Steinberg UR-C Series ออดิโออินเทอร์เฟซคุณภาพสูง

UR-C-Banner-hi-1200-628px

 “Steinberg UR-C Series 32-bit/192kHz เชื่อมต่อผ่าน USB 3.0 แถมซอฟต์แวร์ Cubase AI ฟรี”

หลังจาก Steinberg ประสบความสำเร็จในตลาดออดิโออินเทอร์เฟซมาหลายปี ล่าสุดได้เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ นั่นคือ UR-C Series ใน Series นี้ถือเป็นหนึ่งในไลน์การผลิตของ UR ซึ่งประกอบด้วย UR รุ่นปกติ และ UR-RT Series สำหรับ UR-C ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 รุ่นได้แก่ UR22C, UR44C, UR816C ใน Series นี้มีจุดแข็งคือเรื่องค่าแซมปลิ้งเรทสูง ถ่ายโอนข้อมูลเร็ว และมีความเสถียร


  • รองรับการบันทึกเสียงสูงสุด 32-bit/192kHz เชื่อมต่อผ่าน USB 3.0 มี DSP พร้อมปลั๊กอินคุณภาพจาก Yamaha
  • แถมฟรีซอฟต์แวร์ DAW อาทิ Cubase AI, Cubase LE ใช้งานได้ทั้งบนเครื่อง PC, MAC, iPad และ iPhone
  • คุณภาพเสียงระดับอาชีพ วงจรไมค์ปรี D-PRE ออกแบบจุดเชื่อมต่ออินพุต/เอาต์พุตไว้หลากหลาย สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เครื่องดนตรีและไมโครโฟนได้ทุกชนิด

steinberg ur-c

UR-C นั้นถือเป็นออดิโออินเทอร์เฟซรุ่นแรกๆ ของตลาดที่พยายามสร้างมาตรฐานใหม่ให้ล้ำหน้าคู่แข่ง ในอดีตจากตลาดทั่วโลกทุกๆ กลุ่มผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโปรดิวเซอร์ไปจนถึงวงดนตรีที่ดังๆ รวมถึงกลุ่ม YouTubers ต่างให้การยอมรับออดิโออินเทอร์เฟซ UR Series เพราะมีความโดดเด่นทั้งเรื่องคุณภาพเสียง ความนิ่ง ใช้งานได้หลากหลาย พกพาสะดวก

ในรุ่นใหม่นี้ทาง Steinberg ได้เปิดตัว UR-C ซึ่งคาดว่ามันจะทำเรื่องของการบันทึกเสียงก้าวกระโดดไปอีกขั้น และผู้ใช้จะได้สัมผัสกับคุณภาพเสียงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อเทียบกับคู่แข่ง นับตั้งแต่ UR รุ่นก่อนหน้ามาจนถึงรุ่นล่าสุด ยังคงความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายยิ่งขึ้น เพราะแถม License ซอฟต์แวร์ Cubase AI, Cubasis LE, dspMixFX mixing, Bundled effects ให้ฟรี และในรุ่น UR-C Series ยังสามารถใช้งานกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนได้อีกด้วย

ภาพรวม Steinberg UR-C Series

UR22C

steinberg ur22c
มุมมองด้านหน้าและด้านหลัง UR22C เป็นรุ่นเล็กสุดใน Series นี้


เป็นออดิโออินเทอร์เฟซรุ่นเล็กสุดใน Series นี้ โดยรองรับการส่งข้อมูลผ่านพอร์ต USB 3.0 มีช่องต่อ MIDI สามารถเลือกสลับแหล่งจ่ายไฟจากบัสของ USB 3.0 หรืออะแด็ปเตอร์/แบตสำรอง DC 5V ได้ คือจะใช้ไฟจากอะแด็ปเตอร์หรือไม่ก็ได้ เนื่องจากอุปกรณ์รุ่นนี้ต้องการกระแสไม่สูง จึงสามารถใช้แรงดันไฟร่วมกับบัส USB ได้

อย่างไรก็ดี ในกรณีเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ iPad, iPhone ต้องเชื่อมต่อกับแหล่งจ่ายไฟแยกต่างหาก ตัว UR22C สามารถบันทึกเสียงได้สูงสุดที่ 32-bit/192kHz ต่ออินพุตได้ 2 ช่อง เป็นคอมโบแจ็ค

มีช่องหูฟังหนึ่งช่องพร้อมโวลุ่มควบคุมความดัง มีโวลุ่มควบคุมสัญญาณเอาต์พุตด้านหลัง ซึ่งมักจะเชื่อมต่อกับสตูดิโอมอนิเตอร์ รองรับแพนทอมเพาเวอร์ สามารถใช้กับไมโครโฟนชนิดคอนเด็นเซอร์ได้ ที่ขาดไม่ได้คือวงจรไมค์ปรี D-PRE ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของ Yamaha ให้คุณภาพเสียงเทียบเท่าไมค์ปรีบนมิกเซอร์ของ Yamaha

UR22C Recording Pack

stienberg ur22c pack
ชุดแพ็คเกจสำหรับการบันทึกเสียง จัดมาเป็นเซต ประกอบด้วย UR22C หูฟังและไมโครโฟนแบบคอนเด็นเซอร์


เป็นแพ็คเกจพิเศษที่ทาง Steinberg มอบให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ขาดอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ไมโครโฟนและหูฟัง ในราคาประหยัด ส่วนใหญ่มักจะเป็นมือใหม่ สามารถใช้ทำเพลงบนคอมพิวเตอร์หรือบน iPad ได้เลย เรียกว่าจบทุกอย่างในแพ็คเกจเดียว โดยแพ็คเกจนี้จะแถมไมโครโฟนชนิดคอนเด็นเซอร์ของ Steinberg รุ่น ST-M01 ให้เสียงที่เคลียร์ ตอบสนองดี ความไวสูง เหมาะกับเสียงร้องและเครื่องดนตรีบางชนิด และยังแถมหูฟังแบบครอบศีรษะรุ่น ST-H01 ใช้ทำหน้าที่เสมือนลำโพงสตูดิโอมอนิเตอร์ สามารถเช็คเสียงขณะกำลังบันทึกหรือขั้นตอนการมิกซ์ได้

หูฟังรุ่นนี้ออกแบบในลักษณะ Close-backed หมายความว่าเสียงจากหูฟังจะไม่เล็ดลอดออกมารบกวนไมโครโฟนในขณะที่เราร้องเพลง ทำให้ได้เสียงร้องที่สะอาด สุดท้ายที่ถือว่าเซอร์ไพร์สมากคือเฉพาะแพ็คเกจนี้ได้แถม License ซอฟต์แวร์ WaveLab LE ซึ่งใช้บันทึก/ตัดต่อ Wave รวมถึงขั้นตอนการทำมาสเตอริ่งอีกด้วย

UR44C

steinberg ur44c
UR44C เป็นรุ่นขนาดกลางของซีรี่ส์นี้ เชื่อมต่อได้ 6 Input และ 6 Output เหมาะกับผู้ต้องการบันทึกเสียงพร้อนกันหลายๆ ชิ้น


เป็นออดิโออินเทอร์เฟซรุ่นกลางของ Series นี้ โดยเชื่อมต่อกับพอร์ต USB 3.0 มีช่องต่อ MIDI IN/OUT สามารถเลือกสลับแหล่งจ่ายไฟจากบัสของ USB 3.0 หรืออะแด็ปเตอร์ DC 12V ได้ คือจะใช้ไฟจากอะแด็ปเตอร์หรือไม่ก็ได้ รุ่นนี้ต้องการแรงดันสูงขึ้น แต่ยังสามารถใช้แรงดันไฟร่วมกับบัส USB 3.0 ได้ ตัว UR44C สามารถบันทึกเสียงได้สูงสุดที่ 32-bit/192kHz ต่ออินพุตได้ 6 ช่อง ต่อเอาท์พุต 6 ช่อง เป็นคอมโบแจ็คและแจ็คโฟน

ด้านหลังมีช่อง LINE INPUT, LINE OUTPUT และ MAIN OUTPUT สำหรับเชื่อมต่อกับสตูดิโอมอนิเตอร์ มีช่องหูฟัง 2 ช่องพร้อมโวลุ่มควบคุมความดังแยกอิสระ มีโวลุ่มควบคุมสัญญาณเอาต์พุตด้านหลัง รองรับแพนทอมเพาเวอร์ สวิตซ์ 48V มี 2 ชุด สามารถใช้กับไมโครโฟนชนิดคอนเด็นเซอร์ได้ พร้อมวงจรไมค์ปรี D-PRE แยกอิสระ 4 ช่อง คุณภาพเสียงเทียบเท่าไมค์ปรีบนมิกเซอร์ของ Yamaha แถม License ซอฟต์แวร์ Cubase AI, Cubasis LE และ dspMixFX mixing App

UR816C

steinberg ur816c
UR816C รุ่นเรือธงของซีรี่ส์นี้ รองรับการเชื่อมต่อ Input และ Output จำนวน 16 ช่อง พร้อมกับช่องต่อ Wordclock และ Optical


เป็นออดิโออินเทอร์เฟซรุ่นท็อปของ Series นี้ โดยเชื่อมต่อกับพอร์ต USB 3.0 เช่นเดียวกับ UR22C และ UR44C มีช่องต่อ MIDI IN/OUT รุ่นนี้ไม่สามารถเลือกสลับแหล่งจ่ายไฟจากบัสของ USB 3.0 และอะแด็ปเตอร์ได้ ต้องต่อกับอะแด็ปเตอร์ DC 16V เท่านั้น รุ่นนี้ต้องการแรงดันไฟสูงขึ้นอีก ตัว UR816C มีขนาด 1U ติดตั้งในตู้แร็คได้ สามารถบันทึกเสียงได้สูงสุดที่ 32-bit/192kHz มีช่องต่อ Wordclock IN/OUT และ OPTICAL IN/OUT

ส่วนสัญญาณอะนาล็อค ต่ออินพุตได้ 16 ช่อง ต่อเอาท์พุต 16 ช่อง เป็นคอมโบแจ็คและแจ็คโฟน ด้านหลังมีช่อง LINE INPUT, LINE OUTPUT และ MAIN OUTPUT สำหรับเชื่อมต่อกับสตูดิโอมอนิเตอร์ มีช่องหูฟัง 2 ช่องพร้อมโวลุ่มควบคุมความดังแยกอิสระ มีโวลุ่มควบคุมสัญญาณเอาต์พุตด้านหลัง รองรับแพนทอมเพาเวอร์ สวิตซ์ 48V มี 2 ชุด สามารถใช้กับไมโครโฟนชนิดคอนเด็นเซอร์ได้ พร้อมวงจรไมค์ปรี D-PRE แยกอิสระ 8 ช่อง คุณภาพเสียงเทียบเท่าไมค์ปรีบนมิกเซอร์ของ Yamaha แถม License ซอฟต์แวร์ Cubase AI, Cubasis LE และ dspMixFX mixing App ด้านหน้าเครื่องมีสวิตซ์เปิด/ปิด

ur-c 32-bit
UR-C ซีรี่ส์รองรับการบันทึกเสียง 32-Bit/192kHz ถือเป็นออดิโออินเทอร์เฟซตัวแรกๆ ที่ผลิตสู่ตลาดในราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้

รูปลักษณ์ภายนอก Steinberg UR-C

เมื่อสำรวจภายนอกเริ่มจากฝั่งด้านหน้า

UR22C – ซ้ายมือสุดจะพบชุดมัลติอินพุตแบบ XLR/TRS/TS จำนวนสองช่อง พร้อมกับเกนควบคุมความดังของสัญญาณอินพุตแยกกันอิสระ ด้านข้างจะมีสวิตซ์เลือกประเภทอิมพีแดนซ์ของอินพุตช่องที่ 2 หรือ Hi-Z ซึ่งใช้ในการต่อกับอุปกรณ์อย่างกีตาร์และเบสไฟฟ้า แต่ละอินพุตจะมีหลอด LED ใช้สำหรับวัดระดับการพีคของสัญญาณที่ส่งเข้ามา พร้อมกันนี้ยังมีไฟบอกสถานะของแพนทอมพาวเวอร์ +48V

ถัดไปมีลูกบิด MIX ใช้ปรับบาลานซ์ของสัญญาณอินพุตและ DAW พร้อมด้วยช่องต่อกับหูฟังและลูกบิด PHONES และลูกบิดขนาดใหญ่คุม OUTPUT สำหรับด้านหลังของอุปกรณ์จะพบสวิตซ์เลือกแหล่งรับแรงดันไฟ DC สามารถต่อกับพอร์ต USB 3.0 หรือช่อง 5 V DC ถัดไปจะเห็นสวิตซ์เปิด/ปิด แพนทอมพาวเวอร์ ด้านข้างเป็นช่องสำหรับต่อพอร์ต MIDI In/Out ถัดไปเป็นช่องไลน์เอาท์พุตขนาด 1/4 นิ้ว L/R ใช้กับแจ็คโฟน ช่องนี้สามารถใช้เพื่อต่อกับลำโพงมอนิเตอร์ หรือต่อสัญญาณเข้าบอร์ดมิกเซอร์ก็ได้

ur-c usb 3.0
UR-C รองรับการเชื่อมต่อ USB 3.0 แบบ Type-C ทำให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้ยืดหยุ่น โดยมีแบนด์วิธถ่ายโอนข้อมูลได้มากขึ้น แม้โปรเจคมีแทร็กจำนวนนับร้อยก็ตาม


UR44C – เมื่อสำรวจด้านหน้าเครื่องทางฝั่งซ้ายมือสุดจะพบชุดมัลติอินพุตแบบ XLR/TRS/TS หรือคอมโบแจ็ค จำนวน 4 ช่อง พร้อมกับเกนควบคุมความดังของสัญญาณอินพุตแยกกันอิสระเรียงกันจำนวน 4 ตัว รุ่นนี้จะไม่มีสวิตซ์เลือกประเภทอิมพีแดนซ์ของอินพุต นั่นหมายถึงทุกช่องสามารถใช้กับอุปกรณ์ไมค์หรือประเภท Hi-Z ได้เลย อาจเป็นกีตาร์และเบสไฟฟ้า ฯลฯ

ด้านบนแต่ละอินพุตจะมีหลอด LED วัดระดับการพีคของสัญญาณอินพุต พร้อมกันนี้ยังมีไฟบอกสถานะของแพนทอมพาวเวอร์ +48V รุ่นนี้ไม่มีลูกบิด MIX มีสวิตซ์เปิด/ปิดแรงดันไฟ +48V 2 ชุด มีช่องต่อกับหูฟังและลูกบิด PHONES อีก 2 ชุด และลูกบิดขนาดใหญ่คุม OUTPUT

สำหรับด้านหลังของอุปกรณ์จากฝั่งซ้ายมือจะพบสวิตซ์เลือกแหล่งรับแรงดันไฟ DC สามารถต่อกับพอร์ต USB 3.0 หรือใช้กับอะแด็ปเตอร์ขนาด 12 V DC ถัดด้านข้างมีช่องสำหรับต่อพอร์ต MIDI In/Out ถัดไปเป็นช่อง MAIN OUTPUT ใช้ต่อกับลำโพงมอนิเตอร์หรือมิกเซอร์ และถัดมาเป็น LINE OUTPUT 4 ช่อง ขนาด 1/4 นิ้ว ใช้กับแจ็คโฟน ถัดไปช่อง LINE INPUT ช่องนี้สามารถใช้ต่อกับสัญญาณประเภท Line เช่นคีย์บอร์ดหรือเครื่องเล่นอื่นๆ

ur-c midi
UR-C รองรับการเชื่อมต่อ MIDI In/Out พอร์ตเก่าแก่ สามารถใช้งานกับคีย์บอร์ด หรือคอนโทรลเลอร์ภายนอกได้ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เป็น MIDI


UR816C – หากสำรวจด้านหน้าเครื่องจากฝั่งซ้ายมือสุดจะพบชุดมัลติอินพุตแบบ XLR/TRS/TS หรือคอมโบแจ็ค จำนวน 4 ช่อง ด้านข้างของช่องคอมโบจะมีเกนควบคุมความดังของสัญญาณอินพุตแยกกันอิสระ สลับคั่นกันจำนวน 4 ตัว เหนือเกนแต่ละตัวจะมี LED แสดงระดับการพีคของสัญญาณอินพุต รุ่นนี้ไม่มีสวิตซ์เลือกประเภทอิมพีแดนซ์ของอินพุต เหมือนกับ UR44C ทุกช่องจึงสามารถใช้กับอุปกรณ์ไมค์หรือประเภท Hi-Z ได้ ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์และเบสไฟฟ้า คีย์บอร์ด ไมโครโฟน และ ฯลฯ

ถัดมาจะมีปุ่ม PAD ใช้ลดทอนสัญญาณอินพุต ด้านข้างมีลูกบิดควบคุมเกนอินพุตเรียงกันอีก 5 ตัว ใช้คุมสัญญาณอินพุตที่ต่อด้านหลังเครื่อง พร้อมกันนี้ด้านบนยังมีไฟบอกสถานะของแพนทอมพาวเวอร์ +48V ที่อยู่กับสวิตซ์เปิด/ปิด +48V จำนวน 2 ชุด รุ่นนี้ไม่มีลูกบิด MIX Input/DAW

ur-c cuabse
UR-C ถูกผนวกเข้าไปส่วนหนึ่งของ Cubase สามารถควบคุมบางฟังก์ชันผ่านซอฟต์แวร์ได้ รวมถึงหน้าต่างมิกเซอร์และปลั๊กอิน Yamaha ที่มาพร้อมกับอินเทอร์เฟซซีรี่ส์นี้


ถัดมามีช่องต่อกับหูฟังและลูกบิด PHONES อีก 2 ชุด และลูกบิดขนาดใหญ่คุม OUTPUT รุ่นนี้มีสวิตซ์ Mute/DIM มีไว้เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารระหว่างเอ็นจิเนียร์และนักร้องที่อยู่ในห้องร้องกับห้องคอนโทรล เช่นหากกด Mute จะทำให้สัญญาณที่ออกจาก Main Output ปิด หากกด Dim จะทำให้สัญญาณนั้นๆ ถูกส่งไปยัง Main Output

สำหรับด้านหลังของอุปกรณ์จากฝั่งซ้ายมือจะพบช่องรับแรงดันไฟ DC 16V โดยต่อกับอะแด็ปเตอร์โดยตรง ถัดมาเป็นพอร์ต USB 3.0 ด้านข้างจะมีช่อง Wordclock In/Out และช่อง In/Out แบบดิจิตอล Optical และด้านข้างเป็นช่องสำหรับต่อพอร์ต MIDI In/Out ถัดไปเป็นช่อง MAIN OUTPUT จำนวน 2 ช่อง ใช้ต่อกับลำโพงมอนิเตอร์หรือมิกเซอร์

และถัดมาเป็น LINE OUTPUT 8 ช่อง ขนาด 1/4 นิ้ว ใช้กับแจ็คโฟน ถัดไปช่อง LINE INPUT แบบ คอมโบ ช่องนี้สามารถใช้ต่อกับสัญญาณประเภท Line เช่นคีย์บอร์ดหรือเครื่องเล่นอื่นๆ ได้เหมือนกับฝั่งด้านหน้าอุปกรณ์

ur-c dsp
UR-C ภายในมีชิป DSP เอฟเฟ็กต์ที่ใช้รันปลั๊กอิน Yamaha REV-X และปลั๊กอินจำลองเอฟเฟ็กต์กีตาร์ พร้อมกับระบบมอนิเตอร์ระดับ Zero-latency

มาพร้อมกับ DSP

UR-C Series ไม่ได้เป็นแค่ออดิโออินเทอร์เฟซธรรมดา เพราะแถมฟีเจอร์ DSP มาด้วย โดยทั้ง 3 รุ่นรองรับระบบมอนิเตอริ่งแบบ Zero-Latency คือไม่มี Latency ทำให้ขณะบันทึกเสียงไม่ต้องกังวลเรื่องการหน่วงของสัญญาณอินพุต บนบอร์ดมีชิป DSP รุ่น SSP3 มีการผนวกระบบมอนิเตอริ่งกับ Cubase เป็นส่วนเดียวกัน มีฟังก์ชัน High-pass ฟิลเตอร์ มีเอฟเฟ็กต์รีเวิร์บ REV-X และมี Sweet Spot Morphing Channel Strip

ฟีเจอร์โดดเด่นของ Steinberg UR-C

ความพิเศษของ UR-C Series คือรองรับ iOS สามารถใช้งานบน iPad บันทึกเสียงผ่าน Cubasis ส่วน iPhone สามารถทำ Live Streaming โดยอาศัยฟังก์ชัน Loopback อีกทั้งยังแถมชุดปลั๊กอินเอฟเฟ็กต์ที่ยกเซตให้ฟรี รองรับ VST3 และ AU ทั้งหมดรันบนชิป DSP บนตัว UR-C ไม่รบกวนพลัง CPU ของคอมพิวเตอร์ เช่น REV-X เอฟเฟ็กต์ที่มีอัลกอริทึมรีเวิร์บที่เคยโด่งดังของ Yamaha พร้อมกับ Channel Strip ที่สามารถปรับแต่งเสียงได้แบบรีลไทม์ และยังมีปลั๊กอินแอมป์สำหรับกีตาร์ที่จำลองตู้แอมป์ Yamaha ในตำนาน มีให้เลือก 4 โหมด คือ Clean, Crunch, Drive และ Lead

cubasis ipad
UR-C สามารถเชื่อมต่อกับ iPad โดยรันซอฟต์แวร์ Cubasis สามารถบันทึกเสียงได้ในแบบเดียวกับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ค

ความเข้ากันได้

UR22C, UR44C และ UR816C สามารถทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ DAW หรือแม้กระทั่งซอฟต์แวร์พวกมัลติมีเดียต่างๆ ทุกตัว ทั้งบน

  • Windows (Windows 7 (64-bit), Windows 8.1 (64-bit), Windows 10 (64-bit)
  • แมคฯ (macOS Sierra, macOS High Sierra, macOS Mojave)
  • iPad, iPhone (iOS 10, iOS 11, iOS 12)

สามารถต่อกับพอร์ต USB Type-C, USB 3.0, USB 2.0 ได้ ซึ่งทาง Steinberg ได้พัฒนาไดรเวอร์ให้รองรับระบบปฎิบัติการทั้ง 3 แบบ อย่างไรก็ดี ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดไดรเวอร์รุ่นใหม่ๆ จากเว็บไซต์ของ Steinberg ได้ตลอด

ur-c ipad
บน iPad ผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่า Reverb Time, Initial Delay, Decay และอื่นๆ ผ่านปลั๊กอิน REV-X ของ Yamaha ซึ่งมาพร้อมกับ UR-C ได้เหมือนแอปพลิเคชันทั่วไป

สรุป..เลือกรุ่นไหนดี

หากการทำงานของเราไม่ได้ซับซ้อน การเลือก UR22C ถือเป็นทางเลือกแรก สามารถต่อกับไมค์หรือเครื่องดนตรีอัดสดพร้อมกันได้ หากต้องการบันทึกเสียงจากเครื่องดนตรีหลายๆ ชิ้นพร้อมกัน คือมากกว่า 2 ชิ้นขึ้นไป UR44C ถือเป็นทางเลือกใหม่ และหากเป็นมือใหม่ที่ต้องการอุปกรณ์พื้นฐานครบชุด ควรเลือกเป็นแพ็คเกจ Recording ซึ่งจะแถมไมค์และหูฟังให้

live stream
UR-C สามารถเชื่อมต่อกับ iPhone เพื่อทำการ Live Streaming ผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นช่องทาง Instagram, Facebook และ YouTube ก็ตาม


ถ้าหากมีการบันทึกเสียงอุปกรณ์หลายๆ ชิ้นพร้อมกัน มากกว่า 4 ชิ้น เช่นการบันทึกกลองชุด ควรเลือกเป็น UR816C ในรุ่นนี้ยังอำนวยความสะดวกในกรณีที่เราไม่ต้องการถอดแจ็คเข้าๆ ออกๆ สามารถเสียบอุปกรณ์แต่ละชิ้นแช่ไว้เลยก็ได้ เช่น กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด ซินธิไซเซอร์ ไมโครโฟน สำหรับคุณภาพเสียงนั้น รุ่น UR22C และ UR44C คุณภาพเสียงจะไม่ต่างกัน แต่ในรุ่น UR816C จะมีไดนามิกเร้นจ์ของอินพุตสูงกว่าทั้ง 2 รุ่นคือ 106dB ขณะที่ UR22C, UR44C จะเท่ากับ 102dB

บทความที่เกี่ยวข้อง :

Review | Steinberg UR-RT4 ออดิโออินเทอร์เฟซระดับ Hi-End

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท  สยามดนตรียามาฮ่า  จำกัด 
เพจ Yamaha Pro Audio Thailand
โทร.  (02) 215-2626-39

Read Previous

MahajakPro Year End Sale 2019

Read Next

Yamaha CS-700 | Video Sound Bar