“MRX7-D เป็นโพรเซสเซอร์ที่ใช้ออกแบบเพื่อจัดการระบบเสียง เป็นได้ทั้งมิกเซอร์ เอฟเฟ็กต์ และครอสโอเวอร์ รันได้สูงสุด 64 แชนเนล”
ปัจจุบันความต้องการระบบเสียงของห้องประชุมองค์กร สถาบันการศึกษา ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่างๆ นับวันจะมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้น Yamaha MRX7-D เป็นผลิตภัณฑ์โพรเซสเซอร์ที่อยู่ในกลุ่ม CIS (Commercial Installation Solutions) ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับงานติดตั้ง สามารถช่วยควบคุมระบบเสียงเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้
โดยเฉพาะในงานติดตั้งถาวร นั่นเพราะ MRX7-D มีสถาปัตยกรรมที่เอื้อให้ผู้ใช้สามารถออกแบบระบบฟังก์ชันได้อย่างอิสระ ผู้ออกแบบสามารถเขียนระบบเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างให้กับลูกค้าแต่ละราย ในลักษณะจำเพาะเจาะจง หรือในสถานที่ที่แตกต่างกัน กล่าวคือแม้ลูกค้าแต่ละรายอาจมีโจทย์ที่ต่างกันก็ตาม
แต่ผู้ออกแบบสามารถกำหนด MRX7-D ให้ทำงานร่วมกับสภาพแวดล้อมที่ต่างกันได้ โดยการเชื่อมโยงคอมโพเน้นต์สำเร็จรูปเข้าหากัน แล้วทำการคอมไพล์ผ่านซอฟต์แวร์ ซึ่งโค้ดเหล่านั้นจะถูกนำไปประมวลผลผ่าน DSP ของอุปกรณ์อีกที จากนั้นโพรเซสเซอร์จะทำงานตามฟังก์ชันที่ออกแบบไว้
ตัวอย่างแผนผังการออกแบบโครงการสำหรับงานติดตั้ง ไม่ว่าระบบจะมีความซับซ้อนเพียงใด MRX7-D สามารถตอบโจทย์ได้
อย่างไรก็ดี MRX7-D ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบ Dante เน็ตเวิร์ก ซึ่งในท้องตลาดมีอุปกรณ์ที่รองรับเน็ตเวิร์กดังกล่าวอย่างมากมาย รวมไปถึงสินค้า Yamaha เช่น ดิจิตอลมิกเซอร์ เพาเวอร์แอมป์ ลำโพงรุ่นต่างๆ ที่มักจะลงท้ายด้วยรหัส “D” และนั่นทำให้ผู้ใช้สามารถผนวกสัญญาณออดิโอเป็นระบบเดียวกันได้อย่างง่ายดาย
MRX7-D ติดตั้งใช้งานร่วมกับรีโมท DCP ที่ Audioversity สยามดนตรียามาฮ่า
ยืดหยุ่นการต่อขยายระบบ
MRX7-D ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของ Dante เน็ตเวิร์กอย่างมาก เพราะมันช่วยเพิ่มให้ระบบมีความยืดหยุ่นและสามารถขยายระบบเสียงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของโครงการกลับถูกลง ผู้ใช้สามารถจัดการกระจายช่องสัญญาณเสียงจำนวนมากไปในระยะไกล เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในระบบพร้อมกัน
MRX7-D รองรับ Dante เน็ตเวิร์ก ทำให้สามารถขยายระบบด้วยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ อาทิ ไมโครโฟน โพรเซสเซอร์ ดิจิตอลมิกเซอร์และเพาเวอร์แอมป์ที่รองรับ Dante
มีอุปกรณ์ระบบเสียงในท้องตลาดจำนวนมากที่รองรับ Dante เช่น ไมโครโฟน ตัวประมวลผล ดิจิตอลมิกเซอร์ และเพาเวอร์แอมป์ ดังนั้น MRX7-D จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะกับงานโครงการขนาดกลางไปจนถึงระบบขนาดใหญ่
Sound System Design
ซอฟต์แวร์ MTX-MRX Editor เป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบระบบเชิงตรรกะ มันสามารถทำให้สัญญาณถูกปล่อยออกมา ราวกับว่ามีอุปกรณ์แอนาลอกและดิจิตอลถูกติดตั้งในเชิงกายภาพไว้บนตู้แร็คจริงๆ โดยขั้นตอนการออกแบบมี 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ
- เซตอัพอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ภายนอกเข้าหากันด้วยซอฟต์แวร์
- เซตอัพฟังก์ชันที่ต้องการใช้งานด้วยการเขียนคอมโพเน้นต์
- เซตอัพอุปกรณ์คอนโทรลเลอร์ภายนอกให้รู้จักกัน
สำหรับ MTX-MRX Editor ได้รวมซอฟต์แวร์ MRX Designer ไว้ภายใน ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการเขียนระบบต่างๆ ช่วยให้ระบบเหล่านั้นใช้งานง่าย มีความยืดหยุ่นสูง และมีสมรรถนะในการสร้างระบบเสียงได้หลากหลาย คุณสมบัติอันโดดเด่นที่ทำให้ผู้ออกแบบสามารถสร้างระบบที่มีขนาดใหญ่ได้ นั่นคือระบบเมทริกซ์ 64×64 ถือว่าเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่มาก
MTX-MRX Editor คือหัวใจของการออกแบบระบบ
และยังมีฟังก์ชัน Dan Dugan Automixing, Acoustic Echo Canceling รวมถึงคอมโพเน้นต์อื่นๆ ที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ MTX/MRX ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหางานติดตั้งถาวรที่ต้องการควบคุมหลายๆ โซนพร้อมกัน มันมีฟังก์ชันการประมวลผล ที่มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการควบคุม ซึ่งจำเป็นต่อการใช้งานที่ต้องการความหลากหลาย MTX/MRX จึงถือเป็นอุปกรณ์ DSP ที่ Yamaha ได้ผลิตขึ้นเพื่องานติดตั้งโดยเฉพาะ
รายชื่อคอมโพเน้นต์
Acoustic Echo Canceller | Input/Output (Input, Output, SD CARD, SLOT) | |
Ambient Noise Compensator | Meter | |
Auto Gain Control | Mixer (Delay Matrix, Dugan Automixer, Matrix Mixer) | |
Combiner (Room Combiner, Room Combiner + Automixer) | Oscillator | |
Delay | Polarity | |
Dynamics (Compressor, Ducker, Gate, Limiter, Paging Ducker) | Revolabs Control Component | |
Effect | Router | |
EQ (GEQ, PEQ) | Source Selector | |
Fader | Speaker Processor | |
Feedback Suppressor (Pitch Shift FBS/Notch FBS) | Speech Privacy | |
Filter (HPF, LPF, BPF) | Transmitter / Receiver |
ตัวอย่างไดอะแกรมของคอมโนเน้นต์ที่ออกแบบโดยซอฟต์แวร์ MRX Designer
อุปกรณ์ออปชันเสริม
หากมองจากมุมของลูกค้าจะพบว่า ในการควบคุมระบบเสียงของพวกเขานั้น มันไม่สำคัญว่าระบบได้ถูกออกแบบไว้จะมีความซับซ้อนเพียงใด เพราะ Yamaha มีอุปกรณ์ Options ที่หลากหลายเพื่อใช้สำหรับควบคุมระบบระยะไกล ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ DCP ใช้ติดผนังห้อง หรือจะเป็นอุปกรณ์ไร้สายที่สามารถใช้งานผ่านมือถือที่รันระบบปฎิบัติการ iOS หรือแอนดรอยด์ รวมถึงแท็บเล็ต
Yamaha มีอุปกรณ์ประเภทรีโมทไว้รองรับการใช้งานหลากหลายชนิด
นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์ควบคุมชื่อ MCP1 ใช้ติดผนัง สามารถตั้งโปรแกรมได้ หรือจะเป็น PGM1 ไมโครโฟนเพจจิ้ง รวมทั้งยังมีแอปพลิเคชัน ProVisionare Touch และ ProVisionaire Control ไว้ใช้สำหรับ iPad และ Windows ซึ่งรองรับระบบ Dante เน็ตเวิร์กให้สามารถจัดการและควบคุมให้กับระบบเสียงทั้งหมดได้อย่างง่ายดาย
คุณสมบัติที่โดดเด่น
MRX7-D มีฟังก์ชันจำนวนมากถูกบรรจุไว้ในอุปกรณ์ขนาด 2U ฟังก์ชันเหล่านี้เรียกว่าคอมโพเน้นต์ เพราะเป็นอุปกรณ์ประเภท DSP หน้าที่หลักจึงใช้ประมวลเชิงสัญญาณ ลองมาทำความรู้จักกับ MRX7-D กันสักหน่อย ตัวฮาร์ดแวร์แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- ภาคอินพุต
- ภาคเอาท์พุต
ทั้งฝั่งอินพุตและเอาท์พุตนั้นสามารถรับสัญญาณได้ 2 ชนิดคือแอนาลอกและดิจิตอล โดยฝั่งอินพุตอะนาลอกสามารถเชื่อมต่อ Mic/Line ได้ 8 แชนเนล และ Line RCA ได้ 4 แชนเนล รับสัญญาณผ่าน Dante เน็ตเวิร์กได้สูงสุด 64 แชนเนล และรับสัญญาณผ่าน YDIF ได้ 16 แชนเนล
สำหรับฝั่งเอาท์พุตสามารถเชื่อมต่อแอนาลอกได้ 8 แชนเนล ส่งสัญญาณดิจิตอลผ่าน Dante เน็ตเวิร์กได้สูงสุด 64 แชนเนล และ YDIF ได้ 16 แชนเนล
ในการจัดการสัญญาณทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งระดับความดังของไมโครโฟน สัญญาณจากเครื่องเล่นแผ่น CD/Blu-ray และอินพุตอื่นๆ สามารถประมวลผลด้วย MRX7-D เช่น การปรับ EQ ใส่เอฟเฟ็กต์ต่างๆ และกระจายสัญญาณเหล่านั้นไปยังเพาเวอร์แอมป์หรือคอนโทรลเลอร์ที่อยู่ภายนอก จะเห็นว่าสัญญาณทั้งหมดสามารถจัดการด้วยอุปกรณ์เพียงตัวเดียว
MRX7-D มีช่องสำหรับ SD Card สามารถเล่นไฟล์ MP3 หรือ WAV ได้ ซึ่งไฟล์เหล่านี้สามารถเข้าถึงหรือจัดการผ่านรีโมทระยะไกล หรือตั้งเป็นพรีเซตเสียงประกาศ เสียงเตือน โดยส่งไปในระบบบรอดคาสต์ตามที่ตั้งลำดับเวลาไว้ สุดท้าย SD Card สามารถรับคำสั่งทริกเกอร์จาก PGM1 ได้อีกด้วย
ขยายระบบด้วยออปชันการ์ด
ตัว MRX7-D สามารถขยาย I/O ด้วยอุปกรณ์ชื่อว่า EXi8 และ EXo8 รองรับ Mic/Line ฝั่งอินพุต/เอาท์พุต 8 ช่องสัญญาณ หรือ 8 ช่องเอาท์พุตอะนาลอก MRX7-D สามารถส่งสัญญาณในรูปแบบ YDIF ของ Yamaha ได้ระยะไกลถึง 30 เมตร
MRX7-D ยังมีช่องด้านหลังเครื่องอีกหนึ่งช่อง สำหรับเสียบการ์ด Mini-YGDAI โดยช่องดังกล่าวสามารถใช้การ์ดเสริมของ Yamaha เพื่อเพิ่มความสามารถตัวอุปกรณ์ หรือขยาย I/O ได้อีก 16 ช่องสัญญาณ
MRX7-D สามารถติดตั้งการ์ดชนิด Mini-YGDAI เพิ่มได้ เช่นการ์ด Lake Processing เพื่อใช้ FIR ฟิลเตอร์
จุดแข็งของการวางระบบด้วย Dante เน็ตเวิร์กนั้น สามารถช่วยลดต้นทุนสายสัญญาณแบบเดิมได้ และยังเหมาะกับการติดตั้งระบบขนาดใหญ่ ในส่วนการเชื่อมต่อผ่าน YDIF เหมาะกับระบบขนาดกลาง ดังนั้น ผู้ใช้จึงมีทางเลือกในการออกแบบระบบได้ตามความเหมาะสม
MRX7-D สามารถส่งสัญญาณได้ 64 แชนเนล @ 44.1kHz/48kHz ผ่าน Dante เน็ตเวิร์ก สามารถเชื่อมต่อในลักษณะ redundant ได้ โดยอุปกรณ์ถูกออกแบบให้ทำงานง่าย แม้ระบบเสียงที่ออกแบบไว้จะมีขนาดใหญ่ก็ตาม