Workshop | เรื่องเสียงบนเวที…เข้าใจยาก แต่ควบคุมได้ (ตอนที่ 1)

easystage950-628px_ok

เรื่องเสียงบนเวที – เหตุผลที่ควรเลือกเป็น DI-Box แบบพาสซีฟกับกีตาร์เบสนั้น เพราะเบสเป็นแอคตีฟ หากสัญญาณแอคตีฟของเบสไปเจอแอคตีฟของ DI-Box ย่าน Low เนื้อเบสบางตัวจะแข็งขึ้น เสียงจะไม่อุ่น

ทีมแอปพลิเคชัน บ.มหาจักรฯ

มหาจักรฯ ร่วมกับธีระมิวสิค และเอ็ม.ไอ. เอ็นจิเนียริ่ง จัดกิจกรรมแบ่งปันความรู้ หัวข้อการเลือกอุปกรณ์ การ Miking บนเวที และการทำงานอย่างมืออาชีพ @Mahajak Hall อาคารมหาจักร (สำนักงานใหญ่) ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งงานที่มีผู้เข้าร่วมอบรมมากที่สุดในรอบปี โดยมีบรรดามืออาชีพเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง งานนี้บรรยายโดยทีมแอปพลิเคชัน และแขกรับเชิญ

easystage_01

สำหรับงานเวิร์คช็อปครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อปลายปี 62 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการระบบเสียงบนเวที ภายใต้หัวข้อ เรื่องเสียงบนเวที คอนเซ็บต์หลักเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการจัดการวงดนตรีเล่นสดว่าต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ปกติเวลาคนทำงานเกี่ยวกับระบบเสียงที่เกี่ยวข้องกับเวที มีวงดนตรีซึ่งงานแบบนี้ไม่ใช่แค่งานอีเว้นต์ที่เป็นลักษณะแค่มีไมค์พูดตัวเดียว

เริ่มมีเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด เราจึงจำเป็นต้องวางแผนว่าอุปกรณ์ที่เราจะนำมาใช้บนเวทีในการรับสัญญาณต่างๆ จากเครื่องดนตรีเราต้องพิจารณาอะไรบ้าง หลักๆ คือไมโครโฟน ซึ่งไมค์จะทำหน้าที่รับแหล่งกำเนิดเสียง นอกจากนั้นเราต้องมีอุปกรณ์อื่นให้นักดนตรีฟังเสียงด้วย ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจนักดนตรีว่า เขาก็ต้องการได้ยินสิ่งที่เขาเล่นและสิ่งที่เพื่อนร่วมวงเล่นไปด้วย นั่นคือเรื่องของมอนิเตอร์ จากนั้นเราต้องมีการซาวด์เช็ค ซึ่งงานครั้งนี้ก็จะรู้วิธีการเซตอัพมิกเซอร์สำหรับมอนิเตอร์บนเวทีและ PA

Easystage_02

การเลือกใช้อุปกรณ์

อุปกรณ์พื้นฐานนอกจากไมโครโฟนแล้วยังมีอุปกรณ์หนึ่งที่ชื่อ DI-Box อุปกรณ์เครื่องดนตรีทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกีตาร์เบส กีตาร์โปร่ง กลอง คีย์บอร์ดจำเป็นต้องมีอุปกรณ์รับสัญญาณเฉพาะของมัน อย่างเช่นกีตาร์เบส หรือเปียโนไฟฟ้า จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีวงจรเป็นไฟฟ้า เช่นเบสแอคตีฟ จำเป็นต้องผ่าน DI-Box

เนื่องจากสัญญาณจากตัวกีตาร์เบสเป็น Unbalanced กล่าวคือเป็นสัญญาณที่มีเฉพาะซีกบวกและกราวน์ ไม่มีซีกลบ ขณะที่มิกเซอร์ต้องการสัญญาณ Balanced นั่นคือสัญญาณต้องมี [บวก][ลบ][กราวน์] สัญญาณจากเครื่องดนตรีจึงต้องผ่าน DI-Box เสียก่อน และ DI-Box มันจะมีอินพุตลิงค์ ซึ่งช่องดังกล่าวนี้ มันจะย้อนกลับไปหาตู้แอมป์

ข้อดีของมันคือมิกเซอร์กับหน้าตู้จะมีอิสระในการปรับแต่งแยกกัน หน้าตู้ต้องการแบบไหนปรับแต่งได้ตามใจ ซึ่งจะไม่มีผลกับเสียงที่เข้าสู่มิกเซอร์ ส่วนเปียโนไฟฟ้าต้องใช้ DI-Box เช่นกัน ส่วนจะใช้ชนิดไหนเดี๋ยวมาศึกษากัน

Soundcraft_Vi1000
Soundcraft Vi1000


สำหรับอุปกรณ์ดนตรีงานเวิร์คช็อปครั้งนี้เป็นการจำลองอุปกรณ์คล้ายกับคอนเสิร์ตเล็กๆ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีกีตาร์เบส กีตาร์ กลองชุด คีย์บอร์ด ไมค์ร้องและระบบมอนิเตอร์ สัญญาณทุกอย่างจะถูกส่งเข้าไปที่ Soundcraft Vi-1000 และจ่ายสัญญาณไปหาระบบ PA ซึ่งเป็นชุดลำโพง JBL ทั้งเซตคือรุ่น Vertec 4886 ส่วนตู้ซับเป็น VTX G28 จำนวน 4 ใบ มิกเซอร์ตัวนี้นอกจากจะจัดการสัญญาณฝั่ง PA ยังส่งสัญญาณขึ้นไปบนเวทีอีกด้วย ซึ่งเราจะมาเจาะรายละเอียดกันอีกที

การเลือกไมโครโฟน

เรื่องเสียงบนเวที ส่วนใหญ่เวลาซาวด์เช็คเราจะเริ่มจากกลองชุด ซึ่งกลองใบแรกที่เราจะซาวด์เช็คกันคือ

กระเดื่อง (Kick)

ไมโครโฟนที่ใช้กับกระเดื่องจะมี 2 ประเภท คือคอนเด็นเซอร์ที่ใช้วางไว้ภายในกลองกระเดื่อง ส่วนใหญ่เราจะใช้ Shure BETA91 หรือบางคนอาจจะชอบจ่อปล่องกลองก็จะใช้ Shure BETA52 ซึ่งคาเร็กเตอร์เสียงทั้งสองรุ่นนั้นต่างกัน อย่างไรก็ดี ไม่ได้เจาะจงว่าควรจะเป็นตัวใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและสไตล์ดนตรี แนวเพลงเป็นหลัก หรือบางคนใช้ทั้งสองตัวมามิกซ์รวมกัน ทั้งรูปแบบ Inside, Outside ก็ได้

Shure BETA91


สำหรับ Shure BETA91 ในวงการจะฮิตกันมาก เหมาะกับวางในตัวกลอง ทิศทางการรับเสียงจะเป็นแพทเทิร์นจะเป็น Half cardioid ปกติตำแหน่งที่บางคนจะวางกันคือตรงกลางและถอยหลังมาเล็กน้อย อันนี้แล้วแต่ชอบ บางคนชอบรับเสียงของบอดี้กลองจากด้านในเป็นหลัก

ดังนั้นจึงต้องจบเสียงจากบอดี้กลองให้ได้ก่อน เช่นการจูนหนังกลอง การเอาผ้า วัสดุต่างๆ ไปใส่ในกระเดื่อง หมายความว่าเสียงของกระเดื่องสดๆ ต้องไพเราะ หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องนำผ้า นำหมอนไปใส่ในกระเดื่องทำไม เนื่องจากกระเดื่องบางตัวมีการสะท้อนภายในของเสียงค่อนข้างมาก ทั้งหนังและตัวไม้ ทำให้เวลาเหยียบกระเดื่องแล้วเสียงไม่ตึ้บ! กลับได้เสียงกลวงๆ ป๊องๆ มาแทน

Shure BETA52


ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำวัสดุบางอย่างมาซับเสียงเพื่อให้เกิดการสะท้อนภายในให้น้อยลง เราก็จะได้เสียงหนังเสียงบอดี้ของกลองชัดขึ้น บางคนใส่หมอนใส่ผ้าเต็มเลย บางคนใส่หมอนทั้งลูกเข้าไปก็มี เมื่อเราปรับปรุงเสียงสดของกระเดื่องจบแล้ว เราค่อยนำไมค์ไปจ่อ แต่หากเสียงกระเดื่องยังไม่ดี แล้วเรานำไมค์ไปจ่อ สิ่งที่รับมานั้นจะได้เสียงที่ไม่ดี ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการมิกซ์ทำงานยาก

สแนร์ (Snare)

ควรเลือกเป็นไมค์แบบไดนามิกเป็นหลัก บางคนเลือกเป็น Shure SM Series ตัว SM57 ถือว่านิยมใช้กันมาก แต่หลายคนเลือกใช้เป็น Shure BETA57 แต่บางคนอาจจะไม่ชอบ BETA เพราะย่านความถี่สูงถูก EQ ขึ้นไปนิดนึง ทำให้เสียงย่าน High มันเชิด ดังนั้นบางคนจึงไม่เลือกใช้ ซึ่งไมค์ของ Shure SM Series ถือเป็นรุ่นระดับรองจาก BETA สังเกตง่ายๆ มันมักจะมีวงแหวนสีฟ้าอยู่ตำแหน่งหัวไมค์

ส่วน SM57 จะต่างไปตรงที่จะมีตะแกรง แน่นอนสิ่งที่ต่างกันคือ BETA จะให้โทนเสียงย่าน High ที่ชัดเจนกว่า ถามว่าเราใช้ไมค์แบบคอนเด็นเซอร์ได้หรือไม่ ตอบว่าได้ ซึ่งทอมจะใช้ไมค์ชนิดนี้ มีทั้งหมด 3 ตัว งานเวิร์คช็อปนี้จะใช้ไมค์จ่อฟลอร์ทอม (Floor Tom) ทั้งหมด 3 Series คือ Shure PGA56, Shure PGA98 พวกนี้เป็นคอนเด็นเซอร์

Shure SM57


เราจะได้รู้ว่าเมื่อนำมาจ่อกับฟลอร์ทอมแล้วเสียงจะเป็นอย่างไรบ้าง ไมค์รุ่นนี้ยังจ่อสแนร์ได้ด้วย สำหรับไมค์ SM57 ถือเป็นไมค์เอนกประสงค์ใช้งานได้กว้าง จ่ออะไรก็ได้ ส่วนตำแหน่งโอเวอร์เฮดและ Hi-Hat ส่วนใหญ่จะใช้คอนเด็นเซอร์ไมค์ เหตุผลเพราะเร้นจ์ของการรับเสียงและการตอบสนองทำได้ดีกว่าไดนามิกไมค์

Shure PGA56 (ซ้าย) | Shure PGA98 (ขวา)


ถ้าพิจารณาระยะการรับเสียง จากหน้ากลองมาถึงตำแหน่งหัวไมค์ ในระยะห่างเท่ากัน ไดนามิกจะดูดเสียงน้อยกว่า เราต้องเร่ง Gain ของไมค์เพื่อให้รับเสียงได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเสียงอื่นๆ ก็จะแทรกปะปนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นมอนิเตอร์หรือหน้าตู้ก็ตาม ไมค์ไดนามิกต้องใช้ Gain เยอะ ทำให้เสียงอื่นๆ รั่วเข้ามาเยอะ เช่น กระเดื่อง กีตาร์ มอนิเตอร์ ดังนั้น Hi-Hat และโอเวอร์เฮดควรเป็นคอนเด็นเซอร์

เลือกไมค์หน้าตู้กีตาร์/เบสอย่างไร

ส่วนใหญ่กีตาร์ที่เราเห็นบ่อยๆ คือจะใช้ Shure SM57 แต่งานเวิร์คช็อปใช้เป็นคอนเด็นเซอร์ไมค์ ความสะดวกคือหน้าตู้จะไม่ใช้ขาไมค์วาง มันสะดวกเพราะห้อยไปกับหน้าตู้ ไม่ว่าการวางตู้จะหน้าเอียงหรือหน้าตรงก็ตาม โดยใช้ PGA181 เป็นคอนเด็นเซอร์ที่ต้องจ่ายไฟ Phantom +48V ตำแหน่งการจ่อคือกลางดอกลำโพง ถัดมาเป็นตู้กีตาร์เบส สำหรับเบสใช้ไมค์จ่อผลลัพธ์จะไม่ดีในการเล่นสด แต่ใช้ได้ดีในการบันทึกเสียง ในค่ายเพลงบางแห่งจะอัดกันหลายๆ ไลน์ เช่น

  • DI-Box 1 ไลน์
  • BETA52 อีก 1 จับย่าน Low
  • SM57 จับย่าน Mid
  • เสียงแหลมใช้ SM81 จ่อ
Shure PGA181 (ซ้าย) | Shure SM81 (ขวา)


สรุปใช้ไมค์ 3 ตัวกับอีกไลน์ สามารถทำได้ แต่สำหรับงานแสดงสดนั้น การจ่อตู้เบสจะสร้างปัญหาให้กับซาวด์เอ็นจิเนียร์ กับระบบมอนิเตอร์ค่อนข้างเยอะ การใช้ไมค์ทั้ง 3 แบบจ่อพร้อมกัน เรื่อง Phase Shift มีแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียงคือเสียงจะดร็อปลงไป

ฉะนั้นงานเล่นสดจึงเลือก DI-Box งานนี้ใช้ dbx dB10 ซึ่ง dbx มีอยู่ 2 รุ่นคือ dB10 และ dB12 สิ่งที่แตกต่างคือ dB10 จะเป็นพาสซีฟ ส่วน dB12 เป็นแอคตีฟ เหตุผลที่ควรเลือกเป็น DI-Box แบบพาสซีฟกับกีตาร์เบสนั้น เพราะเบสเป็นแอคตีฟ หากสัญญาณแอคตีฟของเบสไปเจอแอคตีฟของ DI-Box ย่าน Low เนื้อเบสบางตัวจะแข็งขึ้น เสียงจะไม่อุ่น

อันนี้เป็นประสบการณ์จากมือเบสท่านหนึ่ง ได้ทดสอบกันหลายๆ แบบ จึงจบที่เวลาใช้เบสแอคตีฟจะต้องใช้ DI-Box เป็นพาสซีฟ ย่านเสียงเบสมันจะอุ่นกว่า มีความเป็นธรรมชาติกว่า ถามว่าจะดูอย่างไรว่าเบสตัวนั้นเป็นพาสซีฟหรือแอคตีฟ ให้ดูว่าถ้าเบสใช้ถ่านคือเบสแอคตีฟ ถ้าไม่ใช่ถ่านคือเบสพาสซีฟ

dbx_dibox

อย่างไรก็ดี ความแรงของสัญญาณเบสแอคตีฟจะต่างกันเล็กน้อย ถ้าเช็คว่าเบสเป็นพาสซีฟให้เราเลือก DI-Box เป็นแอคตีฟ วิธีการต่อคือต่อเอาต์พุตจากเบสไปหา DI-Box แล้วนำเอาต์พุตจาก DI-Box ไปเข้าหน้าตู้ ขณะเดียวกันให้นำเอาต์พุต Balanced ของ DI-Box ไปเข้าระบบมิกเซอร์ ซึ่งตัว DI-Box จะทำหน้าที่เป็นตัว Split สัญญาณด้วย

ในส่วนกีตาร์โปร่งก็จะใช้ DI-Box อีกหนึ่งตัวไปรับเสียง ว่าไปแล้วกีตาร์โปร่งเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่แนะนำให้ใช้กับตู้แอมป์กีตาร์ เหตุผลเพราะว่าคาเร็กเตอร์ของตู้แอมป์จะทำให้คาเร็กเตอร์กีตาร์โปร่งเปลี่ยนไป นอกจากนั้นมักจะมีปัญหาฟีดแบ็กของซาวด์โฮล (sound hole) จากบอดี้กีตาร์ แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่าปัญหาคาเร็กเตอร์ที่เกิดจากตู้แอมป์ ดังนั้นกีตาร์โปร่งจึงควรใช้ DI-Box เช่นเดียวกับกีตาร์เบส หลักการเดียวกัน กีตาร์โปร่งถ้ามีปิ๊กอัพในตัวก็ต้องใช้ถ่านแล้วใช้ร่วมกับ DI-Box แบบพาสซีฟ

dbx dB10 (ซ้าย) | dbx dB12 (ขวา)


ส่วนเปียโนไฟฟ้า งานนี้ใช้ DI-Box จำนวน 2 ตัว จริงๆ แล้วจะเลือกใช้ DI-Box แบบไหนก็ได้ เคสงานนี้ใช้ dB12 ซึ่งเป็นแอคตีฟ วิธีการเชื่อมต่อนั้น อาจพบว่าเปียโนไฟฟ้าหรือคีย์บอร์ดบางรุ่นไม่มีเอาต์พุตแบบ Balanced เหมือนกับรุ่นที่ใช้ในครั้งนี้ จึงต้องนำสัญญาณช่องนั้นไปเข้า DI-Box เสียก่อน แล้วนำเอาต์พุตจาก DI-Box ไปเข้าอินพุตของตู้แอมป์คีย์บอร์ด

ส่วน Balanced เอาต์พุตก็นำไปเข้าบอร์ดมิกเซอร์ปกติ ซึ่ง Roland RD-700/800/2000 จะมี Balanced เอาต์พุต ทำให้เราสามารถนำสัญญาณจากช่องดังกล่าวไปเข้าระบบได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องใช้ DI-Box ก็ได้ แต่สำหรับช่อง Unbalanced ยังไงก็ต้องนำเข้าตู้แอมป์อยู่ดี งานนี้เลือกใช้ตู้คีย์บอร์ด JBL EON ONE เราคงเคยเห็น มือคีย์บอร์ดใช้ตู้แอมป์เตี้ยๆ ซึ่งซาวด์เอ็นจิเนียร์หลายคนมักจะเจอปัญหาว่ามือคีย์บอร์ดเล่นดังมาก

เพราะตัวนักดนตรีไม่ได้ยินเสียงจากตู้แอมป์ เพราะตำแหน่งตู้อยู่ต่ำกว่าระดับหูของเขา เสียงมันจึงลอดขาผ่านไป ล้นออกไปหน้าเวทีเยอะมาก งานนี้จึงเลือกใช้ลำโพงแบบคอลัมน์แล้ววางระดับของลำโพงให้อยู่ในระดับหูพอดี แบบนี้มือคีย์บอร์ดจะไม่เล่นดังเกินไปแน่นอน ตัว EON ONE จะปรับระดับความสูงได้ถึง 3 ระดับ ถ้ายืนเล่นก็ใส่ก้านสูงเข้าไป ซึ่งตัวแท่งคอลัมน์มันสูงพอที่จะเล็งเข้าตำแหน่งหูนักดนตรีแน่นอน เมื่อเสียงมันชัดตรงหูจะทำให้เขาไม่เล่นดัง ทำให้เสียงไม่ล้นออกไปหน้าเวที เสียงบนเวทีก็จะสะอาดขึ้น… (โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป)

easystage_art

บทความที่เกี่ยวข้อง :
Ui24R : เวิร์กช็อปการต่อพ่วงมิกเซอร์ 2 เครื่อง (01)
รายงานพิเศษ | งาน Shure Enhanced Digital Network Solution

สนใจสินค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าได้ที่:
บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด
โทร. 02-2560020
Website: www.mahajak.com
Youtube : Mahajak Channel
Line : @MahajakPro

Read Previous

Soundcraft Ui12 & Ui16 (ตอนที่ 1)

Read Next

Workshop | รู้ลึก รู้จริง!! เรื่อง Network สำหรับช่างเสียง