T-2208 มาพร้อมกับไมค์ปรีแอมป์ 16 แชนแนล ช่อง Line 4 ช่อง และ USB 2 ช่อง มีเอฟเฟ็กต์พร้อมใช้ คุมผ่าน iPad ได้
RT60
T2208 เป็นดิจิตอลมิกเซอร์ขนาด 22 อินพุต ขนาด 20 แชนแนล โดยแยกเป็น 16 แชนแนลสำหรับไมค์ปรีแอมป์ ช่อง Line 4 และ USB 2 ช่อง ในส่วนของช่องไมค์ปรีนั้น สามารถเชื่อมต่อกับ XLR ทั้งตัวผู้และตัวเมีย หรือ Combo สำหรับ Gain ของ T2208 จะมีลักษณะเฉพาะคือเวลาปรับเพิ่มลดจะไม่โชว์ตัวเลขให้เห็น มันจะคล้ายกับอะนาล็อคมิกเซอร์ทั่วไป มิกเซอร์ตัวนี้สามารถต่อสัญญาณ Line ได้ทั้งหมด 20 Line โดยนำช่อง 16 ไมค์ปรี + Line 4 ช่อง ซึ่งเป็น 2 ชุดสเตริโอ
ภาค Aux มีทั้งหมด 8 Aux สามารถ Assign สัญญาณให้ไปออกช่องใดก็ได้ และมี 2 เอาต์พุต เป็นสเตริโอเอาต์พุต มีช่อง USB ที่ทำหน้าที่ทั้งอินพุตและเอาต์พุต โดยแยกเป็นอินพุตที่รับสัญญาณการเพลย์แบ็กหรือเล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์ และ USB Record รองรับการบันทึกเสียงแบบ 2-Tracks กรณีต้องการบันทึกหลายๆ แทร็ก ต้องซื้อการ์ดออปชันเพิ่มต่างหาก (TP T32USB-EXP)
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
ภาพรวม
ภาพรวมของเครื่องหากไล่เรียงจากด้านบนหน้าเครื่อง จะมีปุ่มฟังก์ชันให้เลือกใช้งาน อาทิปุ่มฟังก์ชัน Assign ทำหน้าที่ Assign แชนแนลไปยังจุดต่างๆ ของภาคเอาต์พุต ไม่ว่าจะเป็นการส่งสัญญาณไปออก Main/Aux/Effect ซึ่งมีทุกแชนแนล
Comp/Gate ฟังก์ชันนี้จะมีอยู่ในทุกแชนแนลอินพุต ส่วนพาราเมทริกและกราฟิก EQ ซึ่งตัวพาราเมทริกนั้นจะมีเฉพาะในฝั่งอินพุต/เอาต์พุต แต่กราฟิก EQ นั้นจะมีเฉพาะฝั่งเอาต์พุตเท่านั้น เช่น Main Out/Aux Out หรือ Aux Send
T-2208 วางลูกบิดเป็น 2 แถว เรียงจากแชนแนล 1-20 ด้านล่างเป็นปุ่มใช้เลือกแชนแนลได้อิสระ
ภาคเอฟเฟ็กต์จะมีด้วยกัน 2 แร็ค ทั้ง 2 แร็คใช้งานเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละแร็คจะเลือกเป็นเอฟเฟ็กต์ตัวไหนมาใช้งาน เช่น Reverb, Plate, Hall, Room, Stereo Delay, Mono Delay และอื่นๆ อีกหลายรายการ พวก Chorus, Tremolo, Stereo Reverb ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งาน PA
ภาคดิจิตอล In/Out ส่วนควบคุมการ์ดที่ถูกติดตั้งในเครื่องเป็นการ์ดออปชันเพื่อใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์พีซี เหมาะกับการควบคุมการทำงานของมิกเซอร์ (TP ETHERNET-EXP) หรือส่งสัญญาณผ่าน Dante (TP T-DANTE)
ปุ่มฟังก์ชัน +48V ใช้เปิด/ปิดการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ที่ต้องการแรงดันไฟ 48V เช่นไมค์แบบคอนเด็นเซอร์ หรือ DI-Box บางรุ่น
ฟังก์ชันพื้นฐาน
T2208 มี DCA ให้ทั้งหมด 6 ชุด ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมสัญญาณจากอุปกรณ์อินพุตต่างๆ ที่มีจำนวนมากผ่าน DCA แต่ละตัวได้ง่ายขึ้น อันที่จริง DCA คล้ายกับ Sub Group ของอะนาล็อคมิกเซอร์ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ DCA ไม่สามารถดึงอินพุตออกได้ หน้าที่หลักของ DCA ใช้จัดกลุ่มสัญญาณเท่านั้น ขณะที่ Sub Group จะดึงสัญญาณเอาต์พุตออกไปได้ นำไปใช้งานจุดนั้นจุดนี้ได้ ตัว DCA จะใช้จัดกลุ่มสัญญาณเพื่อให้สะดวกต่อการทำงาน ผู้ใช้ต้องเซตค่า DCA เสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้งาน DCA ได้
ในภาคโพรเซสเซอร์ มิกเซอร์ T2208 เป็นระบบดิจิตอล จึงมีค่า Sampling rate และ Bit Depth เข้ามาเกี่ยวข้อง มิกเซอร์ตัวนี้มีค่า 24-bit/48kHz ภายในมีหน่วยความจำสามารถ Save จัดเก็บงานได้ รวมถึงการโหลดข้อมูลทีถูก Saveมาใช้ได้ เช่นการ Save ค่าของ EQ, FX รวมถึงฟังก์ชัน Copy เช่นกรณีใช้อุปกรณ์ชนิดเดียวกัน หรือรุ่นเดียวกัน ผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าต่างๆ ที่แชนแนลแรก แล้วทำการ Copy ค่าเซตอัพของแชนแนลไปใส่ในแชนแนลที่เหลือได้ ผลคือค่าพารามิเตอร์ของต้นฉบับ จะถูกคัดลอกไปวางซึ่งเหมือนกันทุกประการ อาจจะปรับแต่งเพิ่มเติมเล็กน้อย ตรงนี้ช่วยลดเวลาปรับแต่งได้พอสมควร
ดิจิตอลมิกเซอร์รุ่นนี้มีสไลเฟดเดอร์เพียง 1 ก้าน ทุกๆ แชนแนลสามารถใช้ร่วมกันได้
ฝั่งอินพุตสามารถลิงค์กันได้ หรือที่เรียกว่า Stereo Link กรณีลิงค์สัญญาณสองช่องเข้าด้วยกัน ถ้าเราต้องการจะให้เป็นสเตริโอ ในแชนแนลหลักจะต้องไม่มีการทำ Pan ซ้าย/ขวาไว้ ให้ตั้ง Pan ไว้ที่ Center เช่นการลิงค์แชนแนล 1 และ 2 เข้าด้วยกัน เครื่องจะทำการ Pan ซ้ายขวาให้โดยปริยาย หากมีการ Pan ซ้าย/ขวาไว้ในแชนแนล 2 หรือแชนแนลต้นทาง ผลคือจะทำให้แชนแนลที่นำมาลิงค์จะเก็บค่าต่างๆ ทั้งหมดมาด้วย ตัวอย่างเช่น แชนแนลที่ 1 ตั้ง Pan ไว้ ซ้าย เมื่อนำแชนแนล 2 มาลิงค์ ตัวแชนแนล 2 ก็จะ Pan ไปฝั่งซ้ายให้ทันที หรือ Pan ไว้ขวาก็เช่นกัน
ถัดไปเป็น Phase Reverse ใช้เพื่อกลับเฟสสัญญาณ 180 องศา อาจจำเป็นกรณีที่แหล่งสัญญาณต่อสายกลับขั้ว อาจจะต้องกลับเฟส เพื่อให้ความถี่เสียงสมบูรณ์ นอกจากนี้ T2208 สามารถ Save ข้อมูลที่ปรับแต่งเก็บไว้ในหน่วยความจำได้ การใช้งานฟังก์ชันนี้จะต้องเข้าไปที่ System แล้วจะเห็นฟังก์ชัน Save จัดเก็บข้อมูลได้ 24 โปรแกรม สามารถ Save พวกซีนได้
โซนคุมฟังก์ชัน FX/Aux/Main และพารามิเตอร์ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการใช้งาน
ภาคการเชื่อมต่อเพื่อควบคุมดิจิตอลมิกเซอร์ จุดเด่นของมิกเซอร์รุ่นนี้สามารถใช้อุปกรณ์ภายนอกควบคุมได้ โดยใช้ iPad เชื่อมต่อสัญญาณผ่านโมดูล Wi-Fi (การ์ดออปชัน) ด้วยแอปพลิเคชัน T2208 แล้วเชื่อมต่อ iPad หรือต่อ LAN ผ่านไวร์เลสเราท์เตอร์ แค่นี้ก็สามารถควบคุมมิกเซอร์ได้แค่ปลายนิ้วทันที
สามารถควบคุมได้ในระยะไกลพอสมควร ไม่น้อยกว่า 15-20 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่หรือสิ่งกีดขวางหน้างาน
ลองใช้งานมิกเซอร์
ลองมาดูฟังก์ชันภายในคร่าวๆ สมมติว่า เราต้องการใช้งานในแชนแนลที่ 1 ให้เรากดแชนแนลที่ 1 ให้เป็นสีเขียว จากนั้นหากเราต้องการโยนแชนแนลที่ 1 เข้าสู่มิกเซอร์ ซึ่งเป็น Main Out ให้กดที่ปุ่ม Assign แล้วเลือก Assign to Main ผู้ใช้สามารถจิ้มผ่านหน้าจอทัชกรีนก็ได้ หรือจะกดผ่านปุ่ม Assign to Main ก็ได้ ซึ่งจะอยู่บนหน้ามิกเซอร์ เท่านี้สัญญาณจากแชนแนล 1 ก็จะวิ่งไปสู่ภาค Main เอาต์พุตทันที
กรณีเราต้องการโยนแชนแนล 1 ไปยัง Aux ต่างๆ ให้เราเลือก Aux Out 1-4 โดยต้องเลือกสัญญาณที่ต้องการเพื่อให้ไปออกที่ Aux นั้นๆ เช่น Aux 1, Aux 2 เมื่อเลือก Aux เรียบร้อยแล้ว ให้หมุนที่โวลุ่ม หรือ Parameter Adjustโดยหมุนขึ้นไปตามความดังเป้าหมายที่ต้องการ
โซนนี้มีปุ่ม DCA1-DCA6 แยกอิสระ เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก
สำหรับค่า Aux ที่มาจากโรงงาน ค่า Aux ที่ให้มาจะเป็น Pre คือสัญญาณจะแยกอิสระจากสไลด์เฟดเดอร์อินพุต หรือตัวโวลุ่มแชนแนลนั้นๆ ส่วนเอฟเฟ็กต์จะมีสถานะเป็น Post
กรณีอุปกรณ์ที่ต่อกับช่องอินพุตต้องการแรงดันไฟ 48V ให้ผู้ใช้กดที่ปุ่ม 48V ระบบจะทำการ On ให้ ในระหว่างนั้น ระบบจะถามว่า “แน่ใจหรือไม่ที่จะจ่ายไฟ 48V” ให้เราตอบ Yes/No ตามต้องการ หากกด Yes ระบบจะจ่ายไฟไปเลี้ยงอุปกรณ์ จากนั้นเราจะทำงานได้ปกติ
เมื่อออกจากหน้าฟังก์ชัน 48V แล้วก็ไปสู่หน้าฟังก์ชัน Assign หากผู้ใช้ต้องการปรับแต่งในส่วนของพาราเมทริก EQ ก็สามารถทำได้ ให้เลือก Parametric สังเกตส่วนนี้ หากเลือกเป็น parametric ก็จะปรับได้เฉพาะ Parametric อย่างเดียว แต่ในปุ่มเดียวกันมันจะสลับเป็นกราฟิก EQ ได้ด้วย แต่ฝั่งอินพุตนั้นจะไม่สามารถปรับแต่งกราฟิก EQ ได้
สำหรับ Parametric จะมีให้ทั้งหมด 4 แบนด์ความถี่ แต่ละแบนด์เลือกรูปแบบการปรับแต่งความถี่ได้ ในลักษณะระฆังคว่ำ ระฆังหงาย หรือลักษณะ Bell, Low Self, High Self สามารถทำ HPF, LPF รวมถึงการเลือกชนิดของโหมดฟิลเตอร์ Slope เช่น Linkwitz–Riley, Butterworth เป็นต้น
รอบปุ่ม Parameter Adjust มีฟังก์ชันต่างๆ สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่ต่างไปจากอะนาล็อคมิกเซอร์คือไม่สามารถเลือกค่าเหล่านี้ได้ แต่ T2208 สามารถเลือกได้ กรณีที่ไม่ต้องการใช้งานก็เลือกที่จะ Bypass ได้ รวมถึงการเลือกย่านความถี่ซึ่งไม่มีข้อจำกัดเหมือนอะนาล็อคมิกเซอร์ เช่นกำหนดฟิกซ์ความถี่ 80Hz, 100Hz, 120Hz บางครั้งความถี่ที่นอกเหนือจากที่กำหนดไม่สามารถทำได้ ขณะตัว T2208 สามารถเลือกคัตความถี่ได้ตามต้องการ
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืม กรณีการใช้พาราเมทริก EQ ต้องกด ON เสมอ ซึ่งเป็นฟังก์ชันของการปรับแต่งเสียก่อน หากไม่มีการ ON จะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ในระหว่างกรณีที่ปรับแต่งค่าต่างๆ หากผู้ใช้ไม่พอใจ สามารถ flat ตัวพาราเมทริก EQ ได้เลย แล้วทำการปรับแต่งใหม่
ฟังก์ชัน Comp/Gate หากต้องการใช้งานให้ไปเลือกที่ปุ่ม Comp/Gate หรือฟังก์ชันหน้าจอ ที่เขียนเมนู Comp/Gate จากนั้นสั่งให้ ON ไฟสีเขียวก็จะขึ้น เป็นเขียวกระพริบแดงขึ้นมา จากนั้นผู้ใช้สามารถปรับแต่งเอฟเฟ็กต์คอมเพรสเซอร์และ Gate ได้ กรณีต้องการปรับคอมเพรสเซอร์ให้จิ้มอีกครั้ง แล้วให้ ON ระบบจะโชว์ฟังก์ชัน Comp
มุมมองด้านหลังของ T-2208 สามารถเชื่อมต่อกับปลั๊กแจ็ค XLR/TRS/TS/USB และการ์ดออปชัน
สำหรับฟังก์ชัน Gate จะเป็นสีเหลืองส้ม ฟังก์ชัน Comp จะเป็นสีเขียว จากนั้นในส่วนของเอฟเฟ็กต์ เราสามารถเลือกเอฟเฟ็กต์ใช้งาน เอฟเฟ็กต์ที่ต้องการใช้มีตัวไหนบ้าง ผู้ใช้สามารถใช้งานทีละ 1 แร็คหรือทั้ง 2 แร็คพร้อมกันก็ได้ เช่น แร็คที่ 1 เป็นเอฟเฟ็กต์ Hall แร็คที่ 2 เป็นเอฟเฟ็กต์ Stereo Delay ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการ และความเหมาะสมของงานนั้นๆ
มาสเตอร์ของตัวเอฟเฟ็กต์นั้น มันจะตั้งไว้ที่ 0dB อยู่ที่ว่าเราจะตั้งอินพุตเข้าไปเท่าไหร่ กล่าวคือค่า Send อยู่ที่ผู้ใช้งาน ส่วนค่า Return ทางโรงงานตั้งไว้ที่ 0dB ซึ่งเป็นค่าที่ส่งออกไปยัง Main Mix นั่นเอง หากไม่มีการปล่อยสัญญาณฝั่ง Send เข้ามาเอฟเฟ็กต์แร็คที่ Insert ไว้ก็จะไม่ทำงาน
การ์ดออปชันที่สามารถใช้กับ T-2208
สรุป
T2208 ถือเป็นดิจิตอลมิกเซอร์คุณภาพดี ราคาประหยัด ยังจัดว่าเป็นดิจิตอลมิกเซอร์ตัวหนึ่งที่มีราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับฟังก์ชัน และคุณภาพเสียงที่ได้ ด้วยขนาดกระทัดรัด รองรับการเชื่อมต่อได้ถึง 16 ไมค์ปรี มีช่องต่อ USB สำหรับบันทึกเสียงและเพลย์แบบ 2-Tracks กรณีหากต้องการขยายขีดความสามารถก็สามารถซื้อการ์ดออปชันเพิ่มเติมได้
T2208 ยังรองรับการเชื่อมต่อ 22 อินพุต มี 12 Bus, 8 Aux และ 2 Send (ภายใน) หน้าจอเป็นทัชสกรีน LCD ขนาด 7 นิ้ว ภาคเอฟเฟ็กต์ประมวลผลด้วย DSP มีเอฟเฟ็กต์พื้นฐานครบถ้วนเช่น Gate, Compressor, 4-Bands Parametric EQ แต่ละเอาต์พุตมีกราฟิก EQ 31-Band ความถี่ใช้กันแบบจุใจไปเลย สามารถตั้ง Delay ฝั่งเอาต์พุตได้สูงถึง 300ms มี 6 DCA
ตัว T2208 สามารถควบคุมผ่าน iPad ได้ และใส่การ์ดออปชัน เช่น การ์ดบันทึกเสียงมัลติแทร็ก 32 แชนเนล ผ่าน USB รวมถึงการ์ดโมดูล Dante เน็ตเวิร์กอีกด้วย หากใครใช้อะนาล็อคมาก่อน คาดว่าคงใช้เวลาปรับตัวไม่นาน เพราะก้านสไลด์เฟดเดอร์นั้นจะไปปรากฎบนจอ LCD
บทความที่เกี่ยวข้อง :
Event 2K ลำโพงคอลัมน์แบรนด์ Topp Pro
Review | ชุดลำโพงเคลื่อนที่ Topp Pro VA42.12
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท นัฐพงษ์ เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด
สำนักงานใหญ่บ้านหม้อ โทร 0-2225-0094
สาขาเซียร์รังสิต โทร 0-2992-7379
สาขาศาลายา โทร 0-2889-5496
หากสนใจสั่งซื้อสินค้าสามารถแวะเยี่ยมชมได้ทางเว็ปไซต์ www.mynpe.com และผ่านทาง Fanpage ของบริษัทได้ที่ www.facebook.com/mynpethailand หรือจะเข้ามา Follow twitter, Instagram, Line@ ของบริษัทก็ได้เช่นกันที่ @myNPEThailand ตามช่องทางที่สะดวก