“หม้อแปลงของ Rupert Neve จะช่วยเพิ่มคุณภาพเสียง ไม่ว่าคุณจะนำไปใช้กับ DAW ตัวใดก็ตาม”
ปัจจุบันมีออดิโออินเทอร์เฟซรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และในวงการเราไม่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ นานแล้ว พอทราบข่าวว่า Steinberg ได้ร่วมมือกับ Rupert Neve Designs เพื่อทำการวิจัยพัฒนา UR ซีรี่ส์รุ่นใหม่ ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ เดิมทีในรุ่น UR ซีรี่ส์นั้น ทาง Yamaha เป็นผู้ออกแบบวงจรไมค์ปรี ชื่อ D-PRE ซึ่งวงจรนี้ประสบความสำเร็จในตลาดมิกเซอร์มายาวนานมาก
เมื่อถูกบรรจุอยู่ใน UR ซีรี่ส์ จึงทำให้หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสียงดีมาก” สำหรับ UR-RT มี 2 รุ่นคือ UR-RT2 และ RT4 ทั้ง 2 รุ่น มีวงจร D-PRE พร้อมกับใส่หม้อแปลง (transformers) มาด้วย ซึ่งถือเป็นไอเดียที่ดีมาก ในแต่ละอินพุตจะใช้หม้อแปลงแยกอิสระ และสามารถเลือกอินพุต+หม้อแปลงได้ตามต้องการ หลายคนอาจสงสัยว่าหม้อแปลงใส่มาเพื่ออะไร คำตอบคือหม้อแปลงนั้นจะช่วยให้สัญญาณอินพุตมีความอิ่มหนา มีฮาร์โมนิกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เหล่ามืออาชีพจำนวนมากถวิลหา
UR-RT4 : ภายในกล่องประกอบด้วย UR-RT4 คู่มือแนะนำการใช้งาน แผ่น CD ไดรเวอร์ สาย USB 1 เส้น อะแดปเตอร์ขนาด 12 โวลต์ 1 ตัว ที่ขาดไม่ได้คือ License ของ Cubase AI ลงทะเบียนใช้งานฟรี!
สำหรับ UR-RT4 ดูเหมือนจะคล้ายๆ UR44 หากจะต่างกัน ก็ต่างตรงที่ภาคหม้อแปลงนี่แหละ ในเรื่องสเป็คหลักๆ ตัวนี้รองรับการบันทึกเสียงสูงสุดที่ 24-bit/192kHz มีอินพุต 6 ช่อง และเอาท์พุต 4 ช่อง เชื่อมต่อด้วย USB 2.0 และยังมาพร้อมกับ MIDI IN/OUT อีกด้วย ในรุ่นนี้จะต้องใช้อะแดปเตอร์จ่ายไฟแยกต่างหาก แน่นอนไม่สามารถใช้ Bus-powered จาก USB ได้ และนอกจากจะรองรับ Windows/MacOS แล้ว ยังรองรับ iOS ด้วยนะ
UR-RT4 : มีช่องสำหรับเชื่อมต่อ XLR/TRS ด้านหน้า 4 ช่อง ทุกช่องเชื่อมต่อกับ D-PRE และหม้อแปลง Rupert Neve โดยตรง
Rupert Neve Designs คืออะไร
หลายคนสงสัยเกี่ยวกับ Rupert Neve ทำไมต้อง Rupert Neve? นั่นสินะ เดี๋ยวเราจะมาไขคำตอบนี้กัน.. ย้อนกลับไปยุคแรกของวงการบันทึกเสียงและการผลิตดนตรี ชื่อของ Rupert Neve ได้รับการยอมรับว่ามีความโดดเด่นในเรื่องอุปกรณ์เกรดคุณภาพ เสียงที่ได้จากอุปกรณ์ของ Rupert Neve นั้นมีนัยสำคัญต่อการบันทึกเสียงทุกรูปแบบชนิดนับไม่ถ้วน จนกลายเป็นสัญลักษณ์คุณภาพ
ผลิตภัณฑ์ Rupert Neve Designs ถูกนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบรอดคาสต์ และคนในวงการยังหลงไหลเสียงของอุปกรณ์ค่ายนี้มาจนถึงศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว ชื่อของ Rupert Neve มีความเกี่ยวข้องกับ ผลิตภัณฑ์ Rupert Neve Designs เพราะค่ายนี้ได้ใช้งานบุคคลที่เชี่ยวชาญและเก่งที่สุดในอุตสาหกรรมเสียง ภาพยนตร์และสายบรอดคาสต์มาพัฒนาอุปกรณ์
UR-RT4 : ลายเซ็นต์ของ Rupert Neve ถูกประทับอยู่บนหม้อแปลง ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด
ดังนั้น สรุปได้ว่าหม้อแปลงที่นำมาใช้กับอออดิโออินเทอร์เฟซรุ่น UR-RT4 จำนวน 4 ตัวนั้น ย่อมจะได้ซาวด์ในระดับตำนาน เกรดสตูดิโอไฮเอ็นด์จากฮาร์ดแวร์จริงโดยไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์จำลองแต่อย่างใด นี่ถือเป็นอีกก้าวของการพัฒนาออดิโออินเทอร์เฟซแบบโมบายอย่างแท้จริง
รู้จักไมค์ปรี D-PRE
สำหรับออดิโออินเทอร์เฟซ UR-RT ใช้ไมค์ปรี D-PRE ซึ่งเป็นวงจรแบบ Class-A ออกแบบในลักษณะ discrete คือเป็นวงจรที่ไม่ได้ใช้ไอซีเป็นตัวขยายสัญญาณ วงจรของ D-PRE ถือได้ว่าถูกออกแบบอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ขยายสัญญาณด้วยความละเอียดอ่อน และให้สัญญาณมีความชัดเจน รักษาคุณภาพเสียงต้นทางไว้อย่างดี นี่คือจุดสูงสุดของการพัฒนา โดยทีมวิศวกรมากประสบการณ์ของ Yamaha
สำหรับวงจรไมค์ปรีตัวนี้จะตอบสนองช่วงความถี่ของไมโครโฟนมากกว่าปกติ สามารถป้อนสัญญาณต่างๆ ได้ครอบคลุมทุกแหล่งเสียง ไม่ใช่แค่กับสัญญาณบางประเภทเท่านั้น รวมถึงในระหว่างการจับสัญญาณจากแหล่งกำเนิด ก็มีความยืดหยุ่นในการปรับแก้ไขภายหลัง คุณภาพเสียงที่ได้จาก D-PRE จึงมีความเป็นแอนาลอกสูง นี่เป็นการผสานโลกแอนาลอกและดิจิตอลให้เข้ากันได้อย่างลงตัว
UR-RT4 : ลูกบิดสีเงินทั้ง 4 ตัว มีหน้าที่ปรับระดับ Gain ของอินพุต และด้านบนมีสวิตซ์เปิด/ปิดการทำงานของหม้อแปลง Rupert Neve ส่วนฝั่งขวามือจะเป็นลูกบิดสีดำ เพื่อปรับความดังหูฟังและช่อง Main Output
ชิป DSP
เพื่อแก้ปัญหา Latency ของระบบมอนิเตอร์ในขณะเรคอร์ดหรือเพลย์แบ็กนั้น ทาง Yamaha ได้คัสตอมชิปขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ SSP2 ตัว DSP นี้ผ่านมาตรฐานคุณภาพของ Yamaha สิ่งที่ผู้ใช้จะได้รับคือเทคโนโลยี dspMixFX ซึ่งมาพร้อมกับเอ็นจิ้นของรีเวิร์บในตำนานอย่าง REV-X โดยมีการดีไซน์มิกเซอร์อินเทอร์เฟซอยู่ด้านนอก เพื่อใช้จัดการสัญญาณภายนอกเชื่อมเข้ากับซอฟต์แวร์ DAW ซึ่งประกอบด้วยแชนเนลสทริปต์ และกีตาร์แอมป์
หากใครใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้ก็สามารถใช้งานร่วมกับ DAW อื่นๆ ได้ ไม่เฉพาะ Cubase แต่หากใช้ร่วมกับ Cubase ก็จะทำให้การใช้งานง่าย เพราะทุกอย่างจะถูกผนวกไว้กับภาคมอนิเตอร์เข้ากับ GUI ของแอปพลิเคชันนี้ ถามว่า dspMixFX ใช้ได้ดีกับเฉพาะ Cubase หรือไม่คำตอบคือไม่ใช่ สำหรับ dspMixFX สามารถใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ DAW ได้ทุกตัว
UR-RT4 : ด้านหลังจะมีสวิตซ์เปิด/ปิดเครื่อง | ช่องต่อกับอะแดปเตอร์ | ช่อง USB 2.0 | สวิตซ์ไฟ Phantom power | ช่องต่อกับ MIDI IN/OUT | ช่องต่อเอาท์พุตสำหรับสตูดิโอมอนิเตอร์ | ช่อง Line Output และช่อง Line Input
เมื่อผู้ใช้บันทึกสัญญาณเข้าไปในซอฟต์แวร์ DAW ปกติมักจะเกิดปัญหา Latency ปัญหานี้ทำให้เราไม่สามารถได้ยินสัญญาณที่เราป้อนเข้าไปในซอฟต์แวร์ทันที เนื่องจากสัญญาณต้องผ่านการประมวลผลเสียก่อน ดังนั้น Yamaha จึงนำปัญหานี้มาแก้โดยใช้ DSP แยกประมวลผลเพื่อให้เกิด Latency-free คือไม่ให้มอนิเตอร์มี Latency จะว่าไปแล้วคล้ายกับเป็นลักษณะ Direct out สัญญาณออกมาโดยตรง
UR-RT4 : เอกสารที่มากับเครื่อง ประกอบด้วยคู่มือการใช้งาน และรหัสของ License เพื่อลงทะเบียนใช้งาน Cubase AI
ภายใน dspMixFX ยังมีปลั๊กอินเอฟเฟ็กต์กีตาร์ให้เลือกอีกจำนวนหลายตัว โดยปลั๊กอินเหล่านี้ เป็นแอมป์โมเดลลิ่ง สามารถเลือกเอฟเฟ็กต์แบบเสียง Crunch, Drive และ Lead ตลอดจน Clean ก็ได้ รวมถึง Chorus และพวก Vibrato เอฟเฟ็กต์อีกด้วย
บน dspMixFX ยังมีฟังก์ชันหนึ่งที่เรียกว่า Sweet Spot Morphing Channel Strip หน้าที่ของมันคือใช้จัดการ sidechain พวกเอฟเฟ็กต์ต่างๆ เช่น คอมเพรสเซอร์และพาราเมตริก EQ ซึ่ง EQ และคอมเพรสเซอร์ ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานดนตรีโดยเฉพาะ โดยที่ผู้ใช้สั่งงานง่ายๆ เพียงหมุน Morph ระบบก็จะจัดการ EQ+คอมเพรสเซอร์ให้ทันที
ปิดท้ายด้วย REV-X เป็นเอ็นจิ้นของรีเวิร์บที่มีอัลกอริทึมที่ซับซ้อนพอสมควร พัฒนาโดย Yamaha ขึ้นชื่อว่าเป็นรีเวิร์บของ Yamaha ย่อมให้คุณภาพเสียงไม่ธรรมดาอยู่แล้ว รีเวิร์บนี้ให้ความสมูธ เป็นธรรมชาติ ทั้งมิติกว้างและลึกในคราวเดียว รวมถึง dry sound ที่ไม่ถูกบิดเบือน ฟีเจอร์ของ REV-X ประกอบด้วยเอฟเฟ็กต์รีเวิร์บ Hall, Room และ Plate สามารถควบคุม Reverb time (RT60) และเวเวลของเอฟเฟ็กต์ได้
UR-RT4 : ในอนาคตหากต้องการอัพเกรดจาก Cubase AI เป็น Cubase Pro จะได้ส่วนลดในราคาพิเศษ!!
คุณสมบัติที่น่าสนใจ
ด้านหน้าเครื่องจะมีช่องสำหรับเชื่อมต่อไมโครโฟนหรือไลน์อินพุต จำนวน 4 ช่อง สามารถใช้ได้ทั้ง XLR/TRS รวมไปถึงใช้กับอุปกรณ์ที่เป็น Hi-Z ได้ โดยแยกเป็นช่อง 1 และ 2 เป็น MIC/Hi-Z ส่วนช่อง 3 และ 4 เป็น MIC/LINE สามารถใช้ Phantom power +48V ได้ ซึ่งสวิตซ์เปิด/ปิด Phantom อยู่ด้านหลังเครื่อง ฝั่งด้านหลังเครื่องช่อง LINE INPUT 5 และ 6 หากนับรวมกันแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 6 อินพุต ด้านหน้ามีช่องเสียบหูฟัง 2 ช่อง แล้วแยกลูกบิดปรับความดังอิสระ และมี LED สีแดง คอยแสดงสถานะของสัญญาณแต่ละอินพุตว่า Peak หรือไม่
UR-RT4 เคลมว่ามีระบบมอนิเตอร์ระดับ zero latency เลยทีเดียว แต่ต้องใช้ผ่านซอฟต์แวร์ที่ชื่อ dspMixFX ซอฟต์แวร์จะทำงานร่วมกับชิป DSP SSP2 ออกแบบโดย Yamaha ซึ่งมีอยู่ใน UR รุ่นกลางๆ ขึ้นไปถึงรุ่นท็อป เช่น UR242, UR44 และ UR824 สำหรับตัวซอฟต์แวร์ dspMixFX ใช้ร่วมกับ Cubase ได้ดีมาก แม้ว่า DSP อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องการรันปลั๊กอินที่แถมมาจำกัดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยกนิ้วให้คือ Latency นี่แหละ ไม่มีการหน่วงของสัญญาณอย่างแน่นอน แม้ว่าจะตั้ง Buffer size ไว้ต่ำๆ ก็สามารถทำงานได้ และแถมมีฟังก์ชัน Loopback ให้อีกด้วย
UR-RT4 : ซื้อสินค้าอย่าลืมสังเกตข้างกล่อง ต้องมีสติกเกอร์ “SIAM MUSIC YAMAHA” เพื่อจะได้สิทธิ์บริการหลังการขายระดับพรีเมียม
ตัวอย่างการเชื่อมต่ออุปกรณ์
การเชื่อมต่อสัญญาณร่วมกับอุปกรณ์ภายนอก ฝั่งด้านหน้าเครื่อง ช่อง MIC/Hi-Z ใช้สำหรับไมโครโฟนและกีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์โปร่งไฟฟ้า เบสไฟฟ้า ส่วนช่อง MIC/LINE เชื่อมต่อกับสัญญาณไลน์ทั่วไป เช่นคีย์บอร์ดซินธิไซเซอร์ หรือเครื่องเล่นซีดี ฯลฯ ฝั่งขวามือสุดใช้เชื่อมต่อกับหูฟังจำนวน 2 ช่อง ถามว่าทำไมต้องให้มาถึง 2 ช่อง ปกติออดิโออินเทอร์เฟซธรรมดาจะมีช่องหูฟังเพียงช่องเดียว ประโยชน์ของมันคือ บางท่านอาจไม่มีห้องสตูดิโอบันทึกเสียงระดับอาชีพ แต่ใช้ห้องนอน ห้องนั่งเล่นมาทำงาน เมื่อมีการบันทึกเสียงร้อง หูฟังตัวหนึ่งให้นักร้อง อีกตัวให้เอ็นจิเนียร์ ขณะบันทึกปิดลำโพงมอนิเตอร์ไว้ ระหว่างนี้จะทำให้เสียงจากลำโพงไม่สามารถแทรกเข้าไมโครโฟนได้
UR-RT4 : ลักษณะการเชื่อมต่อ UR-RT4 ฝั่งด้านหน้า เพื่อใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไมโครโฟน กีตาร์ไฟฟ้า คีย์บอร์ดซินธิไซเซอร์ และหูฟัง
การเชื่อมต่อด้านหลังอุปกรณ์ สามารถเชื่อมต่อ UR-RT4 สามารถทำได้ 2 ลักษณะคือ 1.ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ และ iPad กรณีใช้กับคอมพิวเตอร์ให้ใช้สาย USB ต่อเข้ากับช่อง USB 2.0 ส่วนช่อง MIDI ใช้ต่อกับคีย์บอร์ดซินธิไซเซอร์ ช่อง MAIN OUPUT ต่อกับลำโพงมอนิเตอร์ ช่อง LINE OUTPUT/LINE INPUT ใช้ต่อกับอุปกรณ์พวกเอาท์บอร์ดเกียร์ ส่วน LINE OUTPUT อีกคู่สามารถต่อกับแอมป์หูฟังได้ เพื่อใช้กับหูฟังหลายๆ ตัว กรณีที่มีการบันทึกเสียงพร้อมกันจากแหล่งสัญญาณหลายๆ แห่ง
UR-RT4 : ลักษณะการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ฝั่งด้านหลัง สามารถใช้กับคอมพิวเตอร์ผ่าน USB 2.0 และคีย์บอร์ดซินธิไซเซอร์ ลำโพงมอนิเตอร์ แอมป์หูฟัง และเอาท์บอร์ดเกียร์
กรณีเชื่อมต่อเพื่อใช้งานกับ iPad จะต้องมีอะแดปเตอร์แปลงสัญญาณ คือตัว Camera Connection Kit เมื่อเชื่อมต่อเสร็จ สามารถใช้งานซอฟต์แวร์ Cubasis LE ได้ ในขณะที่อุปกรณ์อื่นๆ สามารถเชื่อมต่อผ่านช่องสัญญาณต่างๆ บน UR-RT4
UR-RT4 : อุปกรณ์รุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อกับ iPad โดยใช้ซอฟต์แวร์ Cubasis LE บันทึกเสียงได้
สรุป
UR-RT4 มาพร้อมกับหม้อแปลงที่ออกแบบโดย Rupert Neve มีวงจรไมค์ปรี D-Pre ช่วยให้เสียงที่บันทึกนั้นสะอาดคมชัด รวมถึงซอฟต์แวร์ มี DSP ภายในเครื่อง และไม่มีปัญหาเรื่อง Latency ในระหว่างบันทึกเสียง ใส่ Rev-X ได้ และมีเอฟเฟ็กต์ Amp-modeling ให้ 4 ตัว ต่อหูฟังได้ 2 ตัวพร้อมกันโดยอิสระ รองรับ Mac/PC และ iOS สวิตซ์ส่วนใหญ่จะอยู่ด้านหลังเครื่อง และแถมซอฟต์แวร์ Cubase AI มูลค่า 3,000 บาทฟรี!
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด
โทร. (02) 215-2626-39