NPE T-12000 เป็นเพาเวอร์แอมป์ Class-AB+D ให้กำลังขับสูงสุด 10400W ที่ Bridge 4 โอห์ม
NPE ชื่อนี้ในวงการเครื่องเสียงกลางแจ้ง ทุกคนต่างรู้จักกันดี เป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท นัฐพงษ์ เซลส์แอนด์เซอร์วิส จํากัด นับเป็นแบรนด์ยี่ห้อสินค้าที่อยู่ในตลาดเครื่องเสียงกลางแจ้งมานาน ในปี 2020 บริษัทแห่งนี้จะครบรอบการก่อตั้ง 50 ปีพอดี ด้วยความที่อยู่ในวงการนี้มานานจึงมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตเพาเวอร์แอมป์ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตในไทย มีจุดเด่นสำคัญคือเรื่องคุณภาพสินค้า ซึ่งทางบริษัทจะมีการรับข้อมูลและปัญหาต่างๆ จากผู้ใช้ แล้วนำปัญหานั้นมาแก้ไข ทำการปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น หากถามว่าใช้เพาเวอร์แอมป์ NPE คุ้มค่าหรือไม่ ตอบว่าคุ้มค่า เพราะเป็นเพาเวอร์แอมป์ราคาไม่สูง แต่จะได้กำลังวัตต์ที่สูง เครื่องมีปัญหาสามารถส่งซ่อมได้ มีอะไหล่รองรับทุกชิ้น
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
เปิดตำนานแอมป์ NPE
โฉมหน้าของ T-12000
NPE เคยผลิตเพาเวอร์แอมป์สำหรับงานเครื่องเสียงกลางแจ้งระดับอาชีพ ออกสู่ตลาดจำนวนหลายรุ่น อาทิ 3000B, 5000B และ 8000B อีกซีรี่ส์คือ XI1200 รุ่นนั้นตัวเครื่องจะมี 4 หูหิ้ว ถัดมาเป็นตระกูล PH
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีผู้บริการเครื่องเช่าในวงการจำนวนมาก ได้เลือกเพาเวอร์แอมป์ของบริษัทนัฐพงษ์ฯ บางรายใช้ แบรนด์นี้แทบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นลำโพง เพาเวอร์แอมป์ มิกเซอร์ และ ฯลฯ
สมัยก่อนบริษัทนัฐพงษ์ฯ เน้นผลิตเพาเวอร์แอมป์ที่มีภาคจ่ายไฟเป็นหม้อแปลง บางรุ่นมีขนาดแร็ค 4U เครื่องมีน้ำหนักสูง บางรุ่นใช้กันแบบทนทานมาก ต่อมาเมื่อความต้องการของผู้ใช้เปลี่ยนไป เช่น มีความต้องการความดังมากขึ้น ต้องการใช้จำนวนลำโพงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะเดียวกันยังต้องการน้ำหนักเครื่องเบาลง
ปัญหาคือ ในการเพิ่มความดังมากขึ้นนั้น หากผลิตด้วยเทคโนโลยีเก่า ตัวเครื่องจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น ขนาดหม้อแปลงต้องใหญ่เพื่อที่จะจ่ายไฟให้เพียงพอกับความต้องการของวงจรภาคขยาย รวมถึงจำนวนทรานซิสเตอร์หรือมอสเฟตก็ต้องเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ด้านหน้า T-12000 มีโวลุ่มปรับความดัง Channel A/B และไฟแสดงสถานะการทำงานของแอมป์
อีกปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อเครื่องใหญ่ขึ้น ผู้ประกอบการต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และสิ้นเปลืองค่าขนส่งในการขนย้ายอุปกรณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการทำงานสูงขึ้น ทางบริษัทจึงพยายามคิดค้นวิธีผลิตเพาเวอร์แอมป์ให้มีขนาดเล็กลง แต่ได้กำลังวัตต์สูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการเคลื่อนย้ายเครื่อง 5-6 แท่นสามารถยกกันแค่ 2 คนได้อย่างสบาย
เข้าสู่ยุคสวิตชิ่ง
NPE ได้เริ่มผลิตเพาเวอร์แอมป์สวิตชิ่งประมาณปี 2551 รุ่นแรกคือ DPA-1000 ต่อมาจึงต่อยอดเป็นรุ่น X Series ซึ่งขณะนั้นมี DPA-1000 เพียงรุ่นเดียว แล้วจึงค่อยผลิต X-1200, X-2400 และตามด้วย X-3600
ตอนหลังได้เปิดตัวรุ่น D-2200 แล้วพัฒนาเป็น F Series เริ่มจาก F-3000, F-5000, F-8000 แล้วจึงเป็นรุ่น T-12000 ซึ่งรุ่นนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนหน้าตาต่างจากรุ่น F Series ซึ่งสายการผลิตทั้งหมดนั้น ผู้ออกแบบเป็นคนเดียวกัน
สำหรับ Class ของวงจรภาคขยายนั้น ในรุ่น DPA-1000 มีการออกแบบวงจรเป็น Class-D พอรุ่น X Series ได้ออกแบบวงจรเป็น Class-AB แต่ภาคจ่ายไฟเป็นสวิตชิ่ง แต่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้ เพราะแอมป์ขับได้เฉพาะเสียงกลาง-แหลม ไม่เหมาะกับการขับตู้ซับ เพราะข้อจำกัดของ Class-AB ที่เป็นสวิตชิ่งจะตอบสนองความถี่ต่ำได้ไม่ดีนัก
โลโก้นี้มั่นใจได้ในความทนทาน
แต่ Class-AB รุ่นที่ใช้กันหนักๆ คือ XL และ C Series เพราะภาคจ่ายไฟเป็นหม้อแปลง จะขับย่านความถี่ต่ำได้ดีกว่า จุดเด่นของ Class-AB คือให้เสียงคมชัด แต่มักจะมีปัญหาเรื่องความร้อน เรียกว่าทันทีที่เปิดเครื่องก็ร้อนเลย ต่างจากเพาเวอร์แอมป์ Class-H จะทำงานในลักษณะที่ว่า หากไม่จ่ายอินพุตเข้าไป วงจรเพาเวอร์แอมป์ก็จะยังไม่ใช้พลังงาน
ที่ผ่านมาทางบริษัทนัฐพงษ์ฯ เคยผลิต Class-H ที่เป็นสวิตชิ่งคือรุ่น X-3600 แต่ยังไม่ตอบโจทย์ จึงมีการพัฒนารุ่น F Series แต่ในช่วงแรกนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังจากได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้ากลับมา ทางบริษัทจึงทำการแก้ไข โดยออกแบบปรับปรุงใหม่เรื่อยมา
เมื่อ 6 ปีก่อนบริษัทได้เริ่มพัฒนาวงจร Class-AB+D ซึ่งจุดเด่นภาคขยายของ Class นี้นั้นจะให้เสียงที่ดี มีภาคจ่ายไฟเป็นสวิตชิ่ง ข้อดีคือไม่ต้องใช้จำนวนทรานซิสเตอร์เยอะ แต่กลับได้กำลังขับมากขึ้น มีน้ำหนักเบา จุดแข็งของเพาเวอร์แอมป์ Class-AB+D นั้น สามารถใช้กับตู้ลำโพงได้ทุกประเภท
รู้จักแอมป์ NPE T-12000
สำหรับเพาเวอร์แอมป์ T-12000 เป็นแอมป์ 2 แชนแนล ทาง NPE ได้ออกแบบขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้ ที่เล่นกันหนักๆ ซึ่งมีการพัฒนาต่อยอดจากรุ่น F Series โดยให้กำลังวัตต์มากขึ้น สำหรับวงจรภาคจ่ายไฟเป็นแบบสวิตชิ่ง ส่วนภาคกำลังขยาย ที่ 1kHz ให้กำลังขับประมาณ 1800 วัตต์ ที่อิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม ต่อแชนแนล ถือว่าค่อนข้างสูง
มุมมองด้านหลังของ T-12000
หากใช้กับลำโพงอิมพีแดนซ์ 4 โอห์ม จะให้กำลังขับที่ 3200 วัตต์ต่อแชนแนล รุ่น T-12000 สามารถเชื่อมต่อแบบบริดจ์ 8 โอห์มและ 4 โอห์มได้ โดยให้กำลังวัตต์สูงถึง 6400 วัตต์ และ 10400 วัตต์ตามลำดับ รุ่นนี้สามารถเชื่อมต่อ 2 โอห์มแบบปกติได้ แต่ไม่รองรับการเชื่อมต่อแบบบริดจ์ที่ 2 โอห์ม แต่ก็จะมีปัญหาความปลอดภัย
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือระบบไฟที่จ่ายเข้าไปจะต้องเพียงพอกับความต้องการของเพาเวอร์แอมป์ สำหรับเพาเวอร์แอมป์กำลังขับสูงนั้น ระบบที่ดีจะออกแบบการจ่ายไฟให้เหมาะสม อย่างไรก็ดี T-12000 สามารถเชื่อมต่อใช้งานได้เหมือนเพาเวอร์แอมป์ทั่วไป
สำรวจรูปลักษณ์ภายนอก
ด้านหน้าเครื่องจะมีโวลุ่มควบคุมความดัง ส่วนด้านหลังจะมีตัวควบคุมระดับสัญญาณอินพุต มีสวิตซ์เลือกโหมดการเชื่อมต่อ เช่น โหมด Parallel, Stereo และ Bridge มีวงจรฟิลเตอร์ โดย T-12000 สามารถนำไปขับลำโพงกลางแหลมได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ขับเฉพาะซับวูเฟอร์ โดยมี HPF ให้
ด้านหลังจะเห็นพัดลมระบายความร้อน 2 ตัว ปรับเปลี่ยนรอบการหมุนตามอุณหภูมิ ส่วนขั้วต่อลำโพงเป็น SpeakON อย่างเดียว ส่วนฝั่งอินพุตเป็นแบบ XLR และมีขั้วต่อไว้ต่อ Link สัญญาณแบบ XLR
ขั้วต่อเอาต์พุตของ T-12000 เป็นแบบ SpeakON
จุดเด่นของ NPE T-12000
นอกจากจะให้กำลังวัตต์สูงแล้ว ภายในเครื่องประกอบด้วยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี เนื่องจากเป็นเพาเวอร์แอมป์ที่ต้องการไฟเยอะ จึงจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนที่ดี เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดี สามารถขับตู้ซับวูเฟอร์ และกลาง-แหลมได้ รองรับงานได้ทุกประเภท เรียกว่าใช้ T-12000 สามารถใช้งานกับตู้ลำโพงได้ทุกชนิด
หากเราใช้เพาเวอร์แอมป์หลายๆ รุ่นปะปนกัน ในการออกแบบระบบจะยุ่งยากกว่า ในรุ่น T-12000 สามารถปรับ Sensitivity ได้หลายระดับ เช่น +4dB, 0dB และ -3dB สามารถเซตค่า Sensitivity เพื่อใช้กับลำโพงประเภทต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม
เพาเวอร์แอมป์รุ่นนี้ยังออกแบบแก้ปัญหากราวด์ลูป แม้กระทั่งช่วงไฟตกก็ยังใช้งานได้ แต่แรงดันไฟต้องไม่น้อยกว่า 170Vac หรือแรงดันไฟไม่เกิน 245Vac ตัวเครื่องยังมีระบบป้องกันกรณีปลั๊กไฟหรือจุดต่อหลวม
มีระบบป้องกันการลัดวงจรทั้งในส่วน AC และ DC ไร้เสียงจี่หรือฮัม อีกทั้งยังมีระบบ Auto Limit ในกรณีเครื่องทำงานเกินกำลังระบบป้องกันจะทำงานทันที
ขั้วต่ออินพุตเป็นแบบ XLR ด้านข้างมีสวิตซ์ปรับโหมดการทำงานของแอมป์ในลักษณะต่างๆ
คุณสมบัติทางเทคนิค
ข้อมูลทั่วไปของ NPE T-12000
>จำนวนแชนแนลของภาคขยาย : 2
>กำลังขับสูงสุดทุกแชนแนลรวมกัน : 10400 W
>Class : AB+D
>ตอบสนองความถี่ : 10Hz – 20KHz
>DAMPING FACTOR : >400 @ 1KHz
>แรงดันไฟฟ้าที่ต้องการ : 220 Vac 50Hz
>ขนาด : 2U
>น้ำหนัก : 17.4kg.
กำลังขับสูงสุด (ทุกแชนแนล)
>2 ohms : 5200Wrms
>4 ohms : 3200Wrms
>8 ohms : 1800Wrms
กำลังขับสูงสุดกรณีต่อแบบบริดจ์
>4 ohms : 10400Wrms
>8 ohms : 6400Wrms
T-12000 มีพัดระบายความร้อน รอบการหมุนเปลี่ยนตามอุณหภูมิเครื่อง
สรุป
NPE T-12000 เป็นเพาเวอร์แอมป์ Class-AB+D โดยได้พัฒนาต่อยอดมาจากรุ่น F Series ให้กำลังวัตต์สูง สามารถเชื่อมต่อกับลำโพงได้หลายโหมด รวมถึงยังรองรับอิมพีแดนซ์ลำโพงมาตรฐาน อาทิ 8, 4 โอห์มหรือการต่อขนานแบบ 2.66 โอห์ม
สามารถใช้ติดตั้งถาวรในร้านอาหาร ผับเธค เหมาะกับงานเล่นดนตรีสด รถแห่ หมอลำวงเล็กหรือวงขนาดใหญ่สามารถใช้ได้หมด แต่ข้อควรระวังคือปลั๊กไฟที่นำมาใช้งานต้องออกแบบให้ดี เฉพาะรุ่นนี้ใช้สายไฟเบอร์ 4 ซึ่งมีขนาดใหญ่ทีเดียว
T-12000 ใช้คู่ทรานซิสเตอร์น้อยแต่ให้กำลังวัตต์สูง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คัดสรรมาอย่างดี
สำหรับคำถามยอดฮิต เพาเวอร์แอมป์รุ่นนี้ขับตู้ลำโพงได้ข้างละกี่ใบ โดยพื้นฐานเลยคือข้างละ 2 ใบ หรือ 3 ใบ แต่หากจะต่อข้างละ 4 ใบ อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายได้ ในการเชื่อมต่อกับลำโพงกลาง-แหลม ยอดนิยมอย่างเช่นลำโพงไลน์อาร์เรย์นั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบ
หากเป็นลำโพงฟูลเร้นจ์ที่มีวงจรเน็ตเวิร์กภายในอาจขับได้แท่นละ 8 ใบ โดยแยกขับข้างละ 4 ใบ หรือกรณีต่อแบบ Bi-Amp ก็ต้องเพิ่มจำนวนเพาเวอร์แอมป์เข้าไป และต้องมีคอนโทรลเลอร์เข้ามาควบคุมอีกที
อย่างไรก็ดี ก่อนซื้อหากไม่มั่นใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญระบบเสียงจะดีที่สุด สำหรับเพาเวอร์แอมป์ NPE-T12000 ท่านสามารถสั่งซื้อได้กับตัวแทนจำหน่ายได้ทั่วประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้อง : LAVOCE สุดยอดดอกลำโพง PA จากอิตาลี
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท นัฐพงษ์ เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด
สำนักงานใหญ่บ้านหม้อ โทร 0-2225-0094
สาขาเซียร์รังสิต โทร 0-2992-7379
สาขาศาลายา โทร 0-2889-5496
หากสนใจสั่งซื้อสินค้าสามารถแวะเยี่ยมชมได้ทางเว็ปไซต์ www.mynpe.com
ทาง Fanpage ของบริษัทได้ที่ www.facebook.com/mynpethailand
หรือจะเข้ามา Follow twitter, Instagram, Line@ ของบริษัทก็ได้เช่นกันที่
@myNPEThailand ตามช่องทางที่สะดวก