DZR Series ลำโพง Active 2000W จาก Yamaha

DZR banner950-628px

DZR กำลังขับ 2000W วงจรขยายแบบ Class-D ให้ความดังสูงสุดที่ 143dB SPL คุณภาพเสียงระดับอาชีพ

RT60

DZR เป็นลำโพง Active อีกหนึ่งซีรี่ส์ของ Yamaha ด้วยดีไซน์ที่ล้ำสมัย ความแตกต่าง DZR เมื่อเทียบกับลำโพงซีรี่ส์อื่นๆ พบว่าในซีรี่ส์นี้จะเน้นเรื่อง SPL กับ DSP รวมถึงการนำเทคโนโลยี Audio Networking อย่าง Dante ผนวกเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับตัวลำโพง

ล่าสุดเปิดให้อัพเกรด Firmware V1.2.2 ทำให้สามารถกำหนดให้สัญญาณอะนาลอกเป็นอินพุตในรุ่นที่มี Dante ได้ คาดว่าจะตอบโจทย์การใช้งาน PA งานติดตั้งถาวรทั้งภายในและภายนอกอาคารได้กว้าง รวมถึงให้ความยืดหยุ่นมากขึ้น

DZR เป็นลำโพงแอคตีฟที่ให้กำลังวัตต์สูง ความดัง SPL สูง เรียกว่าจัดให้กันแบบสุดๆ กันไปเลย มีขนาดกะทัดรัด ขนย้ายสะดวก ภายใต้การออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งาน จึงทำให้ลำโพง Series นี้มีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับความดังและกำลังขับที่ได้ นับเป็นจุดสูงสุดอีกก้าวหนึ่งของ Yamaha ที่ยังรักษาความเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงและอะคูสติก

สำหรับ Yamaha ถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่อง DSP ระดับแถวหน้าของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครั้งนี้ได้นำระบบ Dante เน็ตเวิร์ก ซึ่งปัจจุบันในวงการเสียง ถือเป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การบรรจุ Dante เน็ตเวิร์กไว้ในลำโพง Series นี้หรือรหัสรุ่น DZR-D ถือเป็นไอเดียที่ชาญฉลาด นั่นทำให้ลำโพงซีรี่ส์นี้โดดเด่นและน่าใช้งาน

Yamaha DZR315 (รองรับ Dante)


DZR มีอะไรโดดเด่น

ลำโพง Yamaha DZR จัดเป็นลำโพงประเภท Powered Loudspeakers มาพร้อมกับเพาเวอร์แอมป์ ตัว DZR Series เปิดตัวครั้งแรก 8 รุ่น โดยแยกเป็นรุ่นธรรมดา 4 รุ่น

รุ่นที่มี Dante เน็ตเวิร์ก สังเกตง่ายๆ จะลงท้ายด้วยรหัส “D” ได้แก่ DZR10/10-D, DZR12/12-D, DZR15/15-D และรุ่นท็อปของซีรี่ส์คือ DZR315/315-D ทุกรุ่นมีกำลังขับ 2000W ให้ความดังตั้งแต่ 137dB SPL ถึง 143dB SPL

ลำโพง Series นี้สามารถตอบสนองย่านความถี่ได้ตั้งแต่ 31Hz-20kHz แม้ทั้งหมดจะมี 4 รุ่น แต่ขนาดของไดรเวอร์หรือตัวดอกลำโพงจะมีให้เลือกเพียง 3 ขนาดเท่านั้น

เริ่มจากไดรเวอร์ขับเสียงทุ้ม (LF) ขนาด 10 นิ้ว, 12 นิ้ว และ 15 นิ้ว ในรุ่น DZR15/15-D และ DZR315/315-D จะเลือกใช้ไดรเวอร์เสียงทุ้ม 15 นิ้วเท่ากัน

เฉพาะ DZR315 จะมีไดรเวอร์เสียงกลาง (MF) ขนาด 8 นิ้วให้มา ส่วนไดรเวอร์เสียงแหลม (HF) ทุกรุ่นมีขนาดเท่ากันคือขนาด 2 นิ้ว มุมกระจายเสียงนั้นในรุ่น DZR10, DZR12 มีมุมกระจายเสียงในแนวนอน 90 องศา และแนวตั้ง 60 องศา เฉพาะรุ่น DZR15 มุมกระจาย 90×50 องศา

Yamaha DZR15-D (รองรับ Dante)


ฟีเจอร์ของ DZR

DZR เป็นลำโพง PA ที่ต่างจากลำโพงทั่วไปในท้องตลาด โดยเฉพาะในภาค DSP ซึ่งมาพร้อมกับ FIR-X ฟิลเตอร์ ปกติฟิลเตอร์ที่ใช้จัดการด้านครอสโอเวอร์ส่วนใหญ่นั้นจะใช้เป็นแบบ IIR ซึ่งมีข้อจำกัดคือเมื่อนำไปใช้กับย่านความถี่สูงมักจะเกิดปัญหา Phase shift

และแก้ปัญหาเรื่อง Group Delay หรือแก้ปัญหา Delay เฉพาะบางความถี่ไม่ได้ ดังนั้นจุดแข็งของ FIR ฟิลเตอร์ คือจะทำงานบางอย่างที่อะนาลอกฟิลเตอร์ไม่สามารถทำได้ และนั่นเป็นข้อจำกัดของอะนาลอกฟิลเตอร์เองด้วย

กราฟเปรียบเทียบการตอบสนองทางเฟสระหว่างฟิลเตอร์ทั่วไปกับ FIR-X จะพบว่าเสียงที่ผ่าน FIR ความถี่ย่านต่างๆ โดยรวมจะเกิดเฟสเลื่อนน้อยกว่า


ในการทำงานจริง หากเราต้องการแยกความถี่ต่างๆ ออกจากกัน โดยมีเสียงทุ้มและเสียงแหลมแยกขับไดรเวอร์คนละตัว เราจำเป็นต้องใช้อิเล็กทรอนิกส์ครอสโอเวอร์เพื่อใช้สำหรับแบ่งความถี่ เช่นแบ่งเสียงทุ้มและเสียงแหลมออกจากกัน และเราจะต้องมาเซตอัพเพื่อให้ครอสโอเวอร์ทำงานหรือจ่ายสัญญาณไปให้ไดรเวอร์แต่ละตัวได้อย่างถูกต้อง

เมื่อเราทำลำโพงทั้งระบบให้ flat แล้วใส่ครอสโอเวอร์เข้าไปภายหลังมันก็จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แต่ปัญหาคือลำโพงนั้นๆ มักจะมีค่าเวลาของลำโพงแต่ละตำแหน่งที่มาไม่พร้อมกัน

ลำโพง Series นี้จึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการบรรจุ DSP ที่มีฟังก์ชัน FIR ฟิลเตอร์ แถมยังมีฟังก์ชัน Delay รวมถึงการตอบสนอง sampling rate ขนาด 96kHz จึงทำให้เอาต์พุตของสัญญาณที่ผ่านลำโพงมีคุณภาพสูง รวมถึงยังมี latency ที่ต่ำ

Yamaha DZR15 (ไม่มี Dante)


Yamaha ได้พัฒนาเทคโนโลยี FIR-X ฟิลเตอร์นี้ขึ้นมาแบบเฉพาะ โดยมีการออกแบบระบบเพื่อให้ผู้ใช้ ลดความยุ่งยากในขั้นตอนปรับจูนลำโพง อีกทั้งยังช่วยให้ลำโพงตอบสนองต่อเฟสได้ดีขึ้น ย่านความถี่เสียงออกมาสมูธขึ้น มีความชัดเจน และได้เนื้อเสียงที่มีมิติที่ดีโดยไม่มีปัญหาเรื่องเฟสดิสตอร์ชัน ภายใต้ระบบ EQ ที่แม่นยำนั้นจึงช่วยให้ได้เสียงที่สมจริง สุดท้ายผลพลอยได้คือจะได้ความดังมากขึ้น ในขณะที่คุณภาพสัญญาณไม่ดร็อปลง 

ด้านหลังตู้ลำโพงยังมีจอ LCD ที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ของ DSP ได้อย่างง่ายและรวดเร็ว สามารถโหลดพรีเซต และปรับแต่ง PEQ ปรับ Delay และการเราท์ติ้งสัญญาณ สามารถจัดเก็บยูสเซอร์พรีเซตได้ถึง 8 พรีเซต

ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งพารามิเตอร์ต่างๆ ไว้ใช้งานเอง ซึ่งเป็นค่านอกเหนือจากที่โรงงานให้มา หรือจะใช้พรีเซตจากโรงงานก็ได้ สำหรับพรีเซตเหล่านี้สามารถบันทึกจัดเก็บลงใน USB แฟลชไดร์ฟได้อีกด้วย

Yamaha DZR12-D (รองรับ Dante)


D-CONTOUR

เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่มาพร้อมกับ DZR Series ถามว่ามันคืออะไร มันเป็นมัลติแบนด์คอมเพรสเซอร์ที่ช่วยให้ DZR สามารถรักษาระดับไดนามิกของเสียงที่ออกจากลำโพงได้อย่างสม่ำเสมอ คงความชัดเจนแม้ว่าจะมีการกระแทกสัญญาณเข้าไปอย่างหนักหน่วงก็ตาม โดยรองรับการใช้งานในรูปแบบเป็น FOH/Main PA และลำโพงมอนิเตอร์ สามารถจัดการแบนด์ความถี่โดยการ Optimize EQ ได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถเพิ่มระดับเอาต์พุตได้มากขึ้น โดยที่ยังคงรักษาความชัดเจนของเสียงไว้ได้

กราฟแสดงการทำงานของโหมด D-CONTOUR
(ฝั่งซ้ายมือ) ลำโพง DZR315 ทำงานในโหมด FOH/Main จะบูสต์ย่าน Low เพิ่มขึ้น
(ฝั่งขวามือ) ลำโพง DZR15/12/10 ทำงานเป็นสเตจมอนิเตอร์ ระบบจะคัตย่าน Low ออกและบูสต์ย่าน Low-mid ขึ้น โดยกราฟสีแดงคือ D-CONTOUR ถูกใช้งาน ส่วนกราฟสีดำคือ D-CONTOUR ถูกปิด


สำหรับฟังก์ชัน D-CONTOUR ผู้ใช้สามารถเซตได้ 2 แบบคือ FOH/Main หรือ Monitor โหมด แต่ละโหมดจะถูกจูนให้เข้ากับสภาวะที่ใช้งาน นั่นหมายความว่าการเลือกโหมดแบบ FOH/Main ระบบจะจูนการตอบสนองแบบหนึ่ง และหากจูนด้วยโหมดมอนิเตอร์ระบบจะจูนการตอบสนองความถี่ให้อีกแบบเช่นกัน

ตัวอย่างในกรณีผู้ใช้เลือกโหมด D-CONTOUR เป็น FOH/Main ระบบจะบูตส์ย่านความถี่ต่ำหรือย่าน Low end (ย่านต่ำกว่า 250Hz) เพื่อชดเชยความถี่ต่ำให้ทันที ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่นำตู้ลำโพงไปติดตั้งบนขาตั้งหรือการแขวนตู้ในที่สูง สำหรับในโหมด Monitor มักจะวางลำโพงราบกับพื้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือย่านความถี่ต่ำจะไปสะท้อนพื้นและได้ความถี่ย่านนี้มากไป และทำให้ได้เสียงไม่ชัด รวมถึงได้ความถี่เสียงไม่กว้างนัก ในขณะที่นักดนตรีบนเวทีต้องการเสียงที่ชัดเจน และตอบสนอบความถี่ได้กว้างๆ

เมื่อใช้ D-CONTOUR จะทำให้ระบบคัตย่านความถี่ต่ำ Low end และเพิ่มย่าน Low-mid ที่อยู่ระหว่าง 200Hz-400Hz ขึ้นมาเล็กน้อย ตรงนี้จะช่วยให้เวลาทำงานไม่เจอปัญหาเรื่องดิสตอร์ชัน เวลาเปิดลำโพงดังมากๆ

Yamaha DZR12 (ไม่มี Dante)


ระบบป้องกันความเสียหาย

ลำโพงที่เสียหายง่ายนั้น อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้งาน Yamaha จึงออกแบบให้ DZR มีระบบป้องกันความเสียหาย โดยมีภาค DSP มาช่วยประมวลผล แม้ว่าผู้ใช้จะเปิดด้วยกำลังขับสูงๆ ก็ตาม โดยอาศัยการทำงานของลิมิเตอร์มาช่วยป้องกันความเสียหาย ซึ่งมักจะพบได้ในระบบเสียงระดับมืออาชีพทั้งหลาย

ภาค DSP ของลำโพง Series นี้มีระบบตรวจเช็คหรือเซ็นเซอร์การทำงานของภาคจ่ายไฟ ภาคเพาเวอร์แอมป์ และตัวดอกลำโพง ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่า เมื่อระดับสัญญาณเอาต์พุตเพิ่มสูงขึ้นจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวลำโพง รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ภายใน ทั้งๆ ที่อุปกรณ์เหล่านั้นยังไม่หมดสภาพการใช้งาน และตรงนี้นี่เองที่จะส่งผลช่วยยืดอายุการใช้งานของลำโพงได้อย่างที่ควรจะเป็น

Yamaha DZR10-D (รองรับ Dante)


DZR รองรับ Dante

DZR-D ทุกรุ่นรองรับเน็ตเวิร์ก Dante สังเกตได้ง่ายๆ ในรุ่นที่รองรับ Dante จะต่อท้ายด้วยอักษรตัว “D” ทำให้สามารถอินทิเกรตลำโพงเหล่านี้เข้ากับคอนโซลของ Yamaha ได้ทันที

หรือจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีระบบ I/O 2in/2out และสามารถแปลงค่า Sampling rate (SRC) สัญญาณได้ โดยรองรับ sampling rate สูงสุดที่ 48kHz

ลักษณะการเชื่อมต่อใช้งานแบบ Dante ทั้งหมด (ซ้ายมือ) และ Dante บางส่วน (ขวามือ)


ลำโพง Series นี้สามารถแพทซ์สัญญาณเพื่อใช้ร่วมกับคอนโซล Yamaha CL/QL ได้อย่างง่ายดาย หรือจะเป็นคอนโซล TF ก็ง่ายไม่แพ้กัน พร้อมกันนี้ยังรองรับการใช้งานภาคอะนาลอกควบคู่ไปด้วยกันได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้ลำโพงซีรี่ส์นี้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากนั้นยังสามารถใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ ProVisionaire Control ทั้งบน Windows/iPad ที่มี Dante ได้ โดยใช้เป็นรีโมทในการจัดการะบบเสียงได้อีกด้วย

Yamaha DZR10 (ไม่มี Dante)


กำลังขับ 2000W Class-D

ทุกรุ่นเป็นวงจรขยายแบบ Class-D มีน้ำหนักเบา ใช้พลังงานต่ำเมื่อเทียบกับกำลังวัตต์ที่ได้ และให้สูงสุดที่ 143dB SPL ภาคจ่ายไฟเป็นสวิตชิ่ง PFC ที่จ่ายไฟได้เรทสูง หายห่วงเรื่องประสิทธิภาพ

ทุกรุ่นจะมีระบบออฟติไมซ์ให้เข้ากับลำโพงแต่ละขนาดอย่างเหมาะสม ทั้งแบบฟูลเร้นจ์ 2 ทางและรุ่น 315 ที่มีไดรเวอร์ MF แยกจากไดรเวอร์ LF และภาคขยายที่อยู่ในได้ถูกคัสตอมขึ้นมาเพื่อใช้ขับลำโพง Series นี้โดยเฉพาะ

poweramp class-d2000w
ทุกรุ่นภาคขยาย 2000 W วงจรแบบ Class-D


DZR ออกแบบทรานสดิวเซอร์ใหม่

ลำโพงยุคใหม่มักจะแข่งขันกันที่การควบคุมความถี่ ลำโพง Series นี้ทาง Yamaha ทำการบ้านมาอย่างดี โดยมีการออกแบบตัวควบคุมการกระจายเสียง โดยย่าน HF จะใช้ไดรเวอร์ขนาด 2 นิ้ว และว้อยซ์คอยล์เป็น throat 1 นิ้วเป็นลักษณะคอมเพรสชันไดรเวอร์ วัสดุไดอะแฟรมเป็นไททาเนียมและแม่เหล็กเป็นนีโอไดเมียม ทนต่อความร้อนได้ดี เฟรมเป็นอลูมิเนียม

ส่วนรุ่น DZR315 มีมุมกระจายเสียงแนวนอน 75 องศา และแนวตั้ง 50 องศา ถือเป็นมุมกระจายเสียงที่มีสเป็คได้มาตรฐานงานติดตั้ง ลำโพง Series นี้ยังมี FIR ฟิลเตอร์ที่ช่วยจัดการเรื่องโทนเสียงให้มีฮาร์โมนิกที่ดีขึ้น

ออกแบบดอกลำโพงหรือไดรเวอร์และ Waveguide ใหม่


ส่วน MF เป็นไดรเวอร์ขับเสียงกลางซึ่งจะอยู่ในรุ่น DZR315 เป็นลำโพง 3 ทาง ขนาด 8 นิ้ว ทำให้ควบคุมเสียงได้ครบทุกมิติ มีดิสตอร์ชันที่ต่ำมากๆ สามารถให้ความดังได้สูงถึง 143dB SPL และได้เสียงที่คมชัดตลอดย่านความถี่

ปิดท้ายด้วยไดรเวอร์ LF ทาง Yamaha ได้ออกแบบไดรเวอร์ใหม่โดยมีว้อยซ์คอยล์ขนาด 3 นิ้ว เฟรมเป็นอลูมิเนียม มีความแข็งแรง แม่เหล็กเป็นแบบนีโอไดเมียมมีน้ำหนักเบา ให้กำลังขับสูงและตอบสนองความถี่ต่ำได้ดี เหมาะกับโครงสร้างตู้ที่ต้องการน้ำหนักเบา แต่ให้เสียงที่หนักแน่น สามารถตอบสนองความถี่ย่าน Mid-Bass ได้ดีรวมทั้งย่านเสียงร้อง พร้อมกับตอบสนองกำลังขับสูง และไร้ดิสตอร์ชันมารบกวน

สามารถหมุน Waveguide ใช้งานได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง เพื่อให้เหมาะกับงานขณะนั้นๆ


DZR ติดตั้งใช้งานได้ทุกรูปแบบ

DZR ซีรี่ส์สามารถนำไปติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งวางบนขาตั้ง หรือแขวนบนผนัง เนื่องจากมีมุมกระจายเสียงที่กว้างพอดี ไม่แคบเกินไปหรือกว้างเกินไป Dispersion หรือ Coverage Angle ในแนวนอนอยู่ระหว่าง 75-90 องศา

ส่วนแนวตั้งอยู่ระหว่าง 50-60 องศา สามารถติดตั้งบนพื้นเป็นมอนิเตอร์ได้ ทำมุมเอียง 50 องศา สำหรับรุ่นที่เหมาะติดตั้งเป็น FOH/Main PA และมอนิเตอร์คือ DZR10/12/15 ส่วน 315 หรือ 315-D เหมาะที่จะเป็น FOH/Main PA เท่านั้น

สรุป

DZR Series ถือเป็นลำโพง PA ของ Yamaha ที่อยู่ในระดับบน มีให้เลือก 8 รุ่น แบ่งเป็นรุ่นธรรมดา 4 รุ่น และรุ่นที่มี Dante โมดูลอีก 4 รุ่น ทุกรุ่นมีภาคขยายเป็น Class D กำลังขับ 2000W ตอบสนองความดังได้ตั้งแต่ 137dB SPL ถึง 143dB SPL

โดยมีขนาดไดรเวอร์ให้เลือกตั้งแต่ 10 นิ้ว, 12 นิ้ว และ 15 นิ้ว ลำโพง Series นี้มีฟังก์ชัน D-CONTOUR ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์หลักของลำโพง Yamaha อีกทั้งยังมี FIR ฟิลเตอร์ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเฟสของสัญญาณช่วยให้ได้โทนเสียงที่ดีขึ้น มีการออกแบบไดรเวอร์ขึ้นมาใหม่

ภาคจ่ายไฟทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ทั้งติดตั้งเป็นชุดลำโพงหลัก (Main PA) ชุดลำโพงมอนิเตอร์ ชุดลำโพง Delay สามารถติดตั้งเพื่อรองรับทั้งงานคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ในบ้าน ร้องคาราโอเกะ ห้างร้าน โรงแรม สถาบันการศึกษา ศาสนสถาน และห้องประชุมต่างๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง :

Yamaha DXR mkII ลำโพงโฉมใหม่ปี 2019
Yamaha A Series ลำโพง Passive
Review | ลำโพง Yamaha STAGEPAS 1K

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท  สยามดนตรียามาฮ่า  จำกัด 
เพจ Yamaha Pro Audio Thailand
โทร.  (02) 215-2626-39

Read Previous

LAVOCE WXF15.350 ดอกลำโพง 15 นิ้ว

Read Next

EMX5 เพาเวอร์มิกเซอร์ 12 อินพุตจาก Yamaha