน แบรนด์นี้ผลิตสินค้ามิกเซอร์เป็นหลัก ปัจจุบันผลิตทั้งอะนาล็อคและดิจิตอลมิกเซอร์ สำหรับ Ui Series ถือเป็นดิจิตอลมิกเซอร์ โดยมีทั้งหมด 3 Series คือ Ui, Si และ Vi สังเกตว่ามิกเซอร์รุ่นที่ลงท้ายด้วย “i” จะเป็นดิจิตอลมิกเซอร์ และ Ui Series นั้นถือเป็นดิจิตอลมิกเซอร์ตระกูลเล็กสุดของ Soundcraft

ui-12-16 art

เดิมทีในช่วงแรก Ui ได้เปิดตัวออกมาเพียง 2 รุ่น คือ Ui12 และ Ui16 ภายหลังจึงพัฒนาต่อยอดเป็น Ui24 ซึ่งทาง Reverb Time ได้รีวิวไปแล้ว

สำหรับ Ui12 มีความแตกต่าง Ui16 สิ่งแรกคือเรื่องของจำนวนอินพุต และในรุ่น Ui16 จะติดตั้งในตู้แร็คได้ ส่วน Ui12 จะมีบอดี้เล็กกว่านิดหน่อย ทั้ง Ui12, Ui16 และ Ui24 จะมีเสา Wi-Fi มาพร้อมกับตัวเครื่อง หมายความว่า เมื่อเปิดเครื่องปุ๊บจะใช้งานได้ทันที เนื่องจากตัวมิกเซอร์จะปล่อยสัญญาณ Wi-Fi ออกมา เพียงแค่ผู้ใช้นำ iPad, iPhone และ Android รวมไปถึงคอมพิวเตอร์ซึ่งครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่รองรับระบบอินเตอร์เน็ต

ui-rta01

โดยการรันเว็บเบราเซอร์ด้วยการเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ก็สามารถใช้งานได้หมด จากวันเปิดตัวจนถึงปัจจุบัน Ui Series สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ควบคุมได้สูงสุด 10 เครื่อง นั่นทำให้นักดนตรีหรือซาวด์เอ็นจิเนียร์สามารถเข้าถึงระบบของมิกเซอร์ได้พร้อมกันในคราวเดียว ทุกๆ อินพุตจะมี RTA ทำหน้าที่เป็น Real Time Analyzer คอยบอกว่าสัญญาณที่เข้ามามีความถี่ใดบ้าง ข้อดีคือจะช่วยให้ผู้ใช้ปรับแต่ง EQ ง่ายขึ้น ในส่วนภาคเอฟเฟ็กต์นั้นมีให้หลายตัวทั้ง dbx, DigiTech, Lexicon ฝังมากับตัวเครื่องเลย

ui-control_original

จุดเด่นของ Ui Series

จุดเด่นอีกอย่างของ Ui Series นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้แอปฯ ทำให้หนีข้อจำกัดเรื่องระบบปฎิบัติการ เพียงแค่ระบบนั้นรองรับเว็บเบราเซอร์ก็สามารถใช้งานได้เลย เพราะ Ui ได้ฝังเว็บเซิร์ฟเวอร์ไว้ในอุปกรณ์แล้ว แค่ผู้ใช้ป้อน IP Address ผ่านเบราเซอร์ก็สามารถใช้งานได้ทันที ไม่ว่าจะเป็น IE, Firefox, Chrome, Safari

ui12_original

ส่วนโพรเซสเซอร์ที่ให้มาจะมี EQ ในทุกๆ แชนแนล เอ็นจิ้นของ dbx จำนวน 5 แบนด์ความถี่ นอกจากนี้ยังมี Gate, Compressor ซึ่งเป็นของ dbx เช่นกัน รวมถึง Lexicon ใน Ui16 จะมีเอฟเฟ็กต์จำนวน 4 ตัว คือ Reverb, Delay, Chorus และ Room ส่วน Ui12 จะไม่มีเฉพาะเอฟเฟ็กต์ Room เท่านั้น สำหรับเอฟเฟ็กต์ถูกฟิกซ์มาตายตัว เช่นตัวแรกเป็น Reverb เสมอเราไม่สามารถเปลี่ยนเป็น Delay หรืออย่างอื่นได้

สิ่งที่แตกต่างระหว่าง Ui12 และ Ui16 ในเรื่องอินพุตมีจำนวนไม่เท่ากัน Ui12 มีจำนวน 12 อินพุต ส่วน Ui16 มีจำนวนอินพุต 16 ช่องสัญญาณ อย่างไรก็ดีจำนวนช่องเชื่อมต่อสัญญาณแบบ XLR ไม่ได้มีจำนวนเท่ากับชื่อของรุ่นมิกเซอร์ ในรุ่น Ui12 จะมีช่อง XLR เพียง 8 อินพุตที่รองรับไมโครโฟน

ส่วน 9-10 จะเป็น RCA ไม่มีปรีแอมป์และ Gain ช่อง 11-12 จะอยู่ที่พอร์ต USB และสามารถเล่นเพลงได้หลากหลายฟอร์แมต อาทิ mp3, mp4, aiff, wave, flac audio ส่วนรุ่น Ui16 มีจำนวนช่องอินพุต XLR มีไมค์ปรีมาด้วยจำนวน 12 ช่อง มี RCA 2 ช่อง และ USB อีก 2 ช่องสัญญาณ รวมทั้งหมด 16 ช่องสัญญาณ 

จำนวน Aux รุ่น Ui12 มีน้อยกว่า Ui16 คือมีแค่ 2 ช่อง แต่จำนวน Master Output เท่ากัน ส่วนจำนวน Aux รุ่น Ui16 มีมากกว่า และทั้งสองรุ่นสามารถบันทึกเสียง และเพลย์แบ็กได้ในลักษณะ 2-Tracks และเนื่องจาก Ui12 เป็นรุ่นเล็กจะไม่มีหูแร็ค จึงใส่ในตู้แร็คไม่ได้ แต่ว่า Ui16 จะเข้าแร็คได้เพราะมีหูแร็คทั้งฝั่งซ้ายมือและขวามือ

การเชื่อมต่อ Ui12 & Ui16

ในการเชื่อมต่อ Ui Series นั้น วิธีแรกจะทำผ่าน Hotspot ซึ่งถือเป็นช่องทางง่ายที่สุดเพราะว่ามันเป็นวิธีเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้าไปโดยตรง เช่นผู้ใช้มี iPad ก็สามารถนำมาเชื่อมต่อผ่านเสา Wi-Fi ของมิกเซอร์ Ui ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องใช้สายสัญญาณอื่นใด ยกเว้นสายไมค์ สายสัญญาณเสียงยังต้องมีอยู่ วิธีที่สองเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi เราท์เตอร์ ผู้ใช้ต้องซื้อเราท์เตอร์แยกต่างหาก จะเป็นยี่ห้ออะไรก็ได้

โดยติดตั้งไว้บริเวณที่ใช้ Ui ในตำแหน่งที่คาดว่าสัญญาณจะไม่ถูกรบกวน สำหรับเสา Wi-Fi ที่มากับตัวเครื่องนั้น สามารถเชื่อมต่อกับ Wi-Fi ข้างนอก โดยกำหนดให้ค้นหาอุปกรณ์เชื่อมต่อ ผ่าน User/Password ของเราท์เตอร์ ซึ่งระบบจะค้นหาและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เราท์เตอร์ให้

จากนั้นผู้ใช้นำ iPad เชื่อมต่อสัญญาณเข้าไปเกาะ Wi-Fi ตัวเดียวกัน และวิธีที่สามคือใช้ช่องทาง Ethernet ซึ่งด้านหลังเครื่อง Ui Series จะมีช่องไว้เสียบกับสาย LAN โดยช่องนี้ใช้ต่อกับสาย LAN ไปหาเราท์เตอร์ที่ผู้ใช้ซื้อมา เช่น ผู้ใช้อาจจะนำเราท์เตอร์จำนวนหนึ่งมารับสัญญาณจาก Ui โดยอาศัยสาย LAN เชื่อมต่อไปที่ตัวเราท์เตอร์

จากนั้นใช้ iPad ควบคุม Ui จากตำแหน่งใดของพื้นที่ในงานก็ได้ ข้อดีคือจะทำให้ผู้ใช้สามารถเดินไปมาในพื้นที่ต่างๆ ได้กว้างขึ้น และบางครั้งการวางเสาไว้ใกล้กับอุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ อาจจะมีสัญญาณรวบกวนเกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องลากสาย LAN ไปเชื่อมต่อกับเราท์เตอร์ ซึ่งนี่เป็นอีกวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาของสัญญาณรบกวนภายในงาน และถือเป็นวิธีใช้งานที่ดีช่วยให้ทำงานในระยะที่ไกลขึ้น

วิธีสุดท้ายเป็นการใช้สาย LAN เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ควบคุม วิธีนี้มั่นใจว่าสัญญาณไม่หลุดแน่นอน นั่นคือการเชื่อมต่อสาย LAN จาก Ui ไปเข้าคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งข้อเสียคือผู้ใช้อาจจะรู้สึกไม่คล่องตัวนัก บางคนอาจต้องการเดินไปมา

การใช้งาน Ui12 & Ui16 เบื้องต้น

ขั้นตอนการใช้งานนั้น ขั้นตอนแรกเราต้องไปที่หน้า Wi-Fi อุปกรณ์ควบคุม เราจะพบ Hotspot ของตัว Ui ซึ่งในการเชื่อมต่อกับ Ui นั้นสามารถทำได้ 3 โหมดคือ Hotspot, Wi-Fi และ Ethernet สำหรับโหมด Hotspot เราจะเห็นเป็น Soundcraft Ui12 หรือ Ui16 ซึ่งชื่อนี้ก็คือ Hotspot นั่นเอง เป็นชื่อจากโรงงาน

แต่เราสามารถเปลี่ยนชื่อของ Hotspot เองภายหลังได้ ความหมายอีกอย่างของ Hotspot คือการต่อตรงกับอุปกรณ์ควบคุม เป็นการใช้งานผ่านเสาที่มากับตัวเครื่องมิกเซอร์ อีกวิธีคือการต่อ Ethernet ผ่านไปที่ Wi-Fi เราท์เตอร์ภายนอก ซึ่งผู้ใช้อาจกำหนดชื่อเป็น Mainstage 5G ซึ่งเป็นการสื่อว่าสัญญาณ Wi-Fi วิ่งบนสัญญาณ 5G

สำหรับรูปแบบการสื่อสาร Wi-Fi ปัจจุบันมี 2 คลื่นความถี่ที่เปิดให้ใช้งานเสรี คือย่าน 2.4GHz และ 5GHz ถามว่าต่างกันอย่างไร ต่างกันที่ช่องสัญญาณที่เราเข้าไปใช้งาน ส่วนใหญ่ผู้คนจะใช้ย่าน 2.4GHz แต่ Wi-Fi ถูกพัฒนาให้วิ่งบนคลื่น 5GHz เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันของสัญญาณในย่าน 2.4GHz บางคนจึงเลือกที่จะใช้ 5G

เมื่อเชื่อมต่อ Wi-Fi เสร็จแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาแอปฯ เพียงแค่เปิดเว็บเบราเซอร์เช่น Safari จากนั้นในช่อง Url ให้พิมพ์เลขไอพีแอดเดรสที่กำหนดไว้ เช่น 192.168.1.102 จากนั้นระบบจะให้เราเลือกอินเทอร์เฟซที่จะใช้งานว่าจะใช้บนมือถือ หรือว่าแท็บเล็ต กรณีเลือกเป็นมือถือ มันจะใช้งานง่ายเพราะว่าหน้าจอจะถูกขยายให้พอดีกับหน้าจอมือถือ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของเฟดเดอร์ ขนาดปุ่มที่เอื้อให้เราใช้งานได้ง่าย

ในกรณีใช้ iPad ก็ให้เลือกเป็นแท็บเล็ตไปเลย จากนั้นเราจะพบหน้าตาของมิกเซอร์ ซึ่งหน้าตาจะคล้ายกับมิกเซอร์ทั่วไป ในการใช้งานไม่ได้ต่างกับมิกเซอร์ทั่วไป ส่วนแรกด้านบนสุดจะเห็นกราฟของสัญญาณอินพุต รวมถึงสัญญาณเอาต์พุต เราสามารถเช็คได้หมดว่าช่องได้ถูก Mute หรือกลับเฟส ช่องไหนเปิด Phantom power/Solo และยังมีไฟแสดงระดับสัญญาณรีลไทม์ตลอด

แท็บถัดไปเป็น Mute คือเป็นลักษณะการจัด Mute Group นั่นเอง ทำให้สามารถสั่ง Mute จำนวนแชนแนลที่ต้องการได้ เช่น Mute Group 1 ไมค์กลองทั้งหมด หรือ Mute Group 2 พวกแบ็คกิ้งแทร็คทั้งหมด หรือ Mute Group 3 พวกเอฟเฟ็กต์ทั้งหมด ผู้ใช้สามารถตั้งได้ทั้งหมด 6 Group ซึ่งอาจจะทำได้มากกว่า Si บางรุ่นที่ทำได้เพียง 4 Group และยังมี View Group เป็นลักษณะการจัดเฟดเดอร์ใหม่

บางช่องสัญญาณเราไม่ได้ใช้งานก็ตัดออกไป แล้วนำเฉพาะแชนแนลที่ใช้งานจริงมาเรียงกัน ซึ่งสามารถจัดได้ทั้งหมด 6 ชุด เช่น View Group 1 โชว์เฉพาะไมค์กลองอย่างเดียว หากไม่ได้ใช้เอฟเฟ็กต์อะไรก็ไม่จำเป็นต้องนำมาโชว์ ซึ่งสามารถเลือกผ่านหน้ามิกซ์ได้อีกที ส่วน Sub Group ทำได้ 4 ชุด คล้ายๆ กับบนอะนาล็อคมิกเซอร์ คือรวบสัญญาณมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการควบคุมกลุ่มสัญญาณเหล่านั้น เช่นการควบคุมความดังทั้ง Group

ในแท็บ Mix/Gain เป็นหน้ามิกซ์หลักและ Gain กดครั้งแรกเป็นหน้ามิกซ์ หากกดครั้งที่สองจะเป็นหน้า Gain สังเกตได้จากเฟดเดอร์ เมื่อกดอีกครั้งมันจะกลายเป็น Gain หน้าตาเป็นเฟดเดอร์ เนื่องจากการใช้งานบนแท็บเล็ตหรือหน้าจอทัชสกรีน การสไลด์ขึ้นลงจะทำได้ง่ายกว่าการหมุนปุ่ม knob ทางผู้ผลิตจึงออกแบบเป็นเฟดเดอร์ ดังนั้นเวลาใช้งานต้องตรวจเช็คให้ดีว่าเฟดเดอร์นั้นเป็น Gain อินพุตหรือตัวคุมความดังเบาของแชนแนลนั้นๆ

อีกหนึ่งปุ่มที่อยู่ด้านข้าง Mix/Gain คือ Edit มีหน้าที่เข้าไปจัดการในแต่ละแชนแนล โดยในแต่ละแชนแนลจะมีพวก EQ, Gate, Compressor รวมถึง Effect Send ทำหน้าที่ Send เอฟเฟ็กต์ไปช่องใดบ้าง และ Aux Send ทำหน้าที่ Send ไปที่ Aux ไหน ปริมาณเท่าไหร่บ้าง ลองมาพิจารณาทีละส่วน เริ่มจาก EQ จะมีให้ทั้งหมด 4 แบนด์ บวกอีก 1 High-pass ฟิลเตอร์ เท่านั้นยังไม่พอยังมี De-Esser อีกด้วย ซึ่งให้หนึ่งความถี่ หมายความว่าผู้ใช้จะเลือกได้หนึ่งความถี่แล้ว De-Esser จะจัดการความถี่ให้เรา

มิกเซอร์ Ui12 & Ui16 มีลูกเล่นเยอะ

นอกจากนั้นยังมี RTA เมื่อเราเปิดขึ้นมันจะมีกราฟโชว์ความถี่อินพุตนั้น ว่ามีความถี่ใดเข้ามาบ้าง ทำให้เช็คความถี่เสียงที่เกินหรือขาดเพื่อใช้อ้างอิงในการปรับแต่งเสียงได้ง่ายขึ้น ในหน้า Edit จะมีแถบด้านล่างซึ่งสามารถเลื่อนได้ ข้อดีของมันคือหากต้องการเลื่อนจากแชนแนลหนึ่ง กระโดดไปอีกแชนแนลหนึ่ง ก็แค่กดแชนแนลข้างๆ ก็จะสามารถ EQ แต่ละแชนแนลได้ เช่นเดียวกับกลุ่ม Dynamic สามารถเลือกจากด้านล่างได้เช่นกัน

สรุปว่าในแต่ละแชนแนลจะมีกลุ่ม EQ, Dynamic, Effect Send และ Aux Send แยกกันอิสระ นอกจากนั้นยังมีพรีเซตเบื้องต้น เพื่อให้ใช้งานได้คร่าวๆ เช่น EQ ของ Hi-Hat เวลานำมาใช้จริงอาจต้องปรับแต่งเพิ่มตามความต้องการผู้ใช้ ส่วน Aux Send ไม่มีอะไรมาก เพียงแค่กดจุดนี้ ก่อนนี้เวลากดที่แชนแนลมันจะถามว่าจะส่งไปที่ Aux ใดบ้าง

ส่วนอีกแบบ เมื่อกดที่ Aux ระบบจะถามว่าเราจะส่งแชนแนลใดมาบ้าง สามารถใช้งานได้ทั้งสองแบบ เช่นเรากดที่ Aux 1 เราก็เลือกไมค์ตัวไหนบ้างที่ต้องการส่งไปที่ Aux ดังกล่าว แล้วเลื่อนเฟดเดอร์ขึ้นลง ตรงนี้เป็นเฟดเดอร์ฝั่ง Send ไป Aux 1 หรือ Aux 2 จะส่งอะไรบ้าง จะส่งแบบ Pre หรือแบบ Post สามารถเลือกผ่านหน้านี้.. (โปรดติดตามอ่านในตอน 2)

บทความที่เกี่ยวข้อง :
Soundcraft Ui24R มิกเซอร์ดิจิตอล
Ui24R : เวิร์กช็อปการต่อพ่วงมิกเซอร์ 2 เครื่อง (01)

สนใจสินค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าได้ที่:
บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด
โทร. 02-2560020
Website: www.mahajak.com
Youtube : Mahajak Channel
Line : @MahajakPro

Read Previous

JBL VRX900 Series ลำโพงไลน์อาร์เรย์

Read Next

Workshop | เรื่องเสียงบนเวที…เข้าใจยาก แต่ควบคุมได้ (ตอนที่ 1)