พิธีมิสซา – ปลายปี 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก ทรงเสด็จมาที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ เพื่อประกอบพิธีมิสซาสำหรับเยาวชน โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ และตัวแทนเยาวชนมาร่วมในพิธีมิสซาจำนวน 7,500 คนจากทั่วประเทศ
ก่อนหน้านั้นพระองค์ทรงเสด็จไปที่สนามศุภชลาศัยเพื่อประกอบ พิธีมิสซา เช่นกัน อย่างไรก็ดี ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ นับเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจของพระองค์วาระที่ทรงเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ความท้าทายของงานนี้น่าจะอยู่ที่เรื่อง Reverb time, Delay time เป็นสิ่งที่จัดการยากที่สุด
คุณหมู ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์
ในส่วนเบื้องหลังระบบเสียงที่สนามศุภชลาศัย ทาง Reverb Time ได้นำเสนอไปแล้ว อ่านเพิ่มเติม (เบื้องหลังระบบเสียงงาน POPE Visit to Thailand) คราวนี้ลองติดตามว่าที่อาสนวิหารอัสสัมชัญมีความเหมือนหรือแตกต่างกับที่สนามศุภชลาศัยอย่างไร เราได้พูดคุยกับคุณหมู ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์ ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญด้านระบบเสียงของงานนี้อีกครั้ง
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
จุดเริ่มต้นความรับผิดชอบครั้งนี้
“ผู้ที่ดูแลระบบเสียงหลักในงานนี้คือบริษัทดาดาซาวด์ ได้ติดต่อมาให้ผมดูแลในส่วนของนักขับร้อง โดยส่วนตัวผมเองปกติเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์นักขับร้องประจำวัดอัสสัมฯอยู่แล้ว แต่ในวันประกอบพิธีมิสซา ไม่ใช่นักขับร้องของวัดอัสสัมฯ เป็นนักขับร้องที่เป็นตัวแทนเยาวชนไทยทั้งประเทศ ซึ่งคัดเลือกมาแล้วทั้งหมด 80 คน” คุณหมูกล่าว เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงมีโอกาสได้มารับงานนี้ นี่เป็นงานต่อเนื่องของเขาซึ่งรับผิดชอบต่อจากงานที่สนามศุภชลาศัย
เราได้ถามต่อว่าเขาได้เริ่มต้นทำงานอย่างไร “การทำงานครั้งนี้เราได้เริ่มจากการจัดการเรื่องมอนิเตอร์ก่อน โดยทำมอนิเตอร์ให้เคลียร์ เพราะวัดอัสสัมฯ มีปัญหามากๆ ในเรื่องของ Reverb time หรือค่า RT60 อยู่ประมาณ 6 วินาที ฉะนั้นหากเราทำมอนิเตอร์ดังเกินไป ก็จะมีปัญหากับคนฟังที่อยู่ในโบสถ์ อีกประเด็นหนึ่งคือตัวอาคารถูกออกแบบมาในยุคสมัยที่ยังไม่มีการใช้ไมโครโฟน อายุโบสถ์หลังนี้อายุประมาณ 100 ปี ยุคนั้นจึงยังไม่มีการใช้ระบบเครื่องขยายเสียง ตำแหน่งของนักขับร้องถูกออกแบบให้ยืนอยู่ ณ. จุดปัจจุบันนี้แหละ เสียงร้องจึงถูกขยายโดยอะคูสติกของตัวอาคารออกไป” คุณหมูกล่าว
“ดังนั้น หากเราทำการขยายเสียงอะไรออกมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรี เสียงขับร้องออกระบบลำโพง มันจะถูกส่งไหลออกไปด้วย” เขากล่าวถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญหาในระบบเสียงของสถานที่แห่งนี้
ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์
คุณหมูยังกล่าวย้อนไปถึงจุดกำเนิดระบบเสียงและความพิเศษของที่นี่ให้ฟังว่า “แม้แต่ตำแหน่งนั่งเทศน์ ในยุคที่ยังไม่มีเครื่องเสียง พระสังฆาราชจะไม่ได้เทศน์บนพระแท่น แต่จะมีที่ยืนอยู่จุดหนึ่งตรงกลางวัด เป็นบันไดวนขึ้นไปชั้น 2 หากขึ้นไปพูดตรงนั้นจะได้ยินกันทั้งวัดเลย โดยไม่ต้องใช้ระบบเสียง”
ใช้หลักวิทยาศาสตร์ทำงาน
การทำงานระบบเสียงแท้จริง เบื้องหลังคนทำงานต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมนั้นๆ เป็นอย่างดี “ระบบเสียงที่เรานำมาใช้ในยุคปัจจุบัน หากขยายเสียงเข้าไปก็จะเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่นเสียงของไมค์ร้อง หรือเครื่องดนตรีที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายมันถูกไลน์เอาต์ออกไปกับระบบเสียงด้วย”
“ฉะนั้นสัญญาณเสียงที่ออกไปกับระบบเสียงชุดนี้มันจะไม่เกิด Delay time แต่ว่าเสียงของไปป์ออร์แกน (Pipe Organ) ที่ออกมาจากท่อหรือปล่องเสียงนั้น กว่าจะไหลไปถึงข้างล่างมันจะเกิด Delay time ฉะนั้นเสียงร้องในระบบลำโพง กับเสียงไปป์ออร์แกนมันจะทับซ้อนกันตลอดเวลานี่คือธรรมชาติของที่โบสถ์แห่งนี้” คุณหมูกล่าว
เขาได้สรุปอีกหนึ่งประเด็นเรื่องความก้องของอาคาร จะเกิดปัญหาหากว่าเสียงจากลำโพงถึงหูคนฟังก่อนเสียงของเครื่องดนตรี “ประเด็นก็คือผู้ฟังจะได้ยินเสียงที่เป็น Direct sound จากลำโพงก่อนที่จะได้ยินเสียงธรรมชาติของไปป์ออร์แกนซึ่งเดินทางในอากาศมาถึงหูผู้ฟังช้ากว่า”
ภาพถ่ายมุมสูงภายในโบสถ์ จุดนี้คือตำแหน่งร้องคอรัส อาคารแห่งนี้มีค่า Reverb time หรือค่า RT60 ประมาณ 6 วินาที
เราจึงถามว่าแล้วแก้ปัญหานี้ยังไง เขาอธิบายว่า “ปัญหานี้เราแก้ไขโดยใช้ Delay บนคอนโซลมิกเซอร์ Yamaha TF1 โดยพยายามหาค่าเวลาของ Delay ที่ลงตัวที่สุด อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถหาจุดลงตัวของทั้งอาคารได้ แต่หาจุดที่รับได้ทั้งอาคาร เราจึงเลือกที่จะ Delay เสียงเอาต์พุตของนักร้องลงทั้งหมด โดยกำหนดให้เสียงนั้นเดินทางช้าลง เพื่อให้มันไหลลงด้านล่างสอดคล้องไปพร้อมกับเสียงธรรมชาติของไปป์ออร์แกน”
นักออกแบบระบบเสียง (System Engineer) จะรู้ว่าอุณหภูมิมีผลโดยตรงกับความเร็วเสียงในอากาศ “อย่างที่เรารู้สมัยก่อนโบสถ์แห่งนี้ยังไม่ติดแอร์ อุณหภูมิในโบสถ์อยู่ราวๆ 30+ องศาเซลเซียล ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร ปัจจุบันเมื่อโบสถ์ติดแอร์อุณหภูมิจึงต่ำลง ความเร็วเสียงในอากาศยิ่งเดินทางช้าลง ค่า Delay time ก็เกิดมากขึ้น ดังนั้น ในขณะเราทำซาวด์เช็ค ได้ขอความร่วมมือกับทางโบสถ์ให้ปรับอุณหภูมิตามจริงที่จะใช้ในวันงาน ทางโบสถ์ก็ต้องเดินแอร์ทั้งอาคาร” คุณหมูกล่าว
เซตอัพและใช้อุปกรณ์ต่างๆ
เมื่อถูกถามว่าทำงานร่วมกันกับฝ่ายอื่นๆ ยังไง “เราได้ทำงานร่วมกับทาง ดาดาซาวด์ โดยส่งสัญญาณให้เป็นสเตริโอในรูปอะนาล็อค เพราะระบบเสียงของโบสถ์ถูกออกแบบไว้ลักษณะนี้ ห้องคอนโทรลของโบสถ์ที่นี่ใช้อะนาล็อคมิกเซอร์ Yamaha MG Series ส่วน OB ใช้คอนโซล TF5”
เราเห็นด้านหน้ากึ่งกลางคณะนักร้องคอรัสซึ่งมีไมค์ตัวหนึ่งตั้งขาไว้สูงมาก เราจึงถามด้วยความสงสัย และได้คำตอบว่า “สำหรับไมค์ที่เราใช้ ตำแหน่งพิเศษที่สุด เราใช้ไมค์ X-Y คู่หนึ่ง เพื่อใช้เก็บเสียงภาพรวมหรือบาลานซ์หน้าวงไปก่อน แต่ที่สุดผู้ที่กำหนดซาวด์ของวงมากที่สุดคือคอนดักเตอร์ แล้วอยากรู้ก่อนว่าคอนดักเตอร์บาลานซ์วงมายังไง ซึ่งผมใช้ไมค์ X-Y ตัวนั้นเป็นตัวหลัก แล้วค่อยๆ นำเสียงของไมค์ตัวอื่นๆ เติมเข้าไปเพื่อให้มันชัดเจนขึ้น ซึ่งจะได้เสียงที่ค่อนข้างกลม และหนาขึ้นส่วนหนึ่ง”
ตำแหน่งของไมค์ X-Y ถูกวางไว้ตรงกลางด้านหน้าของคณะคอรัส
“แต่จริงๆ เราอยากได้ซาวด์สเตจของวงที่ถูกต้องแม่นยำด้วย ซึ่งไมค์ตัวนั้นจะเป็นประโยชน์กับระบบ OB ในการใช้ออกอากาศสด แต่หากรับฟังผ่านระบบถ่ายทอดสดก็จะได้ยินมิติของสเตจที่ดีกว่า” คุณหมูกล่าวเสริม
มอนิเตอร์เราทำโทนค่อนข้างธรรมชาติ เปิดไม่ดังมาก แต่ได้ยินชัดเจน เน้นจำนวนนิดนึง นักร้องบวกนักดนตรีจำนวน 80 กว่าคน ใช้มอนิเตอร์ 10 ใบ
Yamaha TF1 คือพระเอก
เราทราบตั้งแต่แรกว่างานที่นี่ใช้คอนโซล Yamaha จึงถามว่างานระดับนี้ใช้ไปกี่แชนแนล “วันนั้น TF1 ใช้งานไปราว 28 แชนแนล แบ่งเป็นการต่อผ่านตัวมิกเซอร์และผ่านสเตจบ็อกซ์ Tio1608D ส่วนเครื่องดนตรีใช้เปียโน ออร์แกน และฟรุ้ท” คุณหมูตอบแบบไม่ลังเล
งานทุกงานน่าจะมีด่านปราบเซียน เราได้ถามว่างานนี้อะไรยากที่สุด “ความท้าทายของงานนี้น่าจะอยู่ที่เรื่อง Reverb time, Delay time เป็นสิ่งที่จัดการยากที่สุด แต่หากถามว่าที่สนามศุภชลาศัยยากไหม มันก็ยาก แต่ด้วยความที่ทาง JSS เขามีความชำนาญ จึงช่วยแก้ปัญหาให้เราไปแล้วครึ่งทาง”
เขาให้เครดิตกับทาง JSS Production ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเครื่องเช่าชั้นนำของไทย “คือทาง JSS ทำการ Alignment ระบบเสียง ตรงนี้ช่วยได้เยอะ แต่ที่โบสถ์ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบเสียง มันเป็นเรื่องอะคูสติกของอาคาร”
Yamaha TF1 ดิจิตอลมิกเซอร์
มาพิจารณาจำนวนมอนิเตอร์ที่เขาใช้และวิธีการจัดการ “มอนิเตอร์เราทำโทนค่อนข้างธรรมชาติ เปิดไม่ดังมาก แต่ได้ยินชัดเจน เน้นจำนวนนิดนึง กับนักร้องบวกนักดนตรีจำนวน 80 กว่าคนนั้น เราใช้มอนิเตอร์ทั้งหมด 10 ใบ” คุณหมูกล่าว
งานสเกลนี้แค่ TF1 ก็เอาอยู่ คุณหมูเขาได้อธิบายถึงการนำ TF1 มาใช้ในงานครั้งนี้ว่า “บน TF1 เราก็ใช้ฟังก์ชัน DCA เช่นเดียวกับที่งานสนามศุภฯ แล้วใช้เมทริกซ์ในการส่งสัญญาณ ไปที่ OB และ PA โดยทาง OB ขอไปทั้งหมด 4 ไลน์ เป็น L/R หลักกับ L/R แบ็กอัพ ส่วน DCA เราส่งเป็นโมโน 2 ไลน์เช่นกัน”
“งานนี้หลักๆ ทุกอย่างจบบนตัว TF1 ทั้งหมดเลย เช่น PEQ ของลำโพงมอนิเตอร์ รวมถึงเอฟเฟ็กต์ 2 ตัวก็ใช้บน TF1 บอร์ดนี้มีเอฟเฟ็กต์ให้ 2 ยูนิตก็ใช้ครบเลย ส่วน Scene ทำอันเดียวทั้งงาน ทำงานไปปรับแต่งไป บางเพลงอาศัยพูดคุยกับนักดนตรีเอา เช่น มีไลน์ไวโอลินไปทับกับเสียงนักร้อง เราก็ขอให้เขาหลบให้หน่อย เราต้องการความเคลียร์ หากเราไปเพิ่มหรือลดอย่างใดอย่างหนึ่งมันอาจจะทำให้เสียงไม่เคลียร์”
ข้อดีของ TF1 มีหลายอย่าง มันรองรับการใช้งานทั่วไปได้ตามปกติ คือตอบโจทย์ได้ดี ไมค์ปรีดีพอสมควร
เทคนิคการจัดการเสียงแสดงสด
ในการบันทึกเสียงหรืองาน PA หลายคนคุ้นเคยการจ่อไมค์หน้าตู้แอมป์หรือตัวเครื่องดนตรีพร้อมกับต่อสัญญาณ Line มาใช้พร้อมกัน กับออร์แกนยักษ์ที่นี่คุณหมูเลือกแนวทางคล้ายๆ กัน “ส่วนเสียงไปป์ออร์แกนมีทั้งต่อผ่านไลน์และใช้เสียงอะคูสติกควบคู่กัน เราใช้ไมค์จ่อที่ท่อของไปป์ออร์แกน ขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อสัญญาณจากไลน์เอาต์พุตของไปป์ออร์แกนเข้ามาด้วย ไมค์ที่ใช้จ่อตัวออร์แกนค่อนข้าง Close เพราะเราเลือกแบบ shotgun”
“จริงๆ มันไม่มีตำแหน่งให้วาง เพราะวันนั้นคนขับร้องเยอะมาก ซึ่งตำแหน่งที่เราเคยวางไมค์ได้ปกติ มันวางไม่ได้ เราจึงผสมผสานเสียงกันไป ตัวไปป์ออร์แกนเองก็มีเอกลักษณ์ของเสียง ซึ่งเอกลักษณ์ที่ว่านี้เป็นเสียงที่ไม่ได้ออกจากไลน์เอาต์ของเครื่อง”
ท่อเสียงของ Pipe Organ อยู่บริเวณด้านหลังคณะนักร้องประสานเสียง
เขายังได้อธิบายต่อว่า “ต้องเรียนว่าไปป์ออร์แกนตัวนี้มันเป็นเครื่องไฮบริดจ์ มี 2 ระบบในเครื่องเดียว คือมีทั้งระบบลำโพงและระบบท่อ เพราะด้วยข้อจำกัดของอาคารมันติดตั้งได้ประมาณ 400 ท่อ แต่จำนวนนี้มันไม่ครบตามเสียงที่ต้องการ เพราะเสียงที่เราต้องการคือประมาณ 1,200 ท่อ ปัจจุบันภายในตู้ท่อของออร์แกนจะมีลำโพงเรียงกันเป็นเซตประมาณ 18 ใบ คือมันขยายเสียงด้วยระบบไฟฟ้าส่วนหนึ่ง โดยมีเสียงบางเสียงออกที่ท่อและบางเสียงออกที่ลำโพง เพื่อความสมบูรณ์แบบของเสียงเราจึงจำเป็นต้องเก็บเสียงทั้งสองส่วน”
“ไปป์ออร์แกนตัวนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่งในเมืองไทยอีกด้วย” เขาเน้นย้ำ
Yamaha TF1 มีของดี?
เราได้ถามว่า ทำไมจึงเลือก TF1 มาทำงานลักษณะนี้ มีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจ “ข้อดีของ TF1 มีหลายอย่าง แต่เรื่องความยืดหยุ่นอาจจะสู้ CL5 ไม่ได้ มันรองรับการใช้งานทั่วไปได้ตามปกติ คือตอบโจทย์ได้ดี ไมค์ปรีดีพอสมควร ส่วน EQ แม้ให้มาจำนวนน้อย แต่ถ้าเราทำระบบได้มาตฐาน ทั้งในส่วนภาคอินพุต/เอาต์พุต ใช้ไมค์ถูกต้อง เซตไม่ผิดตำแหน่ง ลำโพงมอนิเตอร์วางถูกต้อง ใช้ลำโพงมอนิเตอร์ที่ได้มาตรฐาน เราก็แทบไม่ต้องแตะ EQ เลย”
“วันนั้นที่ wedge มอนิเตอร์ผมใช้ไปประมาณ 2 ก้านเท่านั้นเอง ตู้มอนิเตอร์สำหรับนักร้องกับนักดนตรีเราใช้รุ่น Installation Series ของ Yamaha ส่วน wedge มอนิเตอร์ของนักร้องที่เราเอาไว้ปล่อยเสียงดนตรีบางๆ ใช้ Yamaha MSR400 ซึ่งเป็นลำโพงที่มีคุณภาพอยู่แล้ว” คุณหมูอธิบาย
เขาได้เผยเทคนิคการทำงานครั้งนี้ โดยระมัดระวังการควบคุมเสียงจากระบบลำโพงที่รายล้อมเหล่านักร้องคอรัสอย่างยิ่ง “หากสังเกตให้ดี ผมไม่อยากขยายสัญญาณเสียงต่างๆ ออกมามากนัก ไม่อยากเปิดเสียงให้ดัง อย่างมอนิเตอร์สำหรับผู้เล่นอิเล็กโทน ผมจะเอาลำโพงใส่ขาตั้งวางใกล้ๆ หูของเขาเลย เพราะผมไม่ต้องการให้เสียงจากมอนิเตอร์มันไป Impulse (กระตุ้น) กับโครงสร้างตัวอาคาร เพราะถ้าตัวอาคารได้รับการ Impulse ผมงานเข้าแน่ๆ”
Yamaha PX10 เพาเวอร์แอมป์กำลังสูง ถูกนำมาใช้ขับลำโพงมอนิเตอร์
“ส่วนเพาเวอร์แอมป์ใช้ Yamaha PX10 ขับลำโพง Installation Series งานนี้เราได้ดึงประสิทธิภาพของ PX10 ออกมาคือเราได้ใช้ภาค Speaker processor ของเครื่อง เพราะแอมป์รุ่นนี้มีพรีเซตลำโพงรุ่นที่เรามี เมื่อโหลดพรีเซตถูกต้องทุกอย่างก็เป็นไปตามมาตรฐาน ฉะนั้น EQ ของ wedge มอนิเตอร์ จึงแทบไม่ได้ทำอะไร” คุณหมูบอกกับเรา
ใช้เอฟเฟ็กต์จากคอนโซล
เมื่อโบสถ์มีค่าความก้องอยู่แล้วจำเป็นไหมที่จะต้องใช้เอฟเฟ็กต์อื่นๆ ในมิกเซอร์มาช่วย “ที่โบสถ์อัสสัมฯ เราใช้ Hall กับ Plate เพื่อเป็นการเติมในไลน์ที่ใช้ออกอากาศ แต่ไม่ได้เติมเข้าไปที่ PA ในงาน เพราะไลน์ที่ออกอากาศมันจะไม่มี Room อะคูสติก เสียงฟังแล้วจะแห้งเกินไป ด้วยความที่เราทำงานบนบอร์ดเดียวแทนทั้ง 4 บอร์ด ซึ่งมีบอร์ด PA, OB, มอนิเตอร์และเรคอร์ดอีกด้วย” คุณหมูกล่าว
บางท่านอาจสงสัยว่าดนตรีมีความสำคัญต่อพิธีกรรมของคาทอลิกแค่ไหน คุณหมูกล่าวว่า “ตามประเพณีของคริสตจักร ดนตรีเป็นหนึ่งในพิธีกรรม ฉะนั้นมันจึงมีความสำคัญ ไม่น้อยกว่าเสียงของพิธีกรรมข้างล่าง สิ่งที่ถูกขับร้องออกไปไม่ว่าจะเป็นบทสดุดีหรืออะไรก็แล้วแต่ มันจึงเป็นเหมือนพระวาจาของพระเจ้าเช่นกัน เพราะบทเพลงขับร้องล้วนถูกแต่งมาจากคำสอน มาจากคัมภีร์อยู่แล้ว จึงสำคัญเช่นกัน ดังนั้น ต้องสื่อสารให้ผู้ฟังได้รับเสียงที่ชัดเจน”
เสียงจากไมค์ที่พระสันตปาปาตรัสจะไม่ถูกส่งขึ้นมาบนตู้มอนิเตอร์ของนักร้องคอรัส เราสงสัยว่าทำไมเป็นแบบนั้น “ไมค์บนโพเดียมด้านล่างจะถูกส่งไปที่มิกเซอร์ MG วันนั้นด้วยระบบที่เป็น MG จึงทำอะไรซับซ้อนมากไม่ได้ แถมไมค์ตัวนั้นเป็นตัวเดียวกับที่ POPE ใช้ตรัสอีกด้วย การสลับไมค์ไปมาอาจจะไม่ดี แล้วเราก็นำคอรัสลงไปปูสลับเสียงร้องบทสดุดีตรงนั้น ไมค์ร้อง/ไมค์ POPE ตรัสจะไม่ถูกส่งขึ้นมาด้านบน แต่ด้านบนจะมีลำโพงไว้ให้ฟังเสียงจากด้านล่าง ซึ่งลำโพงตัวนี้เป็น Mix-minus เช่นกัน คือจะไม่ได้ยินเสียงของตัวเองย้อนกลับมา” คุณหมูกล่าว
แฟนพันธุ์แท้ Yamaha?
นี่เป็นหนึ่งในผู้ใช้ที่มั่นใจในผลิตภัณฑ์ของ Yamaha เพราะดูจาก List อุปกรณ์ที่ขนไปทำงาน แม้งานครั้งก่อนที่สนามศุภฯ ก็ใส่ List อุปกรณ์แบรนด์นี้ไปหลายรายการ “ผมใช้ TF1 มา 3 ปี มีปัญหาแค่สไลด์เฟดเดอร์ ซึ่งเป็นไปตามสภาพอายุการใช้งาน ระบบอื่นก็ไม่มีปัญหา เพราะทาง Yamaha มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บอร์ดนี้เป็นของผมเอง เวลาผมไปทำงานมิสซา ผมจะใช้บอร์ดนี้เป็น FOH เลย ซึ่งจะนำเสียงพูด เสียงพิธีมาใส่ที่บอร์ด แล้วส่งสัญญาณไปเข้ามิกซ์ของทางวัดแค่ 2 แชนแนล ส่วนเสียงจากนักขับร้องผมนำสเตจบ็อกซ์ไปวางแล้วก็ไลน์สัญญาณมา”
“งานอื่นๆ ก็นำ TF1 ไปใช้เช่นกัน พวกงานดนตรีเฟสติวัลคนดู 800-900 คน งานสเกลระดับนี้ก็ทำงานได้ บอร์ด TF1 มันรันได้สูงสุด 32 แชนแนล แยกเป็นบนบอร์ด 16 แชนแนลและสเตจบ็อกซ์อีก 16 แชนแนล หรือจะใช้สเตจบ็อกซ์ 2 ตัวไม่ใช้บนบอร์ดเลยก็ได้ แต่ผมจะใช้อย่างละครึ่ง เพราะพวกไวร์เลส หรือเพลย์แบ็กเสียงเรายังต่อกับคอนโซลอยู่ แต่ถ้าเป็นรุ่น TF3, TF5 มันจะได้ 40 แชนแนล” คุณหมูกล่าว
คราวนี้น่าจะทำให้หลายคนมั่นใจกับ TF1 มากขึ้น เราได้ถามประสบการณ์ที่เขาได้สัมผัส TF1 มา “จริงๆ ตัว TF1 ใช้ได้เลย ไม่มีปัญหาอะไรมีความเสถียรพอ เช่นตอนนี้มีโมดูลของ Dan Dugan แชนแนล 1-8 ให้อีกด้วย มีเอฟเฟ็กต์ให้ใช้เพียงพอ มีเมทริกซ์ 4 ชุด ซึ่งของเหล่านี้มันไม่ได้มาในเฟิร์มแวร์เวอร์ชันแรก คือเวอร์ชันแรกไม่มีเมทริกซ์ ไม่มี Dan Dugan ที่เมทริกซ์ไม่มี Delay แต่ตอนนี้ TF1 ไปไกลมาก ทำ Delay มีหน่วยเป็นเฟรมอีกด้วย”
อีกหนึ่งฟังก์ชันที่เขาใช้บ่อยและดูเหมือนจะชอบมาก “อย่างฟังก์ชัน DCA ผมจะเปิดหน้า DCA ไว้ตลอดเวลา ซึ่งสถานะของสไลด์เฟดเดอร์ทางซ้ายมือจะเป็น DCA 1-8 เมื่อผม Select DCA 1 ค่า member ของ DCA 1 ก็จะไปอยู่ฝั่งซ้ายมือ เช่น DCA 1 เป็นเครื่องดนตรี เมื่อกด Select เฟดเดอร์ซ้ายมือจะกลายเป็นเครื่องดนตรีเรียงกัน หรือ DCA 2 เป็นเมโลดี้ เมื่อกดเรียกชุด DCA 2 จะถูกฟีดขึ้นมาซ้ายมือ ตรงนี้ก็เป็นความสะดวกสบายของ TF ซึ่งใช้งานได้ดี ส่วนภาคบันทึกเสียงทำได้ 34 แชนแนล คือ 32+สเตริโอเอาต์พุต/เมทริกซ์”
บันทึกเสียงสด
งาน พิธีมิสซา มีการบันทึกเสียงการร้องสดไว้ด้วย “คุณภาพเสียงที่บันทึกจาก TF1 ก็ถือว่าดี เพราะไมค์ปรีบน TF1 เป็นวงจร D-PRE ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของทาง Yamaha วงจรนี้ยังถูกนำไปใช้บนออดิโออินเทอร์เฟซของ Steinberg อีกด้วย” คุณหมูกล่าว
เราถามว่าระบบการบันทึกเสียงสองสถานที่ต่างกันอย่างไร “ที่สนามศุภฯ เราเรคอร์ดสัญญาณจากตัวสเตจบ็อกซ์เลย เราไม่ได้เรคอร์ดผ่านไมค์ปรีคอนโซล CL5 แต่งานที่โบสถ์อัสสัมฯ เราเรคอร์ดจากคอนโซลผ่าน USB ของ TF1 ทั้งสองงานนี้เสียงต่างกัน แต่ต่างกันแบบยอมรับได้ ถ้าจะบอกว่า TF1 เสียงเทียบเท่า CL5 ก็คงไม่ใช่ เพราะที่สนามศุภฯเขาใช้ Rio จำนวน 2 แร็ค” คุณหมูตอบ
คอมพิวเตอร์สำหรับบันทึกเสียง
เสียงตอบรับจากผู้ร่วมงาน พิธีมิสซา
ทำงานแบบมืออาชีพ ยังไงก็ได้รับคำชม ผู้ร่วมงานได้ฟีดแบ็กเป็นบวกให้เขา “งานนี้เราได้รับคำชม ทางดาดาซาวด์บอกว่า นี่คืองานที่ได้ซาวด์ของนักขับร้องที่ดีมาก แต่งานนี้เสียงบางเสียงก็ไม่สามารถเปิดลงไปได้ครบ เพราะเสียงจริงมันล้นลงไปข้างล่างพอสมควร เราจึงเปิดไลน์ PA ได้ประมาณนึงจะเปิดเยอะไม่ได้ ตรงนี้ก็ย้อนกลับไปที่ปัญหาของตัวอาคารนั่นเอง แต่ได้ยินชัดทุกที่นั่ง เพราะมันเป็นการผสมผสานระหว่างเสียงจริงกับเสียงอะคูสติกอาคาร” คุณหมูกล่าว
“ความยากในการทำงานในโบสถ์อัสสัมฯ อีกข้อหนึ่ง คือภายในอาคารได้มีการติดตั้งลำโพงไว้รอบๆ ทีนี้การตอบสนองความถี่เสียงมันไม่ได้ออกแบบให้ใช้กับงานดนตรี มันเป็นลำโพงคอลัมน์ ฉะนั้นแม้เราดันย่านเบสของออร์แกนเข้าไปมันก็ไม่ได้ตอบสนองอะไร” เขาย้ำกับเราในเรื่องความยากง่ายของการทำงานในที่แห่งนี้
หากรู้ข้อจำกัดของอุปกรณ์แต่ละชนิดก็ช่วยให้แก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว “ปัญหาหน้างานวันนั้นก็ไม่มีอะไร ค่อนข้างราบรื่นเลยทีเดียว งานวันนั้นร้อยละ 90 เราใช้ไมค์ไดนามิก ถึงแม้จะเป็นงานอินดอร์แต่ตำแหน่งนักขับร้องมันอยู่ใกล้ท่อแอร์มากคืออยู่ด้านข้างท่อไปป์ออร์แกน หากเรานำไมค์คอนเด็นเซอร์ไปตั้งแถวนั้นเราก็จะได้ยินเสียงลมเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงหลีกเลี่ยง และเลือกเป็นไดนามิกไมค์แทน ซึ่งมันมีข้อดีหลายอย่าง สิ่งแรกลมไม่เข้า อันที่สองมันไม่ไปรับ Reverberation (เสียงก้อง) เข้ามา จึงทำให้เราได้เสียงที่ค่อนข้างเคลียร์” คุณหมูกล่าว
โบสถ์อัสสัมชัญ vs. สนามศุภชลาศัย
เราได้ถามว่างานที่อัสสัมฯ กับสนามศุภฯ ที่ไหนยากกว่า “ถ้าชั่งน้ำหนักผมว่างานที่สนามศุภฯ ยากกว่า ประการแรกอาจเป็นเพราะที่โบสถ์อัสสัมฯ เป็นสถานที่ที่เราคุ้นเคย แต่ถ้าใครไม่เคยทำที่นี่อาจจะประสาทเสียเลย บังเอิญที่นี่เป็นถิ่นของเรา จึงแทบจะแก้ปัญหาครึ่งนึงได้จากที่บ้านมาแล้ว แต่สนามศุภฯ นั้นมันยากตรงที่จำนวนคน Ambient รวมถึงสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่าง รวมถึงตำแหน่งที่ยืนร้อง มันไม่สอดคล้อง จริงๆ ตำแหน่งที่เรายืนร้อง มันไม่น่าจะมีระบบ PA สาดขึ้นมา ตรงนี้ก็จะสร้างปัญหาได้เช่นกัน” คุณหมูตอบ
สรุปบทเรียน 3 อย่างจากงานนี้
ในช่วงท้ายของการพูดคุยเรื่องงาน พิธีมิสซา ครั้งนี้ เราให้เขาสรุปสาระสำคัญว่าได้อะไรจากการทำงานครั้งนี้ “ข้อที่หนึ่งมันคือการทำงานร่วมกัน ถ้าผมทำเฉพาะส่วนของผมดี ระบบหลักอาจไม่รอด หรือระบบหลักดีแต่ของผมอาจจะไม่รอดก็ได้ การทำงานร่วมกันต้องมีการประนีประนอม หาทางออกปัญหาด้วยกัน”
“ข้อสองหลายๆ อย่างคนไทยไม่ค่อยทำกันก็คือ เวลาเรามีปัญหาความถี่กับบางเครื่องดนตรี จริงๆ เราไปสะกิดบอกนักดนตรีได้ แค่เราไปคุยกับเขาว่าช่วยเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ได้ไหม แต่คนไทยไม่ค่อยคุยกัน มันเลยทำให้ภาพรวมงานออกมาไม่ดี มันควรจะช่วยกันหาทางออก”
“ข้อสามการได้มีโอกาสทำงานกับซิสเท็มใหญ่แบบนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ” คุณหมูสรุปทิ้งท้าย
เขายังบอกกับเราอีกว่างานนี้เต็มไปด้วยคอนโซลมิกเซอร์ของ Yamaha “สำหรับงานที่โบสถ์อัสสัมฯ ก็มีการใช้มิกเซอร์ Yamaha หลายจุด ตรงจุดอัสสัมฯชายก็ใช้ Yamaha M7CL จุดอัสสัมฯศึกษาใช้ LS9 เต็มงานเลย จริงๆ แล้วมิกเซอร์ Yamaha ถือว่าเป็นมิกเซอร์ที่ทุกคนยอมรับว่าใช้แล้วไม่มีปัญหาระหว่างงาน ไม่งั้นคงไม่มีใครกล้าเลือกมาใช้งานระดับนี้ ครั้งนี้ว่าไปแล้วมันเป็นงานระดับโลกเลยนะ”
ขอขอบคุณบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ที่เอื้อเฟื้อให้ทาง Reverb Time ได้เข้าไปเก็บข้อมูลภายในงานเพื่อนำมาเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้อ่านในครั้งนี้
สำหรับในอาสนวิหารอัสสัมชัญ เป็นระบบที่ลดความซับซ้อนลง เนื่องจากไม่มีการแสดงเหมือนในสนามศุภชลาศัย อุปกรณ์หลักมีดังนี้
▪ MG32/14 สำหรับไมโครโฟนในพิธีบูชาขอบพระคุณ
▪ TF1 ร่วมกับ Tio1608-D สำหรับกลุ่มนักขับร้องประสานเสียง 80 คน และเครื่องดนตรีต่างๆ (Piano, Organ, STAGEA, Flute)
▪ TF5 ทำการรวมสัญญาณจากมิกเซอร์ทั้งสองตัวเพื่อรวมกับระบบภาพในการออกอากาศ