มือใหม่หัดใช้ : Topp Pro DM-24.8 ดิจิตอลมิกเซอร์ EP.04 (End)

DM-24.8 v2

DM-24.8 ดิจิตอลมิกเซอร์ขนาด 24 แชนแนล 8 Aux สามารถควบคุมด้วยอุปกรณ์โมบายผ่านเราท์เตอร์ไร้สาย

สำหรับเนื้อหาตอนสุดท้ายของบทความซีรี่ส์นี้ หัวข้อสำคัญที่เราจะกล่าวถึงการติดตั้งเราท์เตอร์ การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์โมบายเพื่อการควบคุมมิกเซอร์ในระยะไกลด้วยระบบไร้สาย รวมถึงเสนอแนะแนวทางการใช้งานมิกเซอร์ Topp Pro DM-24.8 เพิ่มเติม มาเริ่มกันเลย..

dm-24.8 01

การเซตอัพเราท์เตอร์

ในกรณีผู้ใช้ต้องการควบคุมมิกเซอร์จากระยะไกล ด้วยอุปกรณ์โมบาย เช่นมือถือหรือแท็บเลต สามารถทำได้ด้วยการเชื่อมต่อผ่านเราท์เตอร์ไร้สาย (Wireless Router)

 อุปกรณ์ที่ต้องมีคือตัวเราท์เตอร์ไร้สาย 1 เครื่อง และสาย LAN 1 เส้น โดยสาย LAN ต้องเข้าหัวแบบ RJ45 คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง

เราท์เตอร์ไร้สาย (Wireless Router)

จากนั้นให้ตั้งค่าเราท์เตอร์ เพราะอุปกรณ์เราท์เตอร์แทบทุกตัวยังไม่มีการคอนฟิกค่าใดๆ จากโรงงาน แม้เปิดสวิตซ์ก็จะยังใช้งานไม่ได้ ให้ศึกษาคู่มือการเซตอัพ/ตั้งค่า เพราะแต่ละเครื่องมีขั้นตอนการเซตอัพต่างกัน ถ้าต้องการความสะดวกรวดเร็ว แนะนำให้ตั้งค่าผ่านคอมพิวเตอร์

หากยังไม่ถนัดด้านไอทีแนะนำให้ตั้งเป็น Dynamic IP Address เพราะระบบจะสุ่มแจกไอพีแอดเดรสให้อุปกรณ์ต่างๆ ในวง LAN โดยอัตโนมัติ

เชื่อมต่อสาย LAN ที่เราท์เตอร์

เมื่อตั้งค่าเราท์เตอร์เสร็จแล้วให้ต่อสาย LAN ด้านหนึ่งจากเราท์เตอร์ อีกด้านไปต่อเข้าที่ช่อง LAN ของมิกเซอร์ ซึ่งช่องนี้จะอยู่ด้านหลังตัวมิกเซอร์ จากนั้นค่อยเปิดมิกเซอร์ หากต่อสาย LAN ระหว่างเปิดมิกเซอร์บางครั้งพบว่าระบบไม่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์โมบายได้

เชื่อมต่อสาย LAN ที่ช่อง Ethernet หลังเครื่องมิกเซอร์

การเชื่อมต่อกับมือถือ/แท็บเลต

หลังจากเชื่อมต่อเราท์เตอร์เข้ากับมิกเซอร์เรียบร้อยแล้ว ให้โหลดแอปฯ Topp Pro มาติดตั้งบนสมาร์โฟนหรือแท็บเลต ส่วนใหญ่นิยมใช้แท็บเล็ตเพราะจอกว้าง เวลาเดินไปไหนมาไหนก็แลดูสะดวกสบาย คล่องตัวกว่า แอปฯจะมี 2 แพลตฟอร์มคือ รองรับระบบปฎิบัติการ iOS และ Android

ใน Play Store หรือ App Store จะมีแอปฯ ให้เลือก 2 ตัวคือ OEM DM24.8 และ Digital DM24.8 ให้โหลดตัวใดตัวหนึ่ง เพราะใช้งานได้เหมือนกัน (ผู้เขียนทดสอบแล้ว)

แอปพลิเคชัน DM24.8 พัฒนาโดยโรงงาน SEIKAKU

หลังจากติดตั้งแอปฯ เสร็จแล้วให้เปิดแอปฯ ดังกล่าวขึ้นมา จะพบหน้าต่างที่แสดงค่าไอพีแอดเดรสตัว DM24.8 และอุปกรณ์โมบาย เช่น iPad ตัวอย่างเช่น 192.168.1.149 และ 192.168.1.100 ตัวเลข 3 ตัวหลังอาจถูกสุ่มเป็นค่าอื่นได้ แต่ 3 ชุดแรกมักจะขึ้นด้วย 192.168.1 จากนั้นให้แตะปุ่ม Refresh

หน้าต่างแอปฯใช้เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์โมบายกับมิกเซอร์

ขั้นตอนนี้จะพบรายชื่อ DM24.8 แสดงอยู่ในลิสต์ด้านล่าง ให้แตะเลือก DM24.8 แล้วตามด้วยการแตะปุ่ม Connect รอสักครู่ระบบจะเชื่อมต่อกับเราท์เตอร์ เมื่อเชื่อมต่อได้แล้ว ก็สามารถควบคุมมิกเซอร์ผ่านจอ iPad/มือถือ ได้เลย ระยะทางใกล้/ไกลจะขึ้นอยู่ ความสามารถของเราท์เตอร์และพื้นที่หน้างาน ที่โล่งส่งได้ไกล หากเป็นสถานที่ที่มีสิ่งกีดขวางมากๆ มักจะส่งได้ไม่ไกล

โหมด Demo กรณีท่านอยากลองฝึกหัดเรียนรู้การใช้แอปฯ หรือสร้างซีนต่างๆ โดยไม่มีการเชื่อมต่อกับตัวมิกเซอร์ สามารถแตะเข้าปุ่ม Demo ได้เลย

สรุปแนวทางการใช้งาน DM-24.8

หลังจากติดตั้งมิกเซอร์เสร็จเรียบร้อย ให้ทำการเปิดเครื่องเสียก่อน ปกติจะเริ่มจากการไล่ระบบ เช็คสัญญาณจากแหล่งกำเนิดสัญญาณ อาจจะเป็นเครื่องเล่นเพลง CD/DVD/MP3 จากสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ตก็ได้ โดยใช้เพลงที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี เราสามารถนำมาเปิดเช็คระบบได้ ส่วนใหญ่เวลาเอ็นจิเนียร์ไปถึงหน้างาน ก็จะใช้เพลงที่เขาคุ้นชินเปิดฟังไปก่อน

ในการตรวจเช็คระบบเสียงวิธีนี้ถือว่าสะดวกที่สุดแล้ว เมื่อปล่อยสัญญาณเพลงเข้าไปแล้ว เราก็เริ่มทำการรันอุปกรณ์ต่างๆ ไล่เช็คฟังลำโพงแต่ละใบให้ครบทุกตัว

เรามาดูในส่วนของมิกเซอร์ เริ่มจากใช้ตรวจเช็คสัญญาณอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่เวที โดยการไล่เช็คทีละแชนแนล ในขั้นตอนนี้จะยังไม่มีการปรับแต่งสัญญาณใดๆ ทั้งนั้น จุดประสงค์เพียงแค่เช็คว่ามีสัญญาณเข้ามาหรือยัง สายขาดไหม? ชำรุดเสียหายไหม? ปลั๊กแจ็คเสียบแน่นไหม?

Sound Check

หน้า Routing สำหรับโยนสัญญาณ

เมื่อสัญญาณจากทุกแหล่งปกติ ค่อยเริ่มเซตอัพปรับแต่งสัญญาณของแต่ละแชนแนล อาจจะเป็นการให้นักดนตรีเล่นสดเข้ามา เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงในการปรับแต่งสัญญาณเสียงก่อนจะเล่นจริง ตรงนี้เรียกว่า “ซาวด์เช็ค”

พวก Gate/Compressor/EQ จะทำทีหลัง ควรทำพวก Gain และ Volume ก่อน สัญญาณในบางแชนแนลอาจไม่จำเป็นต้องใช้ Gate/Compressor/EQ ก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์นั้นๆ

จัด Group

หน้า DCA สำหรับจัดการ Group

จากนั้นก็ทยอยจัด Group ของเครื่องดนตรีต่างๆ อย่างเช่นแชนแนลกลองชุด เราก็จัดไปเลย รวมถึงเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ กีตาร์ หรือเอฟเฟ็กต์ เมื่อจัด Group เสร็จค่อยมาจัดการพวกโทนเสียงอีกทีก็ได้ ว่าต้องการโทนเสียงแบบไหน

จุดเด่นดิจิตอลมิกเซอร์ DM-24.8

ข้อดีของดิจิตอลมิกเซอร์ คือช่วยลดอุปกรณ์การทำงาน ในระบบอะนาล็อค เวลาทำงานอาจต้องขนพวกอุปกรณ์ภายนอกมาช่วยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น EQ/Compressor/Gate/Reverb

แม้อะนาล็อคมิกเซอร์จะให้เอฟเฟ็กต์พื้นฐานมาบ้าง แต่มักจะไม่ค่อยเพียงพอต่อการใช้งาน เช่น Gate 4/Compressor 4 แชนแนล งานที่ใช้ Gate/Comp. ไม่เกิน 4 แชนแนลอาจจะไม่มีปัญหา แต่หากเป็นงานที่ต้องการใช้ Gate/Comp. จำนวนหลายแชนแนลพร้อมๆ กัน ตรงนี้จำเป็นต้องหาอุปกรณ์ภายนอกมาเสริม

หน้า Comp ใช้ปรับแต่งเอฟเฟ็กต์คอมเพรสเซอร์

กราฟิก EQ ต้องการใช้จำนวน 8 Aux ดังนั้น EQ ต้องมี 8 ชุด ภาค Main อีก 2 EQ ลองนึกภาพดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทรัพยากรไม่พอใช้งาน ก็ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย

แต่เมื่อเป็นดิจิตอล ทุกอย่างมารวมอยู่บนอุปกรณ์ตัวเดียว ซึ่งตัว DM24.8 มีเอฟเฟ็กต์ให้ 2 Unit วิธีการใช้งาน หากต้องการใช้อะไรให้กดสวิตซ์ฟังก์ชันต่างๆ เข้าไปดู แล้วลองกด ON เช็คสัญญาณ ถ้าทำจนเละก็ให้ Reset System หากไม่มีการเซฟซีน (Save Scene) เครื่องก็จะล้างค่าเหล่านั้นทั้งหมด

หน้า Gate ใช้ปรับแต่งเอฟเฟ็กต์เกท

ในกรณีที่เซฟซีนไว้แล้ว แม้จะรีเซตระบบ ค่าต่างๆ ที่ปรับแต่งไว้จะอยู่ในรูปของพรีเซตบนหน่วยความจำเครื่องหรือบนคอมพิวเตอร์/แท็บเล็ต เช่น มีงานต้องเล่น 3 วง เราเซฟซีนวงแรกไว้แล้ว จากนั้นก็ล้างเพื่อทำซีนให้กับวงถัดไป หลังจากล้างเสร็จค่าเฟดเดอร์ ค่า EQ/Gate และอื่นๆ จะถูกเรียกกลับมาตั้งต้นใหม่

ฟังก์ชันพื้นฐานที่ต้องฝึก

สำหรับการใช้งานดิจิตอลมิกเซอร์ DM24.8 ฟังก์ชันที่ต้องใช้งานให้คล่องเลย คือการใช้เอฟเฟ็กต์ Comp/Gate/EQ การปรับแต่งพารามิเตอร์ต่างๆ การโยน Aux, ฟังก์ชัน Select Channel

ทั้งหมดถือเป็นฟังก์ชันพื้นฐานทั่วไป เวลาไปใช้งานที่ไหน ก็ต้องเล่นคำสั่งฟังก์ชันเหล่านี้บ่อยๆ เวลาทำงานจริงไม่ต้องกังวลว่าจะต้องปรับแต่งค่าพิสดารอะไร

หน้า PEQ ใช้ปรับแต่งพาราเมตริก EQ

ฟังก์ชันของ DM24.8 ที่ออกแบบมาส่วนใหญ่เหมือนมิกเซอร์ทั่วไป ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพราะถ้าซับซ้อนมากไป คนจะรู้สึกว่าใช้งานยาก แถมใช้เวลาเรียนรู้นาน จะสอนคนอื่นให้ใช้แทนเราก็ยากไปด้วย

หน้า GEQ ใช้ปรับแต่งกราฟิก EQ

การปรับ Gain ของมิกเซอร์รุ่นนี้ จะไม่โชว์ Level ของสัญญาณบนตัวมิกเซอร์ แต่จะไปแสดงผลในจอทัชกรีนแทน เวลาผู้ใช้เช็คสัญญาณระดับความแรงของสัญญาณจะโชว์เฉพาะในจอเท่านั้น

หน้า FX ใช้ปรับแต่งเอฟเฟ็กต์ FX1/FX2

แต่สัญญาณที่ออก Main Out จะมีผลเมื่อเราดันสไลด์เฟดเดอร์ขึ้นเท่านั้น หากไม่มีการดันสไลด์ระดับ LED ก็จะไม่วิ่งขึ้นลง นั่นหมายถึงสัญญาณเหล่านั้นยังไม่ถูกป้อนไปที่ฝั่ง Main ดังนั้นเวลาปรับแต่ง Gain จะต้องตรวจเช็คผ่านจอทัชกรีน

จุดเชื่อมต่อสัญญาณ

มิกเซอร์รุ่นนี้จะมีช่องเชื่อมต่อสัญญาณ Aux จำนวน 8 ช่อง มีช่องสำหรับสัญญาณ MIC/LINE ทั้งแบบ TRS/XLR แต่ไม่มีช่องแบบ Combo กรณีต้องการนำสัญญาณไปออก OB ก็อาจกำหนดให้ไปออก Aux คล้ายๆ กับการส่งไปมอนิเตอร์ แต่ต้อง Assign เฉพาะสัญญาณที่ต้องการไปออก OB หรือบันทึกเสียง มิกเซอร์รุ่นนี้มีช่องต่อกับ Control Room เพื่อใช้ต่อกับลำโพงมอนิเตอร์ และยังมี Talkback เพื่อใช้พูดคุยกับนักดนตรีบนเวที หรือในสตูดิโอ

จุดเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ อยู่ด้านหลังตัวมิกเซอร์

มีอีกส่วนที่อยากแนะนำเพิ่ม Solo Output เวลาใช้งานจะทำให้สัญญาณมาออกที่หูฟัง โดยแยกส่วนกับ Main Output

ช่อง USB ด้านหลังเครื่อง หากเชื่อมต่อไปยังคอมพิวเตอร์ จะใช้กรณีเราเพลย์แบ็กสัญญาณเสียงส่งมายัง DM-24.8 ซึ่งเสียงจะถูกฟิกซ์ให้เข้าอินพุตแชนแนล 23-24

ในส่วนของ Routing ก็คือเป็นการโยนสัญญาณ อย่างไรก็ดี ท่านลองกลับไปทบทวนเนื้อหาในตอน EP.01-03 อีกครั้ง หวังว่าเนื้อหาทั้งหมดจะช่วยให้ท่านเข้าใจการใช้งานมิกเซอร์รุ่นนี้ยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง :

มือใหม่หัดใช้ Topp Pro DM-24.8 ดิจิตอลมิกเซอร์ (EP.01)

มือใหม่หัดใช้ Topp Pro DM24.8 ดิจิตอลมิกเซอร์ (EP.02)

มือใหม่หัดใช้ Topp Pro DM24.8 ดิจิตอลมิกเซอร์ (EP.03)

สามารถสอบถาม ติดตามข่าวสาร และข้อมูลได้ที่ :

✅ สนใจสั่งซื้อสินค้า ผ่านเว็ปไซต์ www.mynpe.com
✅ Line@ : http://bit.ly/LineMyNPEThailand
✅ Facebook : http://m.me/mynpethailand
✅ Twitter : twitter.com/mynpethailand
✅ Instagram : instagram.com/mynpethailand
✅ Youtube : www.youtube.com/user/mynpe

☎️ Tel : 02 225 0094 (Banmoh Branch)
Map : www.mynpe.com/mynpe-banmoh
☎️ Tel : 02 992 7379 (Zeer Rangsit Branch)
Map : www.mynpe.com/mynpe-zeer
☎️ Tel : 02 889 5498 (Salaya Branch)
Map : www.mynpe.com/mynpe-salaya

Read Previous

Superlux HD-669 หูฟังคุณภาพ เกรดสตูดิโอ

Read Next

Topp Pro X Series ตู้ลำโพง 2 ทางพร้อมแอมป์ในตัว