เบื้องหลังระบบเสียง – ปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปี พระองค์เสด็จร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ หรือมิสซา ท่ามกลางคริสตชนทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาเฝ้ารอรับเสด็จกว่า 50,000 คน งานครั้งนี้ บจก. บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เป็นแม่งานในด้านโปรดักชัน โดย บจก. JSS Production ดูแลระบบเสียง เกือบทั้งหมดใช้คอนโซลมิกเซอร์ Yamaha จัดการสัญญาณเสียงในโซนต่างๆ โดยมีนักร้องศิลปินจากแกรมมี่ และคณะนักร้องคาทอลิกไทยมาร่วมขับร้องบทเพลงคาทอลิกนับพันชีวิต
- “PM10 ถือว่าสามารถใช้งานได้หลากหลายครอบคลุมงานทุกประเภท อย่างแรกคือโทนเสียงดีมาก อย่างที่สองมีอินพุตและเอาต์พุตจำนวนมาก เพียงพอต่อการใช้งานทุกสเกล อย่างที่สามการ Assign ต่างๆ ก็ง่าย ประการต่อมาคือเรื่องความยืดหยุ่น เช่นหากเราต้องการส่งสัญญาณจากอินพุตไปออกบัสต่างๆ สามารถทำได้อิสระ” – คุณมายด์ System Engineer บจก. JSS Production
- “จุดเด่นของ CL5 ใช้งานง่ายมาก โดยส่วนตัวผมเล่นคอนโซลของ Yamaha มาตลอด คุ้นเคยกันมานาน ตั้งแต่ LS9 มา M7CL จนมาถึงรุ่นนี้ ถือว่าได้มาตรฐานสากล ตัวเดียวเอาอยู่ ไม่เคยแฮงค์หรืองอแง สำหรับ Yamaha ถือเป็นคอนโซลมิกเซอร์หนึ่งที่ผมใช้งานมาไม่เคยมีปัญหา” – คุณโอม คมน์กฤษณ์ กลิ่นคล้าย Sound Engineer วงเดอะซาวด์ออฟสยาม
- “ครั้งนี้รู้สึกว่าคอนโซลมิกเซอร์ Yamaha CL5 เป็นบอร์ดที่ทำงานได้อย่างราบรื่น มีความเสถียร คุณภาพของบอร์ดให้เสียงที่ดี ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งๆ ที่อากาศวันนั้นร้อนมาก แถมตำแหน่งวางคอนโซลก็ไม่ค่อยดี ด้วยความที่บอร์ดถูกออกแบบมาดีจึงทำให้เราทำงานง่าย” – คุณหมู ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์
สำหรับเรื่องราวเบื้องหลังระบบเสียงในสนามศุภชลาศัยครั้งนี้คาดว่าหลายคนอยากรู้วิธีการทำงาน แนวคิด การแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์หลักที่ใช้ในงานมีอะไรบ้าง ซึ่งทาง Reverb Time (เพจ RT60) ได้รับเชิญในนามสื่อมวลชน ให้เข้าไปในสถานที่จัดงานเพื่อสัมภาษณ์พูดคุยกับบรรดาคีย์แมนทั้ง 3 คน ได้แก่คุณมายด์ JSS Production ผู้ดูแลออกแบบระบบ PA ภายในสนาม คุณโอม คมน์กฤษณ์ กลิ่นคล้าย รับหน้าที่เป็นซาวด์แมนของมิกซ์มอนิเตอร์ให้วง เดอะซาวด์ออฟสยาม และคุณหมู ภาคภูมิ สุวัชรชัย รับหน้าที่เป็นซาวด์แมนโซนของคอรัส
ทั้งสามคนมีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถและความตั้งใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในวันนั้นสู่ผู้อ่าน โดยแต่ละคนต่างยืนอยู่หน้าคอนโซล Yamaha มันคือโจทย์ที่ผู้จัดวางไว้ให้ซาวด์แมนและซิสเท็มเอ็นจิเนียร์ ที่ต่างมาจากคนละที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างลงตัว “พิธีบูชาขอบพระคุณ” ครั้งประวัติศาสตร์คือโจทย์ที่ท้าทายทีมงานทุกคนในวันนั้นก็ว่าได้
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
Yamaha PM10 ถูกใช้เป็นคอนโซลหลัก
“คอนโซลมิกเซอร์ Yamaha PM10 จะทำหน้าที่หลักในการควบคุมสัญญาณของแต่ละโซน ซึ่งสัญญาณจะถูกส่งเข้ามาที่ PM10 โดยเราวางระบบรับส่งสัญญาณเป็นอะนาล็อก เพราะมันมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างไปมา และเรามีเวลาวางแผนล่วงหน้าประมาณหนึ่งเท่านั้น” เป็นข้อมูลชุดแรกที่คุณมายด์บอกกับเราผ่านการสัมภาษณ์ครั้งนี้
คุณมายด์ System Engineer บจก. JSS Production ยืนหน้าคอนโซล Yamaha PM10
เขาได้เล่าถึงวิธีการเลือกวางระบบสัญญาณผ่านคอนโซล PM10 เพื่อให้ทุกคนทำงานร่วมกันง่าย โดยงานครั้งนี้มีมิกเซอร์หลายตัวถูกแบ่งเป็นโซนแยกรับผิดชอบอิสระ โดยมีซาวด์แมนทำงานพร้อมๆ กันหลายคน
“เราจำเป็นต้องเลือกระบบที่ทุกคนเข้าใจง่ายก่อน คือสามารถ Patch สัญญาณกันง่ายๆ วันนี้เราได้แบ่งโซนแรกเป็นกลุ่มนักร้องประสานเสียงหรือคอรัสอยู่บนอัฒจันทร์ บนนั้นจะมีบอร์ด Yamaha CL5 ควบคุมอยู่ ส่วนเวทีกลางที่ใช้เล่นคอนเสิร์ต โดยศิลปินวง The Sound of Siam นำโดย โก้ แซ็คแมน และโซ่ ETC สัญญาณตรงนั้นจะใช้ CL5 เป็นบอร์ดหลัก และยังมี CL5 อีกบอร์ดทำหน้าที่เป็นมอนิเตอร์สำหรับเวทีคอนเสิร์ต” คุณมายด์ได้กล่าวเพิ่ม
แม้ว่าภายในงานจะมีคอนโซลหลายตัว แต่ทุกตัวจะต้องส่งสัญญาณผ่านมายัง PM10 ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณบางส่วนกลับไปยังโซนอื่นๆ อีกด้วย
“สัญญาณที่ส่งเข้ามาที่ PM10 ใช้ไปประมาณราว 100 แชนแนล แต่ถ้ารวมทั้งงานตามจุดต่างๆ น่าจะเกิน 200 แชนแนล เฉพาะบอร์ด CL5 ก็ใช้กันไปหลายแชนแนลแล้ว ส่วนโซนคอรัสใช้ไมค์จำนวนมาก”
เขายังบอกอีกว่า เฉพาะส่วนที่เป็นออร์เคสตร้าก็มีคอนโซลควบคุมแยกอีกด้วย “ยังมีแบนด์ TPO (Thailand Philharmonic Orchestra) อยู่ตรงกลางเวที ตรงนั้นจะมีอีกบอร์ดหนึ่งคอนโทรลอยู่แล้วส่งมาที่ PM10 รวมแล้วมีทั้งหมด 4 คอนโซล”
แต่หากนับรวมนอกสนามศุภฯ งานนี้ใช้เกิน 4 คอนโซล เขาเล่าต่อว่า “ในสนามเทพหัสดิน จะรับสัญญาณจากที่นี่ไปเปิด โดยมี Yamaha LS9 อีกตัว ซึ่งที่นั่นจะรับส่งสัญญาณเป็นไฟเบอร์ออฟติกโดยส่งไปพร้อมกับภาพแล้วแปลงกลับเป็นสัญญาณปกติอีกครั้ง ส่วนภายในงานการเชื่อมต่อระหว่างบอร์ดเป็นอะนาล็อคทั้งหมด ไม่ได้ใช้ Dante เน็ตเวิร์ก ด้วยระยะทางที่ห่างกันก็ต้องแปลงสัญญาณเป็นไฟเบอร์ออฟติกอีก”
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมไม่วางเป็นระบบ Dante เน็ตเวิร์ก เพราะคอนโซล Yamaha รองรับ Dante อยู่แล้ว เขาให้เหตุผลว่า “จริงๆ งานนี้ผมไม่อยากทำอะไรให้มันซับซ้อน เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแม้กระทั่งตำแหน่งที่วางของอุปกรณ์ต่างๆ มีการย้ายไปย้ายมา ถ้าใช้ระบบเน็ตเวิร์กอาจจะงงกันได้ อีกอย่างเราทำงานร่วมกับหลายทีม ซึ่งจะทำให้ทุกคนเข้าใจง่ายด้วย งานนี้ไม่ได้ต้องการดึงสัญญาณจากส่วนกลางไปใช้งาน เพราะลักษณะงานนี้เป็นแค่การส่งสัญญาณ L/R เข้ามาของแต่ละบอร์ดแบบง่ายๆ”
เขาได้อธิบายวิธีการทำงานเบื้องหลังเพิ่มเติมว่า “สำหรับงานนี้มันไม่ได้มีแค่ระบบ Main PA มันมีการฟีด (Feed) สัญญาณไปที่คอนโซลโน้น คอนโซลนี้ ขณะเดียวกันคอนโซลโน้นก็ฟีดสัญญาณกลับมา หรือฟีดไปยังโซนสถานที่ต่างๆ ซึ่งต้อง Assign กันเยอะ ฉะนั้นต้องวางแผนกันดีๆ ต้องประเมินว่าจะต้องใช้ทรัพยากรในคอนโซลเท่าไหร่ หากออนโชว์แล้วเราไม่ได้เสียงจากเขา หรือเขาไม่ได้เสียงจากเราแบบนี้ถือว่ามีปัญหา เช่นอยู่ดีๆ เสียงไม่ไป OB แบบนี้ถือว่าเกิดข้อผิดพลาด ดังนั้นทุกอย่างต้องชัวร์”
ประทับใจ Yamaha PM10
“ในการทำเราท์ติ้งบนคอนโซล PM10 ถือว่าง่าย ตรงไปตรงมา ช่วยให้เราไม่ต้องคิดอะไรที่ซับซ้อนมาก ทำให้เราไม่สับสน คอนโซลอื่นผมไม่รู้นะ แต่จากที่ใช้งาน PM10 ถือว่าสะดวกสบายมาก แต่ละงานที่เรานำไปใช้ ที่ผ่านมายังใช้ไม่เต็มศักยภาพของบอร์ดเลย เพราะบอร์ดสามารถรองรับได้มากกว่านั้น อย่างงานนี้เราใช้ทรัพยากรของบอร์ดไปราว 60%”
เมื่อถามเกี่ยวกับเรื่องปลั๊กอินของ Yamaha ซึ่งทุกคนทราบดีว่ามีความโดดเด่นระดับแนวหน้าของวงการ เขาเองก็ชื่นชอบปลั๊กอิน Yamaha “ส่วนปลั๊กอินซึ่งในคอนโซลหลายรุ่นของ Yamaha ก็มีอยู่แล้ว แต่งานแบบนี้ปลั๊กอินที่ถือว่าช่วยได้เยอะสำหรับงานที่มีลักษณะเป็นงานพูด มีโพเดียมกลางสนาม มีเสียงรบกวนรอบๆ เยอะ”
เขาเฉลยกับเรา “ตัวปลั๊กอิน Neve 5045 ถือว่าช่วยได้มากทีเดียว เพราะช่วยตัดพวก Ambient ได้ดีมากๆ มีความสมูธมาก แตกต่างจาก Gate แล้วจำนวนแชนแนลที่มีเราก็ใส่ได้เท่าที่ต้องการ นอกจากไมค์โพเดียมจำนวน 6 ตัว ยังมีไมค์พิธีกรอีกนับสิบตัว แค่ Insert ปลั๊กอินเข้ามาก็ใช้ได้เลย”
Yamaha PM10 ทำ Scene ง่าย
เราได้สอบถามเรื่องการทำ Scene ของ PM10 ว่าเป็นอย่างไร เขาตอบได้ดี แม้ผู้ใช้ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับคอนโซล Yamaha นึกภาพตามได้ไม่ยาก “ในการทำ Scene ของแต่ละงาน ส่วนใหญ่เราจะต้องรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดก่อน จากนั้นดูว่ามีอินพุตจากไหน และส่งเอาต์พุตไปที่ไหนบ้าง เราก็จะเริ่มจาก Scene พื้นฐานก่อน พอเวลาทำงานจริงมันอาจจะมี Scene ที่เพิ่มเข้ามาระหว่างนั้นได้หลาย Scene แต่เวลา Assign เอาต์พุตผมมักจะ Assign ให้ครบเสียก่อน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้อง Recall Save หรือไป Assign เพิ่มในหลายๆ Scene”
Yamaha PM10 ใช้งานง่าย
ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์พูดคุย เราได้ให้เขาเล่าถึงความยากง่ายของการทำงานบนคอนโซล Yamaha ว่าเป็นอย่างไร เขาบอกกับเราว่า แม้ผู้ที่ไม่เคยใช้ Yamaha มาก่อนก็สามารถปรับตัวใช้งานได้ไม่ยาก “หากใครมีพื้นฐานการทำงานกับบอร์ด Yamaha มาก่อน ตัวคอนโซล PM10 ถือว่า Yamaha ทำได้ดี ในการเปลี่ยนผ่านคอนโซลเป็น Generation ใหม่ หรือใครที่เคยเล่นบอร์ด Yamaha พอมาจับ PM10 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่นี้จะรู้สึกว่าใช้งานง่ายมาก ส่วนผู้ที่ไม่เคยเล่นบอร์ด Yamaha ก็ไม่ยากที่จะทำความรู้จัก
เราถามเขาอีกว่าตั้งแต่ใช้งาน PM10 และคอนโซล Yamaha รุ่นอื่นๆ ได้พบเจอปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ เขาตอบเราว่าไม่เคยเจอปัญหาอะไร “อาการแฮงค์ค้างกลางครันก็ไม่เคยมี เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง Yamaha ถือเป็นบอร์ดที่ไม่เคยล่มกลางงานเลย ตั้งแต่ CL5 หรือรุ่นอื่นๆ อาจจะมี Error ตอนติดตั้ง เพราะเสียบสายผิดอะไรแบบนี้มากกว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้สัมผัสมา”
Yamaha CL5 คือพระรอง
ปกติคอนเสิร์ตศิลปินทั้งในหรือต่างประเทศมักจะเลือก Yamaha CL5 เป็น FOH ไม่บ่อยนักที่เห็น CL5 กลายเป็นพระรอง นี่ถือเป็นสเกลงานที่ใหญ่มาก เราได้พูดคุยกับคุณโอม คมน์กฤษณ์ กลิ่นคล้าย ซึ่งเป็น Sound Engineer ประจำวงเดอะซาวด์ออฟสยาม เขาเล่าว่า
“Yamaha CL5 ตัวนี้ทำเป็นมอนิเตอร์ให้กับวงดนตรีเฉพาะส่วนเวทีกลางทั้งหมดในงาน โดยส่งสัญญาณทุกๆ อย่างกลับไปให้ทางวงออร์เคสตร้าให้ได้ยินด้วย แล้วจ่ายไปให้ทางทางแบนด์ The Sound of Siam ด้วย”
คุณโอม คมน์กฤษณ์ กลิ่นคล้าย Sound Engineer วงเดอะซาวด์ออฟสยาม หน้าคอนโซล Yamaha CL5
เราอยากรู้ว่าสเกลงานเป็นยังไงจึงถามว่าใช้จำนวนแชนแนลไปเยอะแค่ไหน “วันนี้ใช้งานจริงประมาณ 42 แชนแนล ยังเหลือสำรองอีกเยอะแยะ คือสัญญาณจะมีการแยกมาจากสเตจบ็อกซ์มาเข้า CL5 อีกส่วนแยกไปบอร์ดหลักคือตัว PM10 ไม่เกี่ยวกัน Gain ก็คนละส่วน แต่แหล่งสัญญาณมาจากที่เดียวกัน การทำงานวันนี้เราได้ปรับแต่งไม่ให้มอนิเตอร์หวีดหอน จูนตามหลักการของ Gain before feedback”
Yamaha CL5 ใช้งานง่ายไม่แพ้ PM10
เขายังเล่าถึงจุดเด่นของ CL5 ให้ฟังอีกว่าเป็นบอร์ดที่ใช้งานง่าย และเขาเองก็ใช้บอร์ด Yamaha มาหลายรุ่น ถือว่าเป็นแฟนพันธ์แท้ของ Yamaha คนหนึ่งเลยทีเดียว “จุดเด่นของ CL5 ใช้งานง่ายมาก โดยส่วนตัวผมเล่นคอนโซลของ Yamaha มาตลอด คุ้นเคยกันมานาน ตั้งแต่ LS9 มา M7CL จนมาถึงรุ่นนี้ ถือว่าได้มาตรฐานสากล ตัวเดียวเอาอยู่ ไม่เคยแฮงค์หรืองอแง สำหรับ Yamaha ถือเป็นคอนโซลมิกเซอร์หนึ่งที่ผมใช้งานมาไม่เคยมีปัญหา แต่กับคนอื่นผมไม่รู้นะ”
คราวนี้เราถามถึงเรื่องการทำ Scene ในงานวันนั้น ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เขาตอบว่าทำไม่ยาก “ในส่วนการทำ Scene บน CL5 ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก อย่างงานนี้ผมทำไว้แค่ 2 Scene คือมิกซ์มอนิเตอร์มันไม่ได้ซับซ้อนอะไร เราจะเน้นส่งสัญญาณ Aux ด้วยการทำ User Defined Keys อย่างเดียว เราทำไว้หน้าบอร์ดมี 16 ชุด และอีกหนึ่งอยู่ด้านใน ส่วนหนึ่งมันมี InEar มอนิเตอร์ด้วย ซึ่งรวมแล้วเกือบ 7-8 ตัว ส่วนที่เป็นตู้มอนิเตอร์มีประมาณ 10 Send ซึ่งยุคนี้ศิลปินจะเน้น InEar มอนิเตอร์กันอยู่แล้ว พวกปุ่มคีย์ลัดคำสั่ง งานแบบนี้จำเป็น เพราะมันช่วยให้เราเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ได้เร็ว ไม่ต้องเสียเวลาไปจิ้มหน้าจอ”
มอนิเตอร์ดีแทบไม่ต้อง EQ
ปกติเวลาใครทำมอนิเตอร์ก็จะวุ่นวายกับการทำโทน ทำ EQ วุ่นวาย แต่เราแอบเซอร์ไพร์เล็กน้อย เพราะเขาแทบไม่ได้คัตอะไรเลย เราส่อง EQ ในหน้าคอนโซล CL5 คัตประมาณ 3 ก้านเท่านั้น
“EQ งานนี้ผมแทบไม่ได้แตะอะไรกับมันมาก มอนิเตอร์ส่วนใหญ่ก็เป็นตู้ของ Yamaha การทำ EQ จึงไม่ต้องไปทำอะไรมาก หลักการสำคัญเราต้องทำเรื่องของ Gain Structure ให้มันได้ พวก Gain Input ต่างๆ โอกาสที่มันจะเกิดฟีดแบ็กก็จะน้อยลง คือถ้าตู้ลำโพงมอนิเตอร์ได้มาตรฐานก็จะทำงานง่าย แต่ถ้าไปเจอตู้ที่ทำงานยากก็ต้องคัตกันเยอะหน่อย บางทีคัตแล้วคัตอีกเอาไม่อยู่เลยก็มี การทำงานมอนิเตอร์ถ้าทำให้ดีก็ถือว่ายากพอๆ กับทำ Main PA เพียงแต่คนละหน้าที่”
Yamaha CL5 ทำคอรัส 1,000 คน
คีย์แมนคนสุดท้ายของงานนี้ คือคุณหมู ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์ เราถามเขาว่าวันนั้นทำอะไรบ้าง เขาได้เริ่มอธิบายว่า
“ผมจะรับผิดชอบในส่วนของคอรัส 1,111 คน และยังรับผิดชอบเรื่องของเสียงที่ส่งไปหา OB ซึ่งเราส่งสัญญาณผ่าน Dante เน็ตเวิร์ก โดยการนำสเตจบ็อกซ์ตัวหนึ่งไปวางไว้ที่ OB แล้ว Patch กลับมา เพราะ OB กับ FOH มีระยะห่างกันประมาณ 500 เมตร แล้วแปลงเป็นไฟเบอร์ออฟติค ส่วนคอนโซลมิกเซอร์ใช้ Yamaha CL5 นอกจากนั้นผมยังเป็นผู้ออกแบบการวางไมค์ การวางมอนิเตอร์บนสแตนด์ฝั่งคอรัสทั้งหมด”
คุณหมู ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์
บริษัทของเขาซึ่งในวงการอาจจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างสักเท่าไหร่ เราสงสัยและประหลาดใจว่า ทำไมเขาจึงได้มาทำงานสเกลระดับนี้ เขาได้ไขข้องใจ เพราะงานประเภทนี้มีไม่กี่คนที่ทำได้ นี่คือคำตอบ เบื้องหลังระบบเสียง
“งานนี้จุดเริ่มต้นเกิดจากการหาผู้รับผิดชอบคอรัสซึ่งทางผู้จัดมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะเป็นการใช้คอรัสกับพิธีกรรมสำคัญ ซึ่งในวงการไม่ค่อยมีใครทำ บังเอิญผมทำคอรัสในโบสถ์คริสต์เป็นประจำอยู่แล้ว ทางผู้ใหญ่จึงให้ผมรับผิดชอบเรื่องนี้ไป โดยให้ประสานงานกับ JSS Production ว่าจะใช้อะไรบ้าง”
จำนวนแชนเนลที่ใช้ก็ไม่น้อย แต่ถือว่าเมื่อเทียบกับจำนวนนักร้องคอรัสแล้ว ถือว่าจัดการงานได้ดีเยี่ยมเลยทีเดียว ภายใต้บอร์ด CL5 เขาได้เล่าถึงระบบการเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ “เครื่องดนตรีบนสแตนด์จะส่งผ่าน Yamaha CL5 โดยใช้ไปทั้งหมด 36 แชนแนล มีการวางไมค์คอรัสกระจายในแต่ละจุด ใช้ไมค์ประมาณ 28 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นไลน์ของเครื่องดนตรีสำหรับวงคอรัส สำหรับดนตรีที่ต้องตั้งไมค์ก็มีแค่ฟลุตกับฉิ่ง”
คณะนักร้องอาสาสมัครคอรัสจากทั่วประเทศทั้ง 1,111 คน
ปัญหาสำคัญของงาน
งานทุกอย่างล้วนมีปัญหา เราสอบถามเขาว่า โจทย์หินของงานนี้คืออะไร เขาเล่าว่าหลักๆ ก็มีเรื่องลม “ปัญหาอีกอย่างคือไมค์ ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องลม เราก็แก้ทั้ง Low cut EQ ใช้ฟองน้ำครอบที่หัวไมค์ เฉพาะไมค์ที่เป็นคอนเด็นเซอร์จำเป็นต้องใส่ฟองน้ำ งานนี้ถือว่าท้าทายพอสมควร เพราะมันเป็นสถานที่แบบเปิดโล่ง แล้วการใช้ไมค์คอนเด็นเซอร์จำนวนมากๆ ในสถานที่แบบนี้ปัญหาหลักคือเรื่องเสียงลมเข้าไมค์ เราไม่ต้องการให้เสียงลมเข้ามากวนในระบบของเรา งานนี้ใช้คอนเด็นเซอร์และไดนามิกอย่างละครึ่ง”
เราได้ถามเขาถึงเรื่องการซ้อม การติดตั้ง แอบประหลาดใจเหมือนกัน เพราะมีเวลาเตรียมตัว และการเซตอัพน้อยมากกับงานสเกลระดับนี้ “ตอนเซตอัพใช้เวลาไม่นาน เราทำงานกันแค่ 4-5 ชั่วโมง ปัญหาบางอย่างเราแก้ไปพร้อมๆ กับการซ้อมด้วย เช่นไมค์ตัวนี้มีลมเข้า เสียงเบา เสียงไม่ชัด เราก็ทำการแก้ไขคู่ขนานกันไป”
ทีมดูแลคอนโซล Yamaha CL5 สำหรับคอรัส
เขาเล่าต่อว่า “เราเริ่มซ้อมกันก่อนวันงานเพียงหนึ่งวัน แต่ผมเข้าไปก่อนหน้านั้นหนึ่งวันเพื่อไปดูทาง JSS เขาไลน์สายต่างๆ ให้ วาง WEDGE มอนิเตอร์ คัต EQ คร่าวๆ เพราะวันต่อมามีการซ้อม มีซาวด์เช็ค ซึ่งตรงนี้แบ่งเป็น 2 โจทย์ คือข้อแรกเราทำคอรัสเพื่อพิธีกรรม ตอนนั้นถือว่าเราโดดเด่นมาก พอช่วงคอนเสิร์ตเราต้องส่งคอรัสลงไปผสมปูเป็นแบ็กกราวน์ให้ด้วย ประมาณ 3 เพลง อันนี้ก็ต้องซ้อมด้วยกันกับเวทีกลาง ฉะนั้นในส่วนของคอรัสจะมีบทบาทสำคัญในช่วงพิธีกรรม และทำการคอรัสให้กับช่วงคอนเสิร์ต”
เคล็ดไม่ (ลับ) การทำคอรัส ของ เบื้องหลังระบบเสียง
การสัมภาษณ์รอบนี้เราได้ความรู้เรื่องการทำคอรัสมาฝากผู้อ่าน เราคิดว่าในสตูดิโออาจทำง่าย มาเจองาน Live ที่มีคนมาร้องนับพัน มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เขาเล่าอีก
“การจัดการ CL5 ทางวงเขาแบ่งมาให้เรา ไม่ว่าจะเป็นเสียงหลัก เสียงรอง มีการแบ่งให้เราครบแล้ว การประสานเสียงครั้งนี้เราแบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 แนว เพราะฉะนั้นจะมีการระบุที่นั่งมาชัดเจนว่า ที่นั่งโซนไหนเป็นโซปราโน 1 หรือ 2 ไมค์แต่ละตัวจึงได้สัญญาณที่ชัดเจน คือเราไม่ได้วางไมค์แบบหว่านแห เราวางตำแหน่งแบบมีโฟกัสพอสมควร
เทคนิคหนึ่งที่ควรนำไปใช้ คือกลุ่มแต่ละแนวเสียงสามารถยุบรวมเป็นแยกเป็น Group หรือ DCA ได้ เขาเผยวิธีการทำงานแบบไม่ลับให้ฟัง
ดิจิตอลคอนโซลมิกเซอร์ Yamaha CL5
“เรานำเสียงหลักแต่ละเสียง เช่นโซปราโน 1, 2 หรืออัลโต 1, 2 ที่เป็นเสียงหลักนั้น แล้วนำมาควบรวมเป็นหนึ่ง DCA ส่วนกลุ่มคอรัสที่เป็นเสียงรอง เราจัดการแบบเดียวกันโดยแยกเป็นอีกหนึ่ง DCA และเสียงหมู่มวลทั้งหลายที่เราไม่ได้คาดหวังเรื่องคุณภาพก็ทำการแยกเป็นอีก DCA ไว้เช่นกัน ในการทำงานหน้าคอนโซลมิกเซอร์เราจะทำงานค่อนข้างง่าย เช่น หากเราต้องการเพิ่มลดเสียงหลัก เราปรับที่ DCA ได้”
ตรงกลางสแตนด์หน้าคอรัสทั้งพันคนนั้นจะมีเวทีย่อย มีเครื่องดนตรี ตรงนี้จะมีคอนดักเตอร์อำนวยเพลงอีกที เขาเล่าถึงการทำงานร่วมกับนักดนตรี และการนัดแนะกันก่อนจะแสดงสดมาเป็นอย่างดี
“ในส่วนของเครื่องดนตรีสำหรับคอรัสนั้น เราทำงานร่วมกับนักดนตรี ด้วยความที่เครื่องดนตรีทั้ง 4 เครื่อง เป็นการเล่นเลียนเสียงทั้งหมดเลย เช่นเสียงออร์แกน เสียงออร์เคสตร้า มีซินธ์ Yamaha Montage ไว้เล่นสังเคราะห์เสียง เราต้องทำการบ้านกับนักดนตรี แบ่งบทบาทของแต่ละเครื่องแต่ละเพลงให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มันทับกันทั้งโน้ตและความถี่เสียง ทำให้วันทำงานจริงไม่เกิดปัญหา”
เขาเล่าต่อว่า “นักดนตรีเขาจะซ้อมมา เช่นเพลง A เครื่องออร์แกนเล่นเป็นเสียงของออร์แกน เครื่องอิเล็คโทนเล่นเป็นเสียงทรัมเป็ต เครื่องซินธ์ Montage เล่นเป็นเสียงสตริง โดยได้แบ่งกันไว้เรียบร้อยแล้ว อันนี้ก็จะสลับไปสลับมาในแต่ละเพลง ซึ่งจะจัดสรรกันไป”
คอรัสทั้ง 1000 คนต้องส่งตรง PA
สัญญาณทั้งหมดที่ผ่านบอร์ด CL5 ต้องปล่อยสู่ระบบลำโพง PA เขาเล่าว่า “สัญญาณทั้งหมดจากนักร้องคอรัสก็ดี จากนักดนตรีจะถูกส่งไปคอนโซลมิกเซอร์หลัก ซึ่งเป็น Yamaha PM10 โดยจะส่งสัญญาณ Mix-minus (N-1) กลับมาที่ Yamaha CL5 เพราะว่าต้องใช้บาลานซ์ร่วมกับเครื่องดนตรีคอรัสและออร์เคสตร้าด้วย เพื่อให้รู้ว่าเราจะต้องทำโทนแบบไหนให้เข้ากับเวทีหลักที่เป็นโชว์คอนเสิร์ต”
ใส่เอฟเฟ็กต์เพื่อความสมจริง
ยังไม่จบเท่านี้เราถามว่าสถานที่เปิดโล่งแบบนี้ ไม่น่าจะใช้เอฟเฟ็กต์มากนัก เพราะอาศัยสถานที่ช่วยก็น่าจะเพียงพอ เขาเล่าให้ฟัง “ในบอร์ด CL5 ได้ใส่เอฟเฟ็กต์ประมาณ 3 แร็ค เป็น REV-X ทั้ง 3 แร็ค โดยแยกเป็น Hall, Plate เหตุผลที่เราต้องใส่เอฟเฟ็กต์เพิ่มนั้น ด้วยความที่มันมีอะไรบ้างอย่างเช่น เครื่องดนตรีซินธ์ Montage เสียงที่ใช้เล่นร่วมกับบางเพลงมันต้องใช้เอฟเฟ็กต์ เช่นเสียงของระฆังที่ออกจากเครื่องซินธ์ เสียงดั้งเดิมมันแห้งเกินไป”
เขาให้เหตุผลเพิ่ม “ฟังแล้วไม่สมจริงเราจึงปรุงแต่งเล็กน้อย เพราะเสียงเหล่านั้นไม่ได้ถูกออกแบบให้มาเพื่อใช้เล่นกับสถานที่ใหญ่ขนาดนี้ ส่วนเสียงร้อง Ensemble มีการใส่ Plate เพื่อปูให้มันฟังลอยๆ อยู่ด้านหลังซาวด์ถูก Pan ออกไปกว้างๆ ด้านข้าง ส่วนเสียงหลักก็จะอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีการออกแบบเรื่องซาวด์สเตจอยู่บ้าง”
เราได้ถามว่าหลังจากได้สัมผัสกับคอนโซล CL5 ครั้งนี้เป็นยังไง เขาเผยความในใจ เบื้องหลังระบบเสียง “จากการงานครั้งนี้รู้สึกว่าคอนโซลมิกเซอร์ Yamaha CL5 เป็นบอร์ดที่ทำงานได้อย่างราบรื่น มีความเสถียร คุณภาพของบอร์ดให้เสียงที่ดี ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งๆ ที่อากาศวันนั้นร้อนมาก แถมตำแหน่งวางคอนโซลก็ไม่ค่อยดี ด้วยความที่บอร์ดถูกออกแบบมาดีจึงทำให้เราทำงานง่าย เรายังได้บันทึกเสียงด้วย Nuendo Live ผ่าน Dante Virtual Soundcard”
ทิ้งท้ายงาน เบื้องหลังระบบเสียง POPE
ปิดท้ายของการสนทนา เราคิดว่าเป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้เหมือนกัน ว่างานนี้เขาคิดว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญ เขาผ่านมันมาได้อย่างไร “ความท้าทายหรือความยากของงานนี้ ข้อแรกเป็นเรื่องของสถานที่ ตำแหน่งของคอรัสมันได้ยินเสียงของ PA ด้วย แล้ว PA ก็ไปอยู่ในส่วนของคอรัสด้วย ทำให้คนร้องเพลงได้ยินดีเลย์”
“ปัญหานี้เราแก้ด้วยการจัดการมอนิเตอร์ต่างๆ ให้ชัดเจน ซึ่งทำเฉพาะส่วนที่เป็นของคอรัส เฉพาะส่วนของคอรัสมีมอนิเตอร์ประมาณ 20 ใบ แยกเป็นส่วนของนักดนตรีแต่ละเครื่อง ซึ่งมีเครื่องดนตรีจำนวน 4 เครื่อง และยังมีมอนิเตอร์ตรงจุดคอนดักเตอร์ และมอนิเตอร์ตั้งวางบนขาตั้งกระจายอยู่รอบๆ คอรัสทั้ง 1,111 คน”
รายชื่ออุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในงาน
- ระบบดิจิตอลคอนโซลหลัก PM10 ร่วมกับ RPio622 สำหรับไมโครโฟนระหว่างการแสดงในสนาม วง Thailand Philharmonic Orchestra และพิธีบูชาขอบพระคุณ
- CL5 (1) ร่วมกับ Rio3224-D สำหรับวงดนตรี The Sound of Siam ส่งสัญญาณที่มิกซ์แล้วไปยัง PM10
- CL5 (2) ร่วมกับ Rio3224-D สำหรับกลุ่มนักขับร้องประสานเสียง 1,111 คน และเครื่องดนตรีต่างๆ (Piano, Organ, MONTAGE, STAGEA, Flute) รวมกับสัญญาณที่มาจาก PM10 ในระบบ Dante เพื่อแปลงเป็นไฟเบอร์ออพติคด้วยความยาวกว่า 500 เมตร
- Tio1608-D ติดตั้งอยู่บริเวณ Media Center แปลงสัญญาณจากไฟเบอร์ออพติคมาเป็นระบบ Dante ซึ่งคือสัญญาณที่ได้จาก CL5 เครื่องที่สอง มารวมกับระบบภาพเพื่อการออกอากาศ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เปิดประตูสู่โลกอุปกรณ์ CIS ของ Yamaha
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด
เพจ Yamaha Pro Audio Thailand
โทร. (02) 215-2626-39