“MIPRO ไมค์ลอยคุณภาพ มีระยะรับส่งไกล 100 เมตร แถมไมค์ 1 คู่ แบ่งช่องสัญญาณได้ 12×60 ID”
MIPRO เป็นอีกหนึ่งแบรนด์จากไต้หวัน คำว่า “MI” ย่อมาจาก Microphone ส่วน “PRO” มาจาก Professional ที่นี่ผลิตไมโครโฟนระดับมืออาชีพหลากหลายแบบ ไมค์แบรนด์นี้ได้ยืนยันว่า จะมุ่งเน้นในการรักษาคุณภาพสินค้าต่อไป บริษัทแห่งนี้เปิดทำการมาหลายสิบปีแล้ว (ก่อตั้งปี 1995) สำหรับตลาดในไทย บริษัทนัฐพงษ์ฯได้เป็นผู้นำเข้าไมค์แบรนด์นี้มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น VHF
นอกจากจะผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองแล้ว ที่โรงงานยังรับผลิตสินค้า OEM พวกไมค์ลอยและไมค์สายให้กับแบรนด์อื่นๆ อีกด้วย ตั้งแต่การผลิตว้อยซ์คอยล์ โครงสร้างตัวไมค์ หัวไมค์ต่างๆ รวมถึงสินค้าประเภทพอร์ทเทเบิล ที่เป็นชุดลำโพงเคลื่อนย้าย รวมทั้งอุปกรณ์แปลภาษา
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
รู้จักไมค์ลอย ACT-2412A
สำหรับบทความชิ้นนี้จะมารีวิว MIPRO ซึ่งเป็นไมค์ลอยรุ่นใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทนัฐพงษ์ฯได้นำเข้ามาจำหน่าย โดย ACT-2412A เป็นชุดไมค์คู่ มีไมโครโฟน 2 ตัว ทำงานบนย่านความถี่ 2.4GHz เป็นคลื่นความถี่ใหม่ ปกติท่านอาจคุ้นเคยกับย่านความถี่ VHF, UHF ก็คือช่วงย่าน 30-300MHz, 300-1000MHz ที่เคยขายกัน จะเห็นว่าในตลาดไมค์ลอยนั้น มีความถี่ค่อนข้างหลากหลาย ตลาดยังมีความต้องการสูง
หน้าเครื่อง ACT-2412A ขนาด 19 นิ้ว
สำหรับ ACT-2412A เหมาะกับผู้ที่ต้องการไมค์ลอยที่ใช้งานง่าย มีความยืดหยุ่น ฟังก์ชันการใช้งานครบ โอกาสน้อยที่คลื่นจะชนกับผู้อื่น และในภาวะปัจจุบันไมค์ลอยย่าน 2.4GHz ได้กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งไปแล้ว
ทำไมต้องเป็น 2.4GHz
หากถามว่าทำไมต้องเลือกไมค์ลอยความถี่ 2.4GHz นั่นเป็นเพราะย่านความถี่นี้ยังไม่ถูก กสทช. จำกัดการใช้งาน หลายท่านทราบดีว่า ปัจจุบันไมค์ลอยคลื่น UHF ถูกทาง กสทช. ระงับการนำเข้า แต่ย่าน 2.4GHz ยังไม่ได้บังคับ ดังนั้นความถี่นี้จึงเปิดให้ใช้เหมือนกับช่อง Wi-Fi ทั่วไป
จุดเด่นของย่าน 2.4GHz นั้นต่างจากไมค์ชนิด UHF เพราะไมค์ย่าน UHF จะมีการแบ่งช่วงความถี่ โดยจะต้องกำหนดความถี่ของไมค์ตัวที่ 1-2-3.. ไม่ให้ใกล้กัน เพราะหากความถี่ใกล้กันจะทำให้เกิดการเบียดกัน ผลคือทำให้ใช้งานไม่ได้ แต่คลื่น 2.4GHz จะแบ่งความถี่แล้วเข้ารหัสโค้ด ทำให้แบ่งซอยช่องสัญญาณได้เยอะกว่าย่าน UHF กล่าวคือในหนึ่งแบนด์ความถี่สามารถแบ่งออกได้หลาย ID โดยจะมีการแบ่งโค้ดออกเป็นหลายๆ ID
ตัว ACT-2412A สามารถทำได้ถึง 60 ID คือในหนึ่งแชนแนลนั้น สามารถตั้งโค้ด ID ที่ต่างกันได้ ฉะนั้น เวลาใช้งานจริงจึงสามารถใช้งานได้จำนวนมากกว่า และรุ่นนี้มีจำนวนทั้งหมด 12 แชนแนล แต่ละแชนแนลจะต่อไมค์ได้ 60 ID ก็เท่ากับ 60×12 อย่างไรก็ดี เครื่องรับ 1 เครื่องจะมีจำนวน 2 ID หากต้องการต่อไมค์เพื่อใช้หลายตัวพร้อมกัน ก็ต้องติดตั้งหลายเครื่อง จึงจะสามารถใช้ไมค์ได้เป็นร้อยตัว
ด้านหลังเครื่องรับ มีขั้วต่อเสาอากาศ B และช่องต่อสัญญาณเสียง
ยกตัวอย่างการใช้งาน สมมติเป็นโรงเรียน มีทั้งหมด 5 ชั้น แต่ละชั้นมีจำนวน 5 ห้อง รวมแล้วเท่ากับ 25 ห้อง ซึ่งข้อจำกัดของ UHF ไม่สามารถจัดไมค์ไปวางไว้ได้ทุกๆ ห้อง เพราะจะเกิดปัญหาความถี่ชนกัน ส่วนชั้น 2-3-4 รัศมีก็ไม่ได้ไกลกันมาก คือในช่วงรัศมี 50-100 เมตรนั้น ถือว่าไม่ไกล ปัญหาคือความถี่ UHF ห้องที่ 1 อาจจะไปเบียดกับห้องที่ 5 ห้องที่ 5 อาจเบียดกับห้องที่ 10 หรือห้องที่ 10 ไปเบียดกับห้องที่ 20
หากเป็นย่าน 2.4GHz ในกรณีนี้
- ชั้น 1 (ห้อง 1-5) เราก็ตั้งเป็นความถี่แชนแนล 1 ทั้งหมดเลย โดยไมค์แต่ละห้องแยก ID เป็น 1, 2, 3, 4, 5
- ชั้นที่ 2 (ห้อง 6-10) ก็ตั้งเป็นแชนแนลที่ 2 (ID 1-5)
- ชั้น 3 (ห้อง 11-15) ให้ตั้งเป็นแชนแนลที่ 3 (ID 1-5)
การออกแบบในลักษณะนี้สัญญาณจะไม่รบกวนกันเลย ดังนั้นย่านความถี่ 2.4GHz จึงถูกออกแบบเพื่อมาตอบโจทย์งานลักษณะดังกล่าวโดยตรง ซึ่งในบางสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ ปัจจุบันนิยมใช้ไมค์ลอยกันอย่างแพร่หลาย หากนำไมค์ย่าน 2.4GHz ไปใช้งานก็จะไม่มีปัญหา
รวมถึงห้องร้องเพลงคาราโอเกะก็เช่นกัน สถานประกอบการบางแห่งอาจมีห้องบริการร้องเพลงหลายๆ ห้อง มีความต้องการนำไมค์ลอยไปวาง แต่ไมค์ UHF มักมีปัญหาคือมักจะรบกวนกันเอง แน่นอนว่า 2.4GHz นั้นสามารถแบ่งซอยความถี่ได้เยอะ อย่างไรก็ดี ไมค์ลอยบางยี่ห้อที่เป็นคลื่น UHF ก็สามารถตั้ง ID ได้ แต่ราคาก็จะสูงกว่า
สำรวจอุปกรณ์ในกล่อง MIPRO
สายสัญญาณต่างๆ ที่มาพร้อมกับ ACT-2412A
โดยปกติในกล่องของไมค์รุ่นนี้ เมื่อแกะออกจะพบตัวเครื่องรับ (Receiver) จำนวนหนึ่งเครื่อง มีขนาดมาตรฐานคือ 19 นิ้ว ติดตั้งเข้าแร็คได้เลย ทางโรงงานมีอุปกรณ์ปีกเหล็กเสริมให้ฟรี ใช้ติดขอบด้านข้างตัวเครื่องเพื่อยึดกับตู้แร็คนั่นเอง
นอกจากนั้นยังมีสายสัญญาณ เสาอากาศ รายการที่พิเศษซึ่ง MIPRO รุ่นอื่นไม่มีคือ มันจะมีสายลิงค์ให้ 2 เส้น หากสำรวจด้านหลังเครื่อง จะมีตำแหน่งของเสาอากาศจำนวน 4 ชุด ปกติแล้วเครื่องรับทั่วไปจะมีฝั่งละจุดต่อ 1 เสา แต่รุ่นนี้เมื่อติดตั้งในตู้แร็ค เราสามารถเชื่อมต่อไปหาเครื่องรับตัวอื่นได้ ลิงค์ไปเรื่อยๆ จนถึงตัวสุดท้ายก็ติดตั้งเสา มันจะเป็นการแชร์สัญญาณไมค์เข้ากัน โดยไม่จำเป็นต้องใส่เสาทุกตัว ใช้เสาเพียงตัวเดียวก็ได้
ในบางกรณีเราอาจย้ายไปติดเสานอก พวกเสา Quarter wave หรือเสาประเภทที่มีทิศทาง เพื่อรับสัญญาณให้ได้ไกลขึ้น เป็นการรวมเครื่องโดยลดจำนวนเสา โดยไม่ต้องใช้เครื่องทำหน้าที่รวมสัญญาณเสาเลย สรุปว่า มันสามารถรวมสัญญาณได้ด้วยตัวมันเอง หากสำรวจด้านหน้าเครื่องรับ จะมีจอด้านหน้าแสดงผล ซึ่งเป็นจอชนิด OLED มีความสว่างชัดเจน มองเห็นง่ายเป็นสีเขียว
ฟังก์ชันในหน้าจอเครื่องรับของ MIPRO
อย่างแรกคือโหมดแชนแนล โดยตัวเครื่องจะแสดงสถานะขณะนั้นว่า ใช้งานแชนแนลเท่าไหร่ ID เท่าไหร่ มีการแสดงผลของแบตเตอรี่ว่าขณะนั้นแบตอ่อนหรือเต็ม รวมถึงแสดงสถานะการรับส่ง High/Low ทั้งหมดจะแสดงพร้อมกันทั้งสองแชนแนล โดยจะมีลูกศรชี้อยู่ตรงกลาง เนื่องจากเครื่องรุ่นนี้มีปุ่มควบคุมเพียงปุ่มเดียว
ฉะนั้น ในขณะปรับแต่งค่า จะมีลูกศรชี้ว่าขณะนั้นเราจะควบคุมแชนแนลไหน หัวลูกศรชี้ซ้ายและชี้ขวา เพื่อให้เราปรับแต่งแชนแนลต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ในช่วงที่เครื่อง Standby หน้าจอจะไม่ค้างตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นตัวหนังสือวิ่งธรรมดา เพื่อไม่ให้หน้าจอสว่างจ้า กรณีที่มีการใช้งาน หน้าจอจะสว่างปกติ สรุปคือคล้ายกับโหมดพักหน้าจอมือถือ
ขั้วต่อเสาอากาศ A ด้านหลังเครื่องอีกฝั่ง
ส่วนด้านหลังเครื่อง ช่องเชื่อมต่อสัญญาณจะมีทั้งแบบอันบาลานซ์ (Unbalance) และบาลานซ์ (Balance) โดยช่องบาลานซ์จะเป็นขั้วต่อแบบ XLR มีแชนแนล 1 และ 2 ส่วนช่อง 1/4 นิ้วจะเป็นชนิดอันบาลานซ์ มีแชนแนล 1, 2 เช่นกัน ตรงกลางจะมีสวิตซ์เลือก โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้สัญญาณไมค์ทั้ง 2 ตัวนั้นรวมกันหรือไม่ แล้วเชื่อมต่อไปเข้ามิกเซอร์
ตรงนี้เป็นประโยชน์กับมิกเซอร์ที่มีแชนแนลจำกัด หรือโหมดแยกสัญญาณไมค์แต่ละตัวออกจากกัน ทำให้ไมค์ ตัวที่ 1 และไมค์ตัวที่ 2 ต่อออกไปภายนอกคนละช่อง วิธีนี้ผู้ใช้ต้องต่อสายสัญญาณสองเส้นไปเข้ามิกเซอร์ และกรณีเลือกเป็นโหมด Mix สัญญาณจะออกเป็นอันบาลานซ์ หากลากสายยาวๆ อาจจะเสี่ยงต่อการจี่ฮัม
แต่ปกติหากเราต่อสายยาวๆ ก็ควรจะเป็นการต่อแบบบาลานซ์ เช่นกรณีนำเครื่องรับไปวางใกล้เวที แล้วลากสายสัญญาณมาเข้ามิกเซอร์ หากต่อสายผ่านมัลติคอร์ ก็ควรต่อแบบบาลานซ์ หรือหากไม่ต้องการลากสายยาวๆ อาจเลือกการต่อเสานอกที่มีอัตราการขยายสูงๆ ซึ่ง MIPRO ก็มีบูสเตอร์ แต่จะไม่ใช่เสาแบบใบพัด มันจะเป็นเสาคล้ายๆ พวกเซลลูลาร์
ไมค์แบบด้ามจับ (ACT-24HC) แถม 2 ตัว
MIPRO รุ่นนี้แถมไมค์ให้ 2 ตัว ซึ่งผู้ซื้อต้องเลือกแบบใดแบบหนึ่ง เช่น ไมค์แบบด้ามจับ (ACT-24HC) หรือแบบเหน็บเอวแบบบอดี้แพ็ค (ACT-24TC) สำหรับความพิเศษของไมค์รุ่นนี้ จะมีความแตกต่างจากไมค์รุ่นเก่าที่ MIPRO เคยผลิต อย่างแรกไมค์ด้ามจับจะมีแบตเตอรี่ในตัว และสามารถชาร์จได้ หาซื้อได้ง่าย ขนาดอ้วนกว่าถ่าน AA แต่จะสั้นกว่า ซึ่งหาซื้อแบตเตอรี่รุ่นนี้ได้ตามร้านขายกล้องถ่ายรูป ตำแหน่งใส่ถ่านจะอยู่ด้านส่วนหัวไมค์ จากนั้นเปิดใช้งานไมค์ได้ทันที
ตัวส่งใช้เหน็บเอวแบบบอดี้แพ็ค (ACT-24TC) แถมฟรี 2 ตัว
สวิตซ์ของไมค์ลอยรุ่นนี้สามารถล็อคได้ เช่นล็อคให้เปิดใช้ตลอดเวลา ซึ่งสามารถทำงานได้แบบไมค์ที่ไม่มีสวิตซ์เปิด/ปิดนั่นเอง จำเป็นสำหรับงานบนเวทีใหญ่ๆ เพื่อป้องกันผู้ใช้ปิดสวิตซ์ ซึ่งซาวด์เอ็นจิเนียร์จะเป็นผู้คุมสัญญาณผ่านมิกเซอร์เอง
MIPRO ส่งได้ระยะไกลกี่เมตร
ไมค์รุ่นนี้มีภาครับเป็นแบบ True Diversity โดยใน 1 ความถี่นั้นจะมีภาครับ 2 ชุด เครื่องนี้มี 2 ชุดความถี่ ก็จะมีภาครับทั้งหมด 4 ชุด ซึ่งภาครับทุกตัวจะทำงานพร้อมกัน โดยจะเลือกสัญญาณตัวดีที่สุดมาใช้งาน ตามสเป็คโรงงานสามารถรับได้ไกลถึง 100 เมตร ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นพื้นที่โล่ง หากเป็นพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางระยะรับส่งก็จะสั้นลง เนื่องจากคลื่น 2.4GHz เป็นความถี่ที่สั้น โดยธรรมชาติหากสิ่งกีดขวางมีขนาดใหญ่กว่าความยาวคลื่น คลื่นจะถูกลดทอน
ดังนั้นความสามารถในการสะท้อน การกระจายตัวคลื่นจะทำงานได้ไม่ดีเท่า UHF, VHF แม้มันจะทะลุทะลวงได้ดีกว่า แต่การสะท้อนจะทำได้น้อยกว่านั่นเอง ดังนั้นโอกาสที่คลื่นจะหลุดก็ยังมีอยู่ จากการทดสอบในพื้นที่โล่ง ระยะ 50 เมตร สามารถทำงานได้ปกติ แม้ว่าโรงงานจะการันตีระยะ 100 เมตรก็ตาม
อะแดปเตอร์สำหรับแท่นชาร์จ
แต่การใช้งานจริงต้องดูสภาพหน้างานว่ามีองค์ประกอบเป็นอย่างไร แน่นอนที่สุด ในจุดที่เราไม่เสี่ยงต่อการหลุดของสัญญาณ สภาพพื้นที่ควรโล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวางจะดีที่สุด หรือหากมีระยะไกลมาก ควรใช้บูสเตอร์ติดเสานอกช่วย แต่หากจัดวางอุปกรณ์ให้ดี ลำพังเสาที่มากับตัวเครื่องก็ส่งได้ไกลถึง 100 เมตรเลยทีเดียว
แต่ถ้าไม่ใช่พื้นที่โล่งระยะที่หวังผลได้ประมาณ 20-30 เมตร เช่นพื้นที่ในโรงแรม ฉะนั้นหากนำไปใช้ในอีเว้นต์ตามห้าง หรือสถานที่ต่างๆ ที่มีระยะรับส่ง 30 เมตร สามารถใช้ได้แน่นอน จะวางเครื่องรับไว้ข้างเวทีหรือหน้ามิกซ์ก็ไม่มีปัญหา
สิ่งที่ต้องระวัง เวลาใช้งานจริงนั้น ผู้พูดไม่ได้ยืนนิ่งอยู่กับที่แล้วพูด บางครั้งอาจมีการเดินไปพูดไปมีแอคชันต่างกัน และไมค์ด้ามจับกับไมค์บอดี้แพ็คระยะรับส่งก็ไม่เท่ากัน แม้สเป็คจะระบุมาเหมือนกันก็ตาม กรณีบอดี้แพ็คจะติดอยู่ที่เอว รุ่นนี้แถมไมค์หนีบปกเสื้อ (กรณีเลือกแบบบอดี้แพ็คคู่) หากต้องการใช้ไมค์คาดศีรษะต้องซื้อแยกต่างหาก
แถมแท่นชาร์จ
ไมค์รุ่นนี้มีแท่นชาร์จให้ และความพิเศษของแท่นชาร์จนี้ หากผู้ใช้มีมากกว่า 2 แท่น สามารถวางล็อคติดเป็นชุดเดียวกันได้ คือจะเรียงเป็นแพยาวได้เลย ในการชาร์จแบตฯ สามารถนำส่วนด้ามของไมค์เสียบเข้าช่องชาร์จบนแท่นได้ กรณีมีบอดี้แพ็คก็นำมาเสียบร่องบนแท่นได้ สรุปว่าสามารถชาร์จได้ทั้งบอดี้แพ็คและไมค์ด้ามจับ
แท่นชาร์จใช้ได้กับไมค์ถือและบอดี้แพ็ค รวมถึงก้อนแบตเตอรี่
ชาร์จ 1 ครั้งใช้งานได้กี่ชั่วโมง
จากประสบการณ์ของผู้ใช้ ในการชาร์จหนึ่งครั้ง แล้วนำไปใช้งานสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ผ่านไป 3 เดือนยังไม่มีการชาร์จเลย ไมค์รุ่นนี้ไม่เปลืองแบตฯ แต่กรณีเราใช้งานต่อเนื่องเช้าถึงเย็นทั้งวัน ก็สามารถใช้ได้ปกติ โดยไม่ต้องชาร์จระหว่างวัน สามารถออกงานได้ต่อเนื่อง 8 ชั่วโมง โดยไม่ต้องชาร์จ อย่างไรก็ดี ถ้าจบงานแล้วควรจะชาร์จ หรือหากมีแบตฯสำรองก็สามารถชาร์จทิ้งไว้สำหรับเปลี่ยนกรณีฉุกเฉินได้
ถ่านชาร์จรุ่น ICR18500 ขนาด 1800mA, 3.7V
แต่ถ้าไม่มีแบตฯสำรอง ในระหว่างที่ไม่มีการใช้ไมค์ก็ให้เสียบไมค์บนแท่นชาร์จได้ โดยทั่วไปไมค์ที่ใช้ถ่านอัลคาไลน์ มักจะมีการถอดเปลี่ยนเมื่อถ่านหมด แต่ไมค์รุ่นนี้ชาร์จได้ทุกเวลา หรือกรณีใช้ไมค์หลักพูดครั้งละหนึ่งตัว แต่อีกตัวชาร์จสำรองไว้ก็ได้ โดยใช้สลับกันไป และอายุของแบตฯชนิดนี้ก็ยาวนาน ผ่านไปเป็นปีก็ยังไม่เสื่อม แบตฯรุ่นนี้มีกระแส 1800mA 3.7V ถ่านรุ่นนี้ชื่อ ICR18500 มีราคาตั้งแต่ 200-800 บาท ถูกแพงตามค่ากระแสของแบตฯ
สเป็คไมค์ด้ามจับ
ตัวนี้ไม่ได้ปรับความถี่ที่ตัวไมค์ แต่จะใช้วิธีซิงค์ผ่านกับเครื่องโดยตรง หมายความว่าในการปรับความถี่ต่างๆ นั้น ผู้ใช้จะปรับผ่านเครื่องรับ หลังจากปรับผ่านเครื่องรับ โดยมีอินฟาเรดที่อยู่บนตัวไมค์ทำการซิงค์สื่อสารกับตัวเครื่อง เมื่อเราตั้งแชนแนลที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว จากนั้นกด ACT จากนั้นมันจะเริ่มซิงค์โดยอัตโนมัติ แล้วให้เราใช้ด้านที่เขียนว่า ACT จ่อเข้าหากัน ระยะห่างประมาณ 1 คืบ วิธีนี้ผู้ใช้ไม่ต้องตั้งที่ตัวเครื่องหรือตัวไมค์ เพราะบางรุ่นจะต้องตั้งบนเครื่องและตัวไมค์ สรุปว่าไมค์รุ่นนี้ติดตั้งใช้งานง่าย
โหมดการทำงานของเครื่องรับ
มีทั้งหมดประมาณ 5 โหมด ได้แก่
- โหมดตั้งแชนแนล ผู้ใช้สามารถตั้งแชนแนล 1-12 ได้
- โหมดตั้งค่า ID 1-64
- โหมดตั้งกำลังส่งและความดัง ซึ่งมี 2 ระดับคือ High และ Low กรณีใช้ในห้องประชุมขนาดเล็กอาจตั้งกำลังส่งเป็น Low ก็เพียงพอ ซึ่งจะช่วยประหยัดแบตฯ ให้ใช้ได้นานขึ้น ตั้งค่าความดัง เป็นการตั้ง Gain โดยตั้งได้ 10 ระดับ
- โหมด EQ ซึ่งปรับได้ 2 แบบคือ Low-cut กับ flat หากต้องการไมค์ลอยที่สามารถ low-cut ได้ MIPRO รุ่นนี้ถือว่าตอบโจทย์ เพราะส่วนใหญ่จะไปปรับบนมิกเซอร์
- โหมด Scan ความพิเศษคือ เมื่อมีการใช้งานโหมดนี้มันจะโชว์ทั้ง 12 แชนแนลบนหน้าจอ ซึ่งจะมีสัญญาณของแต่ละแชนแนลให้เราเห็นว่า ใน 1-12 แชนแนลนั้นมีแชนแนลไหนที่ใช้งานอยู่บ้าง แชนแนลไหนว่าง โดยจะบอกเป็นระดับสัญญาณ หากแชนแนลใดมีระดับสัญญาณสูงมาก นั่นหมายถึง แชนแนลนั้นมีการใช้งานแล้ว หากเราใช้งานแชนแนลนั้นจะถูกรบกวนได้ง่าย ดังนั้น ผู้ใช้สามารถเลือกความถี่ที่ต้องการได้ ผู้ใช้อาจเลือกช่องสัญญาณที่ยังว่างอยู่มาใช้ เมื่อทำการล็อค ระบบจะซิงค์ให้ทันที โดยที่ ID ยังเป็นเลขเดิม เพียงแค่เปลี่ยนแชนแนลใหม่เท่านั้น ปกติโหมดนี้จะไม่ค่อยเห็นในเครื่องราคาระดับนี้ ส่วนใหญ่มักจะพบในเครื่องราคาสูง แต่รุ่นนี้สามารถเช็คความถี่ในอากาศได้ มีระบบ Analyzer ในตัว
สรุป
ไมโครโฟนไร้สายหรือไมค์ลอยรุ่นนี้ ถือเป็นรุ่นใหม่ ที่บริษัทนัฐพงษ์ฯนำเข้ามาจำหน่ายในไทย ซึ่งสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้หลายๆ อย่าง เช่น สถานที่ที่มีการใช้ไมค์หลายๆ ตัว จำเป็นต้องใช้ไมค์เยอะ MIPRO ACT-2412A สามารถรองรับความต้องการนั้นได้ โดยสัญญาณจะไม่รบกวนกัน
ประเด็นสำคัญคือย่าน 2.4GHz ยังถือเป็นย่านความถี่ใหม่ หากเทียบกับคลื่นเดิมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือย่าน UHF แต่ในท้องตลาดอาจจะหายาก หากซื้อมาแล้วก็มีเวลาใช้งานอย่างจำกัด ดังนั้น ไมค์ลอยย่าน 2.4GHz จึงมาเติมช่องว่างนี้
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ใช้งานง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบตเตอรี่ ขั้นตอนการชาร์จ และการนำไปใช้งาน เนื่องจากไมค์รุ่นนี้อยู่ในช่วงความถี่ของ Wi-Fi จะเกี่ยวข้องกับคลื่นของอุปกรณ์พวกเราท์เตอร์ แอคเซสพ้อยต์ ยังมีปัญหารบกวนกันอยู่ แต่ไม่ถึงกับรุนแรง เช่นหากนำเราท์เตอร์ Wi-Fi กำลังส่งสูง มาวางใกล้กับเครื่องรับส่งของไมค์รุ่นนี้ ปัญหาการรบกวนกันอาจเกิดขึ้นได้
แต่หากระยะห่างกันประมาณ 1-2 เมตรขึ้นไป จากที่มีการทดลองใช้งานจริง ก็สามารถใช้งานได้ปกติ ผู้ใช้ที่กำลังตัดสินใจซื้อไมค์ลอย 2.4GHz ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี เรายังสามารถเช็คผ่านเครื่องรับได้ว่า มีคลื่นความถี่ใดที่อยู่บริเวณนั้น หากพบว่าช่องใดมีการใช้งานหนาแน่น ก็ให้ข้ามไปใช้ช่องอื่นที่เบาบางกว่า
สำหรับคุณสมบัติทางเทคนิคของไมโครโฟนรุ่นนี้ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> ACT-2412A
บทความที่เกี่ยวข้อง :
Review | ไมโครโฟน Superlux TM58
รีวิว : Carol ∑-Plus 1 และ PS-1 ไมค์จากไต้หวัน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท นัฐพงษ์ เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด
สำนักงานใหญ่บ้านหม้อ โทร 0-2225-0094
สาขาเซียร์รังสิต โทร 0-2992-7379
สาขาศาลายา โทร 0-2889-5496
หากสนใจสั่งซื้อสินค้าสามารถแวะเยี่ยมชมได้ทางเว็ปไซต์ www.mynpe.com และผ่านทาง Fanpage ของบริษัทได้ที่ www.facebook.com/mynpethailand หรือจะเข้ามา Follow twitter, Instagram, Line@ ของบริษัทก็ได้เช่นกันที่ @myNPEThailand ตามช่องทางที่สะดวก