รู้ทันเทคโนโลยี จะช่วยการนำเสนองานง่ายยิ่งขึ้น? บริษัท มหาจักรฯ ได้จัดงานเวิร์คช็อปให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Presentation ซึ่งบรรยายโดยวิทยากรทีมระบบภาพ (Visual) @ Mahajak Experience Center อาคารมหาจักร (นานาเหนือ)
ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างที่หลายๆ ท่านทราบดีว่ามีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเชื่อมต่อสายจากอะนาลอกไปเป็นดิจิตอล และจากการเชื่อมต่อแบบมีสาย จนเข้าสู่ยุคไร้สายมากยิ่งขึ้น
“ย่าน 5GHz จะได้จำนวนแชนแนลและอัตราในการส่งข้อมูลจะส่งได้มากขึ้น ส่วนข้อด้อยคือจะส่งสัญญาณได้ไม่ค่อยไกล”
ไม่ว่าจะเป็น ระบบบลูทูธ การส่งสัญญาณภาพ เสียงต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การทำงานที่หลากหลาย มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ลดในเรื่องของรูปแบบการเดินสายสัญญาณ คราวนี้มาดูว่าทำไมเราต้องมาศึกษาเรื่องเหล่านี้
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
ปัญหาที่พบบ่อยในการใช้งานระบบสาย
เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่เข้าไปติดตั้ง หรือปรับปรุงระบบห้องประชุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำคอมพิวเตอร์ขึ้นไปพรีเซ้นต์บนจอนั้น ส่วนใหญ่จะนึกถึง HDMI ก่อน บ่อยครั้งที่เวลาเตรียมการประชุม ทำไฟล์พรีเซ้นต์ในคอมพิวเตอร์ พอมาถึงห้องประชุมแล้วเสียบสายปรากฎว่า ภาพไม่ขึ้น ภาพกระพริบ ภาพกระตุก
ส่วนใหญ่จะเกิดปัญหาจากสาย HDMI สำหรับสาย HDMI ปกติจะส่งสัญญาณได้ไกล 5-6 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่พอจะใช้งานได้ กรณีที่เดินสายเป็น 10 เมตร ก็จะเจอปัญหาได้ เพราะสายยาวเกินไป หากเป็นงานประชุมนัดสำคัญระดับผู้บริหาร หรืองานประชุมที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเยอะๆ ต้องเรียกฝ่ายไอทีมาแก้ปัญหา ทำให้เสียเวลา หรือบางครั้งมันเชื่อมต่อกับระบบอื่น ก็จะทำให้เกิดสัญญาณรบกวน
ปัญหาที่พบบ่อยในการใช้งานระบบสาย
อาการที่อาจเกิดขึ้นได้คือ กระตุก หน่วง ค้าง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น บางครั้งคอมพิวเตอร์ที่นำมาพรีเซ้นต์เป็นเครื่องรุ่นเก่า พอเข้าห้องประชุมระบบสายเป็น HDMI ก็ต้องไปหาพวกอะแด็ปเตอร์มาแปลง ซึ่งปัญหาของการแปลงคือเรื่องความละเอียดของภาพ ทำภาพระดับ 4K มาอย่างดีพอผ่านอะแด็ปเตอร์ปรากฎว่าใช้งานไม่ได้ ดีหน่อยภาพอาจจะไม่ชัด แต่แย่สุดคือภาพไม่ออกเลย หรือภาพออกแต่เสียงไม่ออก
อีกเรื่องหนึ่งที่ยังอยู่ในเรื่องของสายสัญญาณ หลายคนคาดไม่ถึงเช่นกันว่ามันจะมีผล นั่นคือเรื่องของชนิดสาย แม้ว่าจะเรียกสาย HDMI เหมือนกัน แต่ตัว HDMI มีเวอร์ชันที่ต่างกัน ความสามารถในการรองรับความละเอียดภาพที่ต่างกัน บางรุ่นรองรับแค่ Full HD บางรุ่นรองรับ 4K เวลานำมาใช้งาน อาจจะใช้ฟังก์ชันได้ไม่ครบ หรือบางทีผู้ใช้ซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ พอเชื่อมต่อภาพไม่ออก เพราะสายไม่ได้มาตรฐาน
Extended Display Identification Data (EDID)
EDID เป็นลักษณะการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เมื่อผู้ใช้เชื่อมต่อโน้ตบุ๊คกับจอภาพ ระบบโน้ตบุ๊คจะตรวจสอบว่าเป็นจอยี่ห้ออะไร มี Resolution เท่าไหร่ กรณีที่พบว่าเป็นจอ 4K ระบบก็จะส่งข้อมูลที่เป็น 4K ไป กรณีที่สัญญาณต้นทางและอุปกรณ์ปลายทางไม่ซัพพอร์ตกันและกัน ก็จะเกิดอาการกระตุกได้
Extended Display Identification Data (EDID)
รู้จัก High-bandwidth Digital Content Protection (HDCP)
เป็นรูปแบบป้องกันการคัดลอกข้อมูล พวกเสียงที่อยู่ในโหมดดิจิตอล กรณีเป็น HDMI มันจะมีฟังก์ชันนี้มาด้วย ในกรณีผู้ใช้เชื่อมต่อ HDCP จะเริ่มทำงาน ภาพอาจไม่ออกเพราะมันป้องกันการคัดลอก ซึ่งต้องพิจารณาอุปกรณ์แต่ละตัวว่ารองรับหรือไม่ อุปกรณ์บางตัวสามารถปรับค่า EDID ได้ หากปรับไม่ถูกต้องก็เกิดอาการภาพกระตุกได้
High-bandwidth Digital Content Protection (HDCP)
มาตรฐาน IEEE 802.11
สัญญาณที่ใช้สื่อสารภาพและเสียง จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว นั่นคือสัญญาณ Wi-Fi และสัญญาณบลูทูธ แต่มันจะส่งได้แค่เสียง และระยะส่งได้ไม่ไกล สัญญาณ Wi-Fi จึงได้รับความนิยมมากกว่า อย่างไรก็ดี สัญญาณ Wi-Fi ถูกแบ่งออกเป็นหลายความถี่ ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่นย่าน 2.4GHz หรือย่าน 5GHz
ทั้งนี้ทาง กสทช. อนุญาตให้สามารถนำมาใช้งานในอุปกรณ์ไร้สายได้ทั่วไป หากเป็นย่านความถี่อื่นจะต้องไปขออนุญาตใช้งาน สำหรับสัญญาณ Wi-Fi จะมีมาตรฐานในการส่งสัญญาณ เริ่มแรกจะเป็น IEEE ในยุคแรกจะส่งข้อมูลได้น้อย คือราว 2Mbps นั่นคือตัว IEEE802.11
มาตรฐาน IEEE 802.11
ถัดมาเป็นมาตรฐาน IEEE802.11a ส่งได้ 54Mbps ถัดไปเป็นเวอร์ชัน b ส่งได้ 11Mbps ถัดไปเวอร์ชัน g ส่งได้ 54Mbps ถัดไปเวอร์ชัน n ส่งได้ 300Mbps และเวอร์ชัน ac ส่งได้ 1300Mbps ทั้งหมดก็เป็นพัฒนาการของระบบการส่งข้อมูลของ Wi-Fi ซึ่งปัจจุบันสามารถนำสัญญาณ Wi-Fi มาส่งข้อมูลภาพได้ และที่เราใช้งานกันอยู่ตอนนี้คือเวอร์ชัน ac และ ad ซึ่งสามารถส่งได้ 6Gbps สรุปได้ดังนี้
มาตรฐาน | อัตราการส่งข้อมูล |
IEEE802.11 | 2Mbps |
IEEE802.11a | 54Mbps |
IEEE802.11b | 11Mbps |
IEEE802.11g | 54Mbps |
IEEE802.11n | 300Mbps |
IEEE802.11ac | 1300Mbps |
โครงสร้างแชนแนลคลื่นความถี่ 2.4GHz
สำหรับสัญญาณ Wi-Fi จะมีย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz ในส่วนของย่าน 2.4GHz จะแบ่งจำนวนช่องออกเป็นช่องย่อยๆ จำนวน 14 ช่อง การทำงานของคลื่นย่านนี้โดยปกติจะไม่มีการทับซ้อนกัน ในกรณีที่เกิดการทับซ้อนกันสัญญาณจะถูกรบกวน ซึ่งจะได้สัญญาณเอาต์พุตที่ไม่ดี ในการใช้งานบางคนจะใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ความถี่ที่เรียกว่า Analyzer
โดยซอฟต์แวร์ตัวนี้จะแสดงผลให้เห็นว่า ย่านความถี่ในบริเวณนั้นมีการใช้ความถี่ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน ให้เรามองภาพว่า ภาพที่มันเรียงซ้อนๆ กันอยู่นั้น ผู้ใช้จะต้องมา Plot ดูว่า หากจะตั้งค่าเพื่อใช้งาน ผู้ใช้จะต้องทำการสแกนคลื่น ซึ่งอาจพบว่าในห้องนั้นๆ มีการใช้งานความถี่ Wi-Fi ทับซ้อนกันเต็มไปหมด อย่าลืมมือถือเองก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่รองรับคลื่น 2.4GHz
Wi-Fi 2.4GHz และ 5GHz
ฉะนั้นมันจะมากระจุกตัวอยู่ตรงนี้ด้วย อยู่ที่ว่าใครจะจองช่องไหนไป กรณีผู้ใช้เลือกช่องสัญญาณที่มีการทับซ้อนกันมากๆ เนื่องจากทราฟิกมันหนาแน่น ผลคือทำให้การส่งสัญญาณไม่ราบรื่น วิธีแก้ไข ผู้ใช้จะต้องตรวจเช็คว่าช่องไหนที่ไม่ค่อยมีการทับซ้อนของสัญญาณ เช่นช่อง 6 ไม่ทับกับอุปกรณ์อื่นเลย หรือกรณีช่อง 6 มีการทับกัน ก็ต้องย้ายไปช่อง 11 ผู้ใช้งานสามารถเลื่อนแชนแนลอุปกรณ์ที่ใช้ให้ไปอยู่ตำแหน่งที่เหมาะสมได้ เพื่อให้การใช้งานราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในการติดตั้งอุปกรณ์ ผู้ใช้ไม่สามารถมองเห็นความถี่ด้วยตาเปล่า ดังนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือ เช่น Wi-Fi Analyzer มาสแกนคลื่นในบริเวณนั้นๆ หน้าที่ของซอฟต์แวร์นี้จะทำการตรวจจับสัญญาณความถี่ในพื้นที่นั้นๆ มีคลื่นความถี่ไหนถูกใช้งานไปแล้ว ผู้ใช้อาจจะเห็นช่อง 1 มีอุปกรณ์ใช้งานหลายชิ้น หรือช่อง 5-6 มีการทับซ้อนกันมาก หากผู้ใช้เลือกที่จะใช้งานช่อง 5-6 ผลคือจะทำอุปกรณ์ของผู้ใช้ถูกรบกวนได้
อุปกรณ์มือถือและโน้ตบุ๊ค มันจะมีบัฟเฟอร์ สังเกตว่าแม้สัญญาณหลุดไปแล้ว แต่ผู้ใช้ยังสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้สักพัก แต่ระบบการส่งสัญญาณภาพและเสียงส่วนใหญ่จะเป็นระบบรีลไทม์
โครงสร้างแชนแนลคลื่นความถี่ย่าน 5 GHz
อีกย่านความถี่หนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้นั่นคือย่าน 5 GHz ซึ่งมีมาได้ไม่นาน ยุคนี้กำลังโปรโมทกันอย่างหนัก 4G/5G คุณสมบัติพื้นฐานคือมีช่วงสัญญาณความถี่อยู่ที่ 5180-5825Mhz มันมาพร้อมกับความเร็ว จุดเด่นของย่านนี้คือมีจำนวนช่องย่อยมากขึ้น ซึ่งจะแบ่งเป็น 24 แชนแนล รับส่งข้อมูลได้ 6.9Gbps หรือ 6930Mbps
5GHz WiFi Channels & Frequencies
อย่างไรก็ดี ย่านนี้จะผกผันกับย่านแบนด์วิธอุปกรณ์ ซึ่งตัวแบนด์วิธนั้นเป็นค่าอัตราการส่งสัญญาณข้อมูลต่อวินาที
ตามมาตฐาน 802.11ac ย่าน 5 GHz สามารถปรับแบนด์วิธด์ลงมาเป็น 20-160MHz หากใช้จำนวนแบนด์วิธน้อย จะทำให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้หลายตัว แต่กรณีใช้แบนด์วิธจำนวนมากขึ้นจะทำให้ต่ออุปกรณ์ได้น้อยลง เช่นช่วง 160MHz จะต่อได้เพียง 2 ช่องสัญญาณ ส่วน 80MHz จะได้ 6 ช่องสัญญาณ ช่วง 40MHz ได้ 12 ช่องสัญญาณ และ 20MHz ต่อได้ 24 ช่องสัญญาณ กรณีเซตอัพใช้งานแบนด์วิธเยอะๆ มันจะไปรบกวนอุปกรณ์อื่น
สรุปว่า ผู้ใช้สามารถกำหนดค่าแบนด์วิธ เพื่อให้ใช้อุปกรณ์ได้หลายตัว แนวทางคือ หากต้องการใช้อุปกรณ์จำนวนมาก ต้องตั้งแบนด์วิธให้น้อย ในกรณีต้องการส่งสัญญาณในปริมาณมาก โดยไม่อิงกับจำนวนอุปกรณ์ ผู้ใช้สามารถตั้งแบนด์วิธให้กว้างๆ ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะใช้งานเป็นแบบไหน
ในออฟฟิศหลายแห่งอาจมีเราท์เตอร์ Wi-Fi หลายตัว รวมถึงแอคเซสพ้อยต์ มี Wi-Fi พรินเตอร์ อุปกรณ์เหล่านี้ล้วนสื่อสารกันแบบไร้สาย ผู้ใช้จะต้องกำหนดอุปกรณ์ให้อยู่ในตำแหน่งที่มีความหนาแน่นน้อย บนคลื่น 5GHz นั้น ผู้ใช้สามารถสแกนหาปริมาณช่องสัญญาณต่างๆ ที่ถูกใช้งานได้
หากสังเกตตัวกราฟจะพบว่าจำนวนช่องการใช้งานจะไม่ทับซ้อนกัน เนื่องจากจำนวนช่องเยอะ ดังนั้น ผู้ใช้จึงมีอิสระในการขยับช่องที่ต้องการใช้งานได้ง่าย ซึ่งจะช่วยให้ใช้งานอุปกรณ์ได้เต็มประสิทธิภาพ
เปรียบเทียบย่านความถี่ 2.4GHz vs 5GHz
2.4GHz vs 5GHz
ข้อดีของย่านความถี่ 2.4GHz จะส่งสัญญาณได้ไกลกว่า ส่วนข้อด้อยอัตราการส่งข้อมูลจะทำได้น้อยกว่า สามารถส่งได้สูงสุดประมาณ 600Mbps ส่วนย่าน 5GHz จะได้จำนวนแชนแนลมากขึ้น อัตราในการส่งข้อมูลจะส่งได้มากขึ้น ส่วนข้อด้อยคือจะส่งสัญญาณได้ไม่ค่อยไกล อัตราการทะลุทะลวงอาจทำได้ไม่ดีเท่าย่าน 2.4GHz บนย่าน 2.4GHz คลื่นจะกว้างกว่า ส่งได้ไกลแต่พาข้อมูลไปได้น้อย ทั้งนี้ก็เลือกให้เหมาะสมกับประเภทการใช้งาน
ข้อดี/ข้อเสียการใช้งานแบบสายสัญญาณและแบบไร้สาย
ในการนำเสนองานล้วนเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ลองมาพิจารณาข้อดีของการใช้อุปกรณ์ไร้สาย ตัวอย่างเช่นมีห้องประชุมหนึ่งห้อง แบบแรกมีการใช้งานโดยใช้สายสัญญาณเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทุกคนมีอุปกรณ์ของตัวเอง และเชื่อมต่อสายพันกัน ระโยงระยาง ด้านหลังยังมีคนคุมสวิตเชอร์เพื่อคอยดูว่าจะนำภาพของใครมาขึ้นจอ
เปรียบเทียบการใช้งานแบบไร้สายและแบบสายสัญญาณ
แต่หากเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีไร้สาย อุปกรณ์ที่ใช้บนโต๊ะประชุมก็แทบจะไม่เห็นอะไรเลย เต็มที่ก็มีปลั๊กไฟ จะเห็นแค่ตัวส่งสัญญาณ เสียบไว้บนคอมพิวเตอร์ที่จะใช้นำเสนองาน บนโต๊ะก็ไม่มีอะไร เท่านี้ก็เพียงพอที่จะใช้งานได้ แลดูสะอาดตา กรณีใช้สายสัญญาณ อาจจะมีบางสายที่ภาพขึ้น แต่บางสายเสียบแล้วภาพไม่ขึ้นเลย ทำให้เสียเวลา หากเปรียบเทียบข้อดี/ข้อด้อยของสายสัญญาณและระบบไร้สาย
- ค่าติดตั้งและเดินสายสัญญาณที่น้อยกว่า หากไม่ต้องการให้สายมันดูระโยงระยาง ก็จะมีค่าติดตั้งในการเก็บสาย ก็จะต้องเสียค่าเดินสาย แต่ระบบไร้สาย ไม่ต้องทำอะไรในส่วนนี้ เพราะสามารถนำมาติดตั้งใช้งานได้เลย ประหยัดค่าใช้จ่าย
- มีอุปกรณ์ในระบบที่น้อยกว่า ไม่ต้องมีสาย อะแดปเตอร์ หรือ Extender, Switcher
- ความง่ายในการติดตั้ง เพราะไม่ต้องซ่อนสาย ลากสายเชื่อมต่อขั้วสัญญาณต่างๆ ผู้ใช้งานมาถึงห้องประชุมเสียบอุปกรณ์ใช้งานได้เลย
- ความง่ายในการใช้งานของอุปกรณ์และระบบ หลังจากเตรียมงานเสร็จ เดินเข้าห้อง พบว่าไม่มีสายก็ต้องไปหยิบสายจากห้องอื่นมา พอสายเส้นนั้นใช้ไม่ได้ก็ต้องเสียเวลาไปหาสายอีก แต่ระบบไร้สายเปิดเครื่องปุ๊บ พรีเซ้นต์งานกันได้เลย
- การดูแลง่ายและอัพเดตฟังก์ชันการใช้งานในอนาคต สามารถนำอุปกรณ์มาเพิ่ม มีอุปกรณ์เสริมต่างๆ ไม่ต้องรื้อทำใหม่ มีความหยืดหยุ่นต่อการใช้งาน
- ความหลากหลายในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่จะนำเสนอ คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง มีพอร์ตเชื่อมต่อต่างกัน กรณีผู้ใช้ไปถ่ายรูปหน้างานมา มีเรื่องเร่งด่วนต้องประชุมกับผู้บริหาร และมีความจำเป็นต้องนำภาพดังกล่าวโชว์ให้ผู้บริหารดู แทนที่จะนำภาพไปลิงค์กับคอมพิวเตอร์ เอาคอมพิวเตอร์มาลงโปรแกรมเซตค่าต่างๆ ดูวุ่นวาย ผู้ใช้มีทางเลือกที่ดีกว่า แค่ใช้มือถือเชื่อมกับอุปกรณ์พรีเซ้นต์ เท่านี้ก็สามารถแชร์งานได้เลย แชร์กับมือถือ หรือแชร์กับคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องก็ได้
นี่คือจุดเด่นของระบบไร้สายที่ทำให้มีความหลากหลายกว่าระบบเดิม ที่อาจมีแค่ HDMI อย่างเดียว
การใช้งานแบบสายสัญญาณและแบบไร้สาย
ความแตกต่างระหว่างสายสัญญาณและแบบไร้สาย
การใช้งานแบบระบบสายสัญญาณ อาจจะเชื่อต่อกับสาย HDMI, VGA, DVI กรณีนี้ อาจต้องมีคอนเวอเตอร์มาแปลงสัญญาณ แยกภาพและเสียงออกจากกัน กรณีส่งไปไกลๆ ก็ต้องมีอุปกรณ์ Extender เข้ามาช่วย พอบูตส์เสร็จส่งไปหา Switcher แล้วต้องเลือกว่าจะให้เครื่องใดไปออกบนจอภาพ ซึ่งต้องมีคนคุมเพิ่มอีกหนึ่งคน
ถัดจาก Switcher มีการแปลงเป็น HDMI เนื่องจากห้องคอนโทรลอยู่ไกลต้องใช้ Extender เพื่อส่งสัญญาณจากห้องไปออกจอ กว่าสัญญาณจะไปออกบนจอภาพ ต้องผ่านอุปกรณ์อย่างน้อย 10 ชิ้น ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นค่าใช้จ่าย กรณีภาพไม่ออก ระบบมีปัญหา กรณีเดินสายไว้ใต้พื้น ต้องไล่รื้อสายทั้งระบบ
หากเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบไร้สาย คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะมีพอร์ตอะไรก็ตาม แต่ทุกเครื่องส่วนใหญ่ล้วนมีพอร์ตมาตรฐานคือ USB เพียงแค่นำตัวส่งสัญญาณไปเชื่อมต่อ มีอุปกรณ์อีกตัวไปรับที่ภาคเอาต์พุต สัญญาณเป็น Full HD, 4K
หากเทียบกับระบบสายแล้ว สามารถลดทอนอุปกรณ์ระหว่างทางได้เป็น 10 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นสายสัญญาณ อุปกรณ์ Extender, Switcher, Converter และอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ ทำให้ประหยัดงบได้มาก ไม่ต้องมีคนดูแลควบคุมระบบภาพอีกด้วย
ตัวอย่างการใช้งานแบบไร้สาย
ถ้าต้องการออกมอนิเตอร์มากกว่าหนึ่งจอ กรณีเป็นภาพเดียวกัน ข้อมูลเดียวกัน อาจใช้ตัว Splitter ก็ได้ จะช่วยแยกสัญญาณออกไปได้อีก การส่งสัญญาณไปหลายที่หลายทาง นั่นคือการทำเป็นเน็ตเวิร์ก AV ในระบบไร้สายนั้นระบบต้นทางของชุดประชุมจะเหลืออุปกรณ์เพียงไม่กี่ตัว
กรณีใช้มือถือสามารถนำสัญญาณ Wi-Fi มาเชื่อมต่อแล้วแชร์ข้อมูลได้เลย โดยรวมแล้วจะพบว่าใช้งานง่าย มีความหยืดหยุ่นสูง ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดภาระค่าติดตั้ง
สรุปเรื่อง รู้ทันเทคโนโลยี
การเชื่อมต่อระบบพรีเซนเตชันด้วยสายสัญญาณในห้องประชุมนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางห้องเหมาะกับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย แต่บางขั้นตอนยังจำเป็นต้องใช้สายอยู่ ระบบไร้สายปัจจุบันใช้คลื่นความถี่ Wi-Fi ย่าน 2.4GHz และ 5GHz ซึ่งย่าน 2.4GHz จะส่งข้อมูลได้ไกลกว่า ส่วนย่าน 5GHz สามารถส่งข้อมูลได้ในอัตราปริมาณมากกว่า ควรเลือกใช้งานตามความเหมาะสม
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รีวิว : Barco ClickShare สุดยอดอุปกรณ์พรีเซนเตชัน
สนใจสินค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าได้ที่:
บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด
โทร. 02-2560020
Website: www.mahajak.com
Youtube : Mahajak Channel
Line : @MahajakPro