แม่นาค เดอะ มิวสิคัล – รู้สึกว่าบทลึกและละเอียดมาก มีเวลาทำงานจำกัด แต่เมื่อโจทย์เป็นแบบนี้ความยากของมันคือต้องถอดไดอะล็อกทั้งหมดให้กลายเป็นเพลง
ไกวัล กุลวัฒโนทัย นักแต่งเพลงรางวัลสุพรรณหงส์
หากกล่าวถึงแม่นาคพระโขนง เชื่อว่าหลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ครั้งนี้เราไม่ได้มาชวนท่านไปดูหนังแม่นาคภาคต่อ หรือละครในทีวีช่องใด แต่จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเบื้องหลังดนตรีประกอบละครเพลง ‘แม่นาค เดอะมิวสิคัล‘ ครั้งล่าสุดซึ่งได้จัดแสดงไปเมื่อปลายปี 2562
อันที่จริงละครเวทีเรื่องแม่นาคนั้น มีหลายค่าย หลายเวอร์ชันมีการจัดแสดงกันมาโดยตลอด ซึ่งในการเล่าเรื่องราวต่างมีจุดเด่นต่างกันไป
สำหรับ ‘แม่นาค เดอะมิวสิคัล’ เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันที่ได้เริ่มจัดแสดงครั้งแรกในปี 2552 เล่นรวมไป 18 รอบ ผู้จัดคือค่ายดรีมบอกซ์ เคยมีผลงานละครเพลงอย่างเช่น ‘คู่กรรม เดอะมิวสิคัล‘ และ ‘นางพญางูขาว‘
ในปี 2562 ได้มีการนำละครเพลงเรื่องนี้กลับมาแสดงซ้ำอีกครั้ง ภายใต้แนวคิดการเล่าเรื่องราวแม่นาคพระโขนง ผ่านวิธีการตีความใหม่เล่าเรื่องในรูปละครเพลงทั้งเรื่อง หากท่านต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมคลิกอ่านที่นี่ (อ้างอิง : wiki/แม่นาค_เดอะมิวสิคัล)
เนื่องจากเป็นละครเพลงที่ร้องกันทั้งเรื่อง เราจึงอยากรู้เบื้องหลังการทำงานของส่วนที่เป็นดนตรีประกอบว่ามีวิธีการทำงานกันอย่างไร ทาง Reverb Time ได้รับเกียรติพูดคุยกับคุณไกวัล กุลวัฒโนทัย นักแต่งเพลงระดับรางวัลสุพรรณหงส์ สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม เคยมีผลงานดนตรีประกอบมากมาย อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง สุดสาคร (2549), ประวัติพระพุทธเจ้า (2550), แปดวันแปลกคน (2551), หนุมานคลุกฝุ่น (2551) และ ฯลฯ
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
จุดเริ่มต้นของดนตรีประกอบแม่นาคเดอะมิวสิคัล
“สำหรับละครแม่นาคเดอะมิวสิคัล เราเคยทำงานกันครั้งแรกเมื่อปี 2552 ประมาณ 10 ปีที่แล้ว เป็นละครเพลงมีการร้องเพลงกันทั้งเรื่องหรือที่เรียกกันว่า sung-through musical การทำดนตรีประกอบครั้งแรกเริ่มจากบทละครที่เป็นไอเดียของดรีมบ็อกซ์ เขียนบทโดยพี่โจ้ ดารกา วงศ์ศิริ เค้าอยากทำเรื่องแม่นาค ซึ่งเป็นตำนานผีไทย ในมุมมองที่ต่างออกไป ไม่ใช่ในมุมที่เรารู้จัก ว่าแม่นาคน่ากลัว ตลก หรือวิ่งหนีผีลงตุ่มอะไรทำนองนั้น” คุณไกวัลกล่าว เมื่อเราถามเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการทำงานครั้งนี้
“แต่จะนำมาเล่าในมุมที่ว่ามีที่มาที่ไปยังไง มันอาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้ เพราะนิสัยคนไทยชอบต่อเติมเสริมแต่ง ตัวบทละครที่ออกมาตอนแรกมีลักษณะค่อนข้างสมัยใหม่ มีเรื่องของโซเชียล bully คนร้ายกว่าผี มีการเล่าถึงที่มาว่าทำไมแม่นาคจึงเป็นแบบนั้น ทำไมความรักสองคนจึงผูกพัน แล้วก็ไม่ยอมไป แล้วเบื้องหลังที่ลือกันว่าผีดุมันจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่สิ่งที่คนพูดกัน” คุณไกวัลได้ขยายความต่อ
“ทำให้ตอนนั้นเราดูบทแล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก อ่านบทครั้งแรกผมก็มาทำดนตรีให้ รู้สึกว่าบทลึกและละเอียดมาก แต่ก็มีเวลาทำงานจำกัดมาก แต่เมื่อโจทย์เป็นแบบนี้ความยากของมันคือต้องถอดไดอะล็อกทั้งหมดให้กลายเป็นเพลง ปกติเวลาเราดูหนังเพลงหรือละครเพลง (musical theatre) บทสนทนาก็สนทนาไป อาจมีบางช่วงที่ร้องเพลง จำนวนเพลงอาจไม่เยอะ สักประมาณ 5-10 เพลง” สิ่งที่คุณไกวัลกล่าวเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง ถือเป็นไอเดียสำหรับคนทำดนตรีประกอบเพราะสามารถถอดจากบทละครได้
คุณไกวัล กุลวัฒโนทัย นักแต่งเพลงระดับรางวัลสุพรรณหงส์
เมื่อถอดบทได้แล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาคือต้องตีความออกมาเป็นอารมณ์ดนตรีเพื่อสื่อสารกับคนดู คุณไกวัลกล่าวต่อว่า “ละครเรื่องนี้ มีการถอดบทเป็นดนตรี อันดับแรกต้องดูว่าบทสนทนาจะกลายเป็นเพลงยังไงลักษณะเป็นการร้องโต้ตอบกัน อีกประเภทคือเป็นเพลงร้องเลย ที่จะเล่าถึงอารมณ์ของตัวละคร ถ้าเป็นภาษาในโอเปร่าเรียกว่า “Aria” คือเพลงเดี่ยวเช่นว่า แม่นาคออกมาร้องเดี่ยวว่า เค้าจะสร้างโลกของเค้าเอง หรือสายหยุดออกมาร้องรำพึงรำพันว่า ฉันรักพี่มาก แต่พี่มากรักนาค อะไรแบบนี้ ดนตรีอีกประเภทคือเป็นดนตรีประกอบแอคชัน บ้านจะพัง หรือออกอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จะมีดนตรี 3 ประเภทอยู่ในเรื่องนี้”
แต่ละเพลงล้วนมีที่มา
การทำเพลงเมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่เริ่มรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ จำเป็นต้องมีคนช่วย “ตอนเริ่มต้นแต่งเพลง ผมจะเริ่มแต่งตั้งแต่ต้นยาวไปจนจบ พอรู้สึกยากมากๆ เราก็จะช่วยกัน ซึ่งมีพี่พลรักษ์ โอชกะ และพี่ไก่ สุธี แสงเสรีชน สักพักไม่ไหวก็จะมีอีก 2-3 คนมาช่วยเสริม เพราะบางซีนจะยากมาก เพลงต้องต่อเนื่องกันยาว ตอนจบครึ่งแรกที่เป็นเพลง “เรือมรณา” ตอนที่แม่นาคตายแล้ว แล้วเค้าต้องพูดซีนนั้นว่า ข้าไม่พร้อมจะยอมตาย” คุณไกวัลเผยความรู้สึก
“อันนี้เป็นธีมว่าทำไมเค้ายังเป็นผีอยู่ คือเค้าตายแล้วแต่ไม่ยอมไป เพราะเกิดจากความผูกพัน เค้าอยากชดเชยเมื่อตอนเขายังมีชีวิตอยู่ เพราะตอนมีชีวิตก็ไม่มีความสุข พอตายแล้วก็อยากจะใช้ความรันทดตรงนั้นให้เป็นเมจิก นี่เป็นการเริ่มต้นตำนานแม่นาค” คุณไกวัลได้อธิบายเรื่องราวแม่นาคแบบเข้าถึงบทแสดง
โน้ตของดนตรีประกอบ แม่นาค เดอะมิวสิคัล 2562
เพลงข้าไม่พร้อมจะยอมตายถือเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพราะสื่อสารกับคนดูให้อินไปกับเนื้อเรื่อง “ฉะนั้นเพลงนี้ถือเป็นเพลงสำคัญของเรื่อง และยังมีเพลงที่เกี่ยวพันกับความรัก การสัญญาระหว่างพระเอกและนางเอกว่า ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่เขาจะรอกัน ถ้าหากตายแล้วก็จะไม่ไปภพหน้า ทั้งหมดเมื่อมันรวมมาถึงบทสุดท้ายตอนสะพานขาด ตอนสะพานขาดถือเป็นฉากสัญลักษณ์นะ ว่าโลกของคนตายกับคนเป็นมาเจอกัน มันเป็นฉากที่เต็มไปด้วยความหมายว่า เสมือนเป็นสิ่งที่กั้นความจริงกับความฝันอยู่ในคนละภพ” คุณไกวัลกล่าว
“แต่พอแม่นาคสามารถปล่อยวางการยึดติดได้แล้ว เค้าเจอพระ ได้ฟังคำสอน เห็นการเสียสละของพระเอก เค้าก็สามารถตัดใจได้ เพลงประกอบช่วงนี้ถือเป็นเพลงยากที่สุดในเรื่องเลย เพราะเป็นเพลงที่นำเอาดนตรีหรือเพลงที่เราวางไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นมาสรุป เป็นเพลงที่เราใช้ธีมประมาณ 4-5 ธีมแต่ละเพลงที่วางไว้มาสรุปในเพลงนี้” คุณไกวัลกล่าว จะเห็นได้ว่าละครเมื่อเริ่มต้นขึ้น ระหว่างทางจะเป็นยังไง สุดท้ายย่อมต้องมีจุดคลี่คลาย ซึ่งต้องอาศัยดนตรีช่วยเช่นกัน
ฟอร์มของแต่ละเพลงมีเอกลักษณ์ ไม่ได้ยึดรูปแบบใดแบบหนึ่ง “ทำนองก็จะมีลักษณะการจินตนาการความฝัน ทำไมเค้าจึงอยากจะมีความสุขมาก อีกเพลงชื่อ “ฟ้าเป็นพยาน” เป็นเพลงที่เค้าสัญญากันตั้งแต่ต้นเรื่อง ถือเป็นเพลงธีมของเรื่อง และก็มีส่วนที่เป็น Trio คือ 3 คนร้อง สำหรับ Trio ถือเป็นฟอร์มการร้องของโอเปร่าที่น่าสนใจเพราะว่าจะแสดงมุมมองแบบสามเหลี่ยม หรือแนวคิดแบบสามมุม ถือเป็นฟอร์มหลักที่นิยมใช้ในโอเปร่าอีกด้วย”
“จากนั้นค่อยมาสรุปช่วงท้ายโดยจะมีคอรัสเข้ามา เพื่อที่จะให้จบได้อย่างสง่างาม เป็นผลคลี่คลายว่าเค้าสามารถปล่อยวางได้ อันนี้ก็เป็นเพลงที่ยาวถึง 12 นาที แบบ non-stop ถือเป็นอีกเพลงที่ยากที่สุด” คุณไกวัลกล่าว
การทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ เราอาจเห็นภาพเห็นบทก่อน แล้วทำดนตรีตาม แต่ในฉากพ่อมากฝันร้าย เห็นว่าเมียเป็นผี แล้วบ้านพัง ซีนนี้ดนตรีทำมาก่อน และเดาจังหวะอย่างเดียวเลย
ดนตรีออร์เคสตราที่มีกลิ่นความเป็นไทย
หนังไทย ละครไทยต้องมีกลิ่นไอแบบไทยๆ นี่เป็นเหตุผลที่เขาต้องแต่งให้ได้อารมณ์แบบไทยๆ “ส่วนเพลงอื่นๆ ในเรื่องเราก็แต่งตามคาเร็คเตอร์ อย่างเช่นเพลงช่วงไทยๆ บรรยากาศแบบบ้านนอกสมัยก่อน แนวลูกกรุง ก็จะแต่งโดยพี่หมึก พลรักษ์ โอชกะ มีเพลง “หน้านาข้ารอ” ที่สายหยุดออกมาร้องว่า รอพี่มากตั้งแต่เด็ก ได้สัญญากัน ส่วนเพลงที่มีลักษณะอารมณ์ก็จะมีของคุณไก่ สุธี มาช่วยแต่ง แม่เหมือน ซึ่งเป็นแม่ของพ่อมาก คือเค้ายึดติดกับลูกมาก หนังแนวแม่ผัวลูกสะใภ้มันเป็นเรื่องคลาสสิคมากนะ อารมณ์แบบนี้คุณไก่ได้เขียนหลายเพลง เฉลี่ยแล้วแต่งกันคนละ 10 เพลง นอกนั้นก็มีท่านอื่นๆ มาช่วยเขียน เพื่อรวบทั้งหมดให้กลายเป็นเพลงดำเนินเรื่องไป” คุณไกวัลได้เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานกับทีมทำเพลงคนอื่นๆ
“เราไม่ได้ใช้ฟอร์มเหมือนโอเปร่าซะทีเดียว แต่เราใช้ฟอร์มที่ค่อนข้างเอียงไปทางโอเปร่า เพราะสำเนียงดนตรีมิวสิคัลมันไม่ใช่ดนตรีป๊อบ สมัยนี้ดนตรีส่วนใหญ่จะเป็นดนตรีป๊อบ มีกลอง มีเบส เหมือนกับเราได้รับอิทธิพลจากละครบรอดเวย์” คุณไกวัลกล่าวเพิ่มเติม
เขาได้ผสานความเป็นไทยให้มีโอเปร่าโดยคนดูไม่รู้สึกแปลกแยก “เรื่องนี้จะผสมความเป็นไทยกับโอเปร่า และมีสำเนียงเป็นลูกกรุงนิดๆ อันนี้เป็นโจทย์ที่เราตั้งไว้แต่แรกว่า อยากให้คนดูได้รู้สึกเหมือนย้อนอดีต มีความเป็นไทย ถ้าเรื่องเป็นไทยแต่ดนตรีเป็นฝรั่งทั้งหมดดูมันจะไม่ค่อยเข้าท่านะ แต่ฟอร์มของโอเปร่ามันเหมาะกับการที่จะนำมาเล่ากับเรื่องสเกลที่ใหญ่ หรือความรู้สึกที่โหยหวน เป็นผีเสียงต้องสูงๆ แบบโซปราโน คือเราประยุกต์เอาเทคนิคเหล่านี้มาทำให้มันเหมาะกับคาเร็คเตอร์และการเล่าเรื่อง” คุณไกวัลกล่าว
สิ่งที่ยากในการนำบทละครมาขับร้องเป็นเพลง คือทำแล้วคนดูจะต้องไม่รู้สึกฟังแล้วขัดหู “ทั้งเรื่องจะไม่มีกลองตลอดเวลา แต่เป็นเพลงที่ล่องลอยไป ใช้อารมณ์เยอะ มีการเปลี่ยนบีท ไม่มีการประณีประนอมในการร้องกัน ตอนแรกคนก็บ่นว่ามันยาก แต่เราคิดว่ามันเหมาะกับอารมณ์ที่สุด คือเราไม่ได้ตั้งใจคำนวณนะ เวลาแต่งไปมันจะไหลไปเอง อ๋อ! ตรงนี้มีการหักจังหวะ เพราะต้องการให้มันมีความตื่นเต้น จุดไหนที่มีความวุ่นวายก็ใส่ดนตรีเข้าไปให้เหมาะ” คุณไกวัลกล่าว
เมื่อถามว่าใช้เวลาในการแต่งเพลงนานแค่ไหน “เพลงทั้งหมดใช้เวลาแต่งประมาณ 2-3 เดือน ตัวบทเนี่ยพัฒนากันนานมาก แต่เวลาเข้าสู่กระบวนการโปรดักชันจะมีเวลาไม่มาก มีการประชุมเกี่ยวกับบท เราต้องเข้าใจทิศทางตรงกัน เพื่อให้ดนตรีสอดคล้องกับความต้องการของผู้เขียนบท เพลงที่เราทำก็พยายามจะรักษาตัวตนของเราเอาไว้ ขณะเดียวกันก็สามารถรับใช้บทละครไปด้วย ความยากของมันคือเราต้องจินตนาการเอง ต้องเสกอารมณ์ขึ้นมาจากอากาศ เมื่อเห็นตรงกันก็ไปเนรมิตขึ้นมา และดนตรีส่วนใหญ่ที่เป็น Movement ในละครมันมาจากดนตรีก่อนนะ มันจึงทำให้ยากมาก” คุณไกวัลให้คำตอบ
งานนี้ใช้ไลบรารี Iconica Ensembles ของ Steinberg มาช่วยในพาร์ท String ข้อดีคือมันมีความหนาของเสียง ทำให้เราสร้างความเป็นออร์เคสตราขนาดใหญ่ได้
ละครเพลงยากกว่า?
จากประสบการณ์ที่เขาเคยทำงานด้านดนตรีประกอบภายนตร์เราให้เขาเทียบว่าอะไรยากง่ายต่างกัน “หากเทียบกับการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ เราอาจเห็นภาพเห็นบทก่อน แล้วทำดนตรีตาม ตัวอย่างในฉากพ่อมากฝันร้าย เห็นว่าเมียเป็นผี แล้วบ้านพัง แล้วเปลี่ยนชุด ซีนนี้ดนตรีทำมาก่อน และเดาจังหวะอย่างเดียวเลย เสร็จแล้วเราก็มาทดลองกัน ถ้ามันไม่ลงตัวเราก็จะขยับดนตรีกันนิดนึง คือแต่งก่อนแล้วให้เค้าเสกท่ากันเอาเอง” คุณไกวัลตอบ
งานจะออกมาดีผู้กำกับเองก็ต้องเก่งด้วย “ผู้กำกับเขาก็มีเซ้นส์ที่ว่า เวลาดนตรีมาแบบนี้เขาก็จะรู้ว่าต้องทำอะไร แบบไหน หากเขาอยากได้อะไรเพิ่ม เขาจะบอกเรา”
ในช่วงเราชมละคร และพยายามฟังรายละเอียดเสียงของดนตรีประกอบครั้งนี้ว่ามีกี่ชิ้น เล่นกันกี่คน ใช้อะไรบ้าง “ในส่วนการเล่นดนตรีสดประกอบนั้น เนื่องจากว่ามันถูกย่อส่วนจากตัวสกอร์เดิม ซึ่งสกอร์เดิมใช้คนเล่นประมาณ 16-17 คน มี String, Woodwind, Brass, Percussion เมื่อก่อนที่ทางมันกว้างกว่านี้”
“ตอนนี้มันแคบลง เราจึงย่อพาร์ท String ให้คีย์บอร์ดเล่นแทนลักษณะเป็น Sampling โดยแบ่งเป็น 2 ตัว คือเป็น High-String และ Low-String อีกตัวเป็น Brass กับ Woodwind แต่ยังมีไวโอลินกับเซลโล่เล่นสดอยู่ เพื่อให้ดนตรีฟังแล้วยังรู้สึกว่ามีความเป็นธรรมชาติ เพราะช่วงโซโล่เราอยากให้มันสมจริง ส่วนอื่นๆ ที่ต้องการเป็น Ensemble ให้รู้สึกซาวด์เต็มก็เติม Sampling เข้าไป” คุณไกวัลเริ่มกล่าวลงลึกในด้านเทคนิค
เล่นสดด้วย Sampling
เขายังได้เล่าถึงตัวไลบรารีล่าสุดที่นำมาลองใช้งานจริงในการเล่นสดครั้งนี้ด้วย “งานนี้ก็ใช้ไลบรารี Iconica Ensembles ของ Steinberg มาช่วยในพาร์ท String ข้อดีคือมันมีความหนาของเสียง ทำให้เราสร้างความเป็นออร์เคสตราขนาดใหญ่ได้ โดยที่เล่นสดไม่ยากจนเกินไป สามารถควบคุมไดนามิก ให้มันดังขึ้นหรือเบาลงแบบรีลไทม์ได้ง่ายๆ แต่คนเล่นก็ใช้เวลาฝึกพอสมควร จนกระทั่งผู้เล่นคุ้นชินกับระบบ”
เราแอบสงสัยเหมือนกันว่า ใช้ Sampling มาเล่นสดแล้วรอดได้ยังไง “ปกติ Sampling ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ใช้เล่นสด เขาทำมาเพื่อใช้แต่งเพลงในสตูดิโอ เราเขียนโน้ตใส่เข้าไป หรือเล่นหลายๆ รอบก็ได้ แต่พอเป็นการเล่นสดเนี่ย เราต้องเล่นทีเดียว แล้วย่อให้มันเล่นแล้วรู้สึกเป็นธรรมชาติ ครั้งนี้เป็นโปรเจคแรกที่เรานำ Sampling มาทำ คือเราอยากทดลองดูว่าถ้าเราใช้ Sampling จะรอดกันไหม” คุณไกวัลกล่าว
Iconica ไลบรารีตัวใหม่จาก Steinberg
เขาให้เหตุผลว่าทำไมจึงชอบไลบรารีตัวใหม่ของ Steinberg “เมื่อก่อนเราใช้ซินธิไซเซอร์ธรรมดา แต่เสียงมันไม่ค่อยสมจริง เสียงจะแห้งแบนๆ ยิ่งเราลดจำนวนเครื่องดนตรีจริง แล้วไปพึ่งพาเสียงจากคีย์บอร์ดจำเป็นต้องได้เสียงที่ดี เราจึงเลือก Iconica ส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นไลบรารีที่เหมาะกับการเล่นสดด้วยนะ อาจมีบางพาร์ทที่ควบคุมยาก แต่เมื่อเรียนรู้ระบบได้แล้วก็ทำงานได้” คุณไกวัลกล่าว
งานเล่นสดที่ต้องการความเนี้ยบยังไงก็ต้องซ้อม เราได้ถามว่ามีการซ้อมยังไง “ก่อนจะมาซ้อมรวม นักดนตรีจะมีการซ้อมแยกอยู่เหมือนกัน เพื่อให้เค้าคุ้นเคยกับตัวโน้ต ส่วนหนึ่งจะเป็นนักดนตรีหลักดั้งเดิมที่เคยเล่นมาแล้ว ก็พอจะเข้าใจว่าเพลงของละครเรื่องนี้มันเยอะมาก อีกส่วนก็เป็นนักดนตรีใหม่ที่ไม่เคยเล่นเพลงเรื่องนี้มาก่อน” คุณไกวัลกล่าว
Yamaha Montage ก็มา
งานนี้เรียกว่าแม้แต่โน้ตดนตรียังทำขึ้นใหม่ แล้วใช้คีย์บอร์ด Yamaha Montage มาเสริม “โน้ตดนตรีเราต้องทำใหม่ เพราะว่า เราต้องย่อโน้ตออร์เคสตราเดิมให้เล่นบนคีย์บอร์ดได้ง่าย ขณะเดียวกันต้องฟังแล้วเหมือนออร์เคสตราจริง ซึ่งมีการผสมเสียง เช่น ในพาร์ทของ Brass กับ Woodwind เราใช้ Yamaha Montage เล่น ซึ่งเราได้โปรแกรม Patch เป็น Trombone, French horn, Trumpet ผสมบางส่วนเข้าไป”
“หากต้องการซาวด์ที่บางลงก็เลือก French horn ให้เหลือตัวเดียวหรือสองตัว แล้วเลือกใส่ในจุดที่เหมาะสม และตัว Montage ยังมี Audio Interface ในตัวใช้งานสะดวกดี สามารถต่อกับคอมพิวเตอร์แล้วส่งสัญญาณเสียงดนตรีไปออก PA ได้เลย” คุณไกวัลกล่าว
Yamaha Montage ซินธิไซเซอร์ที่ครบเครื่อง
เขาวางแผนแม้กระทั่งการคิดเผื่อคนเล่นคีย์บอร์ดอีกด้วย “เรามีการออกแบบเสียงกันเลยว่า เมื่อเล่นถึงห้องเพลงนี้ต้องเปลี่ยนเป็น Patch นี้ ในส่วนคีย์บอร์ดที่เล่นเสียง String ก็จะมีความละเอียดกว่า เพราะว่าเขาต้องเล่นทั้ง articulation, sustain, staccato ซึ่งจะต้องเปลี่ยน Patch เหล่านี้แบบรีลไทม์” คุณไกวัลกล่าว
เมื่อถามว่ากระบวนการทำเพลงตัวอย่าง และการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมทีมเป็นยังไง “ขั้นตอนการทำเพลง ผมจะทำเป็น MIDI ลักษณะเดโมก่อน แล้วส่งต่อให้คนเรียบเรียงเสียงประสาน กระบวนการต่างๆ จะทำงานไล่ๆ กัน โน้ตสกอร์ดนตรีทั้งเรื่องเยอะมาก ตอนซ้อมรวมวงก็ใช้เวลาประมาณสัปดาห์เดียว นี่เรื่องจริง เพราะต้องให้วงดนตรีเคลียร์โน้ตกันก่อน เพราะสิ่งที่ยากที่สุดคือแนวเพลง ความช้า-เร็ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ถ้านักดนตรีเล่นไม่เข้ากับคนร้องก็จะมีปัญหาได้ เล่นอารมณ์ไม่ได้ จังหวะการแสดงก็จะเสีย เพลงมันไม่ได้มีแค่ Tempo เดียว เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า” คุณไกวัลกล่าว
“อันนี้เป็นความยากของคอนดักเตอร์เลย ต้องมาท่องแนว ส่วน Rhythm section ต้องมาจำแนวเพลงให้ได้ เบส กลอง เปียโน ต้องเข้าใจเลยว่า ห้ามเร็วหรือห้ามช้ากว่านี้” เขาเสริมในประเด็นนี้ให้เห็นภาพ
เขาย้ำอีกว่าการทำงานดนตรีประกอบหนังกับเล่นสดต่างกันยังไง “การทำงานของเราจะต่างกับการทำดนตรีประกอบหนัง ถ้าเป็นนักดนตรีสตูดิโอเขาจะเจอโน้ตวันอัดเสียง อัดจบก็คือจบ หากเป็นลักษณะงานที่ต้องเล่นสดมิวสิคัล เราจะต้องมีการจองตัวนักดนตรีกลุ่มหนึ่งที่ต้องซ้อม ต้องอยู่ซ้อมด้วยกันเป็นเดือน หรือเป็นปี โน้ตดนตรีที่ทำมาบางครั้งมีการแก้ไขตอนซ้อมก็มี คือต่อให้แต่งมาพิสดารยังไง มันต้องเล่นสดได้”
Yamaha MOX6 หนึ่งในอุปกรณ์ที่ใช้ในงานนี้
Sampling ยุคใหม่ทำฝันให้เป็นจริง
หากได้นักดนตรีเก่งมาร่วมงานย่อมทำให้ของยากกลายเป็นเรื่องง่าย “อย่างพาร์ทของเปียโนยากมาก เพราะเล่นแทบตลอดเวลา ต้องใช้นักเปียโนที่มีทักษะสูงมาก งานนี้ได้มือเปียโนชื่อคุณโซ่ซึ่งเป็นอาจารย์จาก ม.ศิลปากร มาเล่น ซึ่งเล่นได้ทุกแนว” คุณไกวัลกล่าว
เมื่อถามว่าการทำงานในวันนี้ต่างกับอดีตอย่างไร “เรามีฝันค่อนข้างใหญ่นะ เพราะมิวสิคัลประกอบละครเรื่องนี้ ซาวด์มันเป็นออร์เคสตรา ปกติก็ไม่ค่อยมีการคิดถึงออร์เคสตราในโรงขนาดนี้ เพราะมันทำไม่ได้ แต่ตอนที่เริ่มแต่งเพลง โทนของเรื่องมัน Dramatic แล้วมัน Dark แล้วผมก็กำลังอยู่ในฟิลของฟิล์มสกอร์ที่รู้สึกว่าซาวด์มันใหญ่มาก”
“เมื่อ 10 ปีก่อนเราใช้นักดนตรีเยอะมาก เพื่อให้ได้ซาวด์แบบออร์เคสตรา คือมีเสียงครบวง ทั้ง Woodwind, Brass, String ซาวด์ในหัวเรามีออร์เคสตราประมาณ 60-70 ชิ้น แต่ในทางปฎิบัติทำได้เพียง 25 ชิ้น ซึ่งเหมือนจะใหญ่แต่มันยังไม่พอ” คุณไกวัลตอบเชิงเปรียบเทียบ
“ตอนนั้นเราทำได้แค่ใช้ซินธ์เท่าที่หาได้มาเสริม และการจะไปเล่น Sampling บนเวทีในยุคนั้นมันยังซับซ้อนเกินไป คือเราควบคุมไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต้องพึ่งพาคนที่เข้าใจด้านเทคนิคเยอะ กระทั่งต้องไปหาอิเล็กโทนบวกเข้าไป เพื่อให้ซาวด์มันฟังเหมือน 70 ชิ้น” คุณไกวัลเล่าถึงวันวาน
“ปัจจุบันเราหันมาใช้ Sampling เพราะยุคนี้ทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คแรงๆ และฮาร์ดแวร์ต่างๆ มันมีความเสถียรและมีความเร็วเพียงพอก็ทำได้ง่าย สมัยก่อนถ้าเราทำแบบนี้ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เยอะ คงใช้สายเชื่อมต่อกันวุ่นวาย” คุณไกวัลพยายามสื่อให้ภาพปัจจุบัน
อีกหนึ่งคำตอบที่เราได้มา เป็นการยืนยันว่า Sampling เล่นสดได้มีอยู่จริง “หากเรามีไลบรารีดีๆ และซอฟต์แวร์ตัวนั้นมีความยืดหยุ่นพอที่จะเอื้อต่อการเล่นสดได้ง่าย ผมเองใช้เวลาคิดพอสมควร เพราะตอนรู้ว่าจะทำเรื่องแม่นาคผมคิดในใจว่าจะทำยังไงดี เพราะซาวด์มันใหญ่ ก็พยายามคิดว่าทำยังไงหากใช้ Sampler เล่นสดแล้วยุ่งน้อยที่สุด หรือกรณีถ้ามันเกิดล่มบนเวที ต้องมีแผนสำรอง เช่น ถ้าคอมฯแฮงค์ขึ้นมา หรือดับจะทำยังไง” คุณไกวัลกล่าว
ก่อนจะจบที่ตัว Iconica
การทำงานประกอบครั้งนี้ ถือว่าทำงานกันหนักและวางแผนกันเยอะจริงๆ “เราได้ทดลองเล่นหลายๆ ไลบรารี ซึ่งยอมรับว่าเสียงมันดีมาก แต่ถ้านำมาเล่นสดมันควบคุมยาก บางตัวแม้เสียงจะดีมากๆ แต่ต้องคิดให้ละเอียด เพราะขณะที่คุณเล่นนั้น คุณไม่มีเวลาคิดนะ คุณโหลดไลบรารีตัวหนึ่งใช้เวลาหลายนาที ถ้ามันล่มแล้วโหลดซ้ำอีกซึ่งจะกินเวลาไปอีกหลายนาที แบบนี้ไม่ได้นะ ฉะนั้น ต้องหาตัวที่มันโหลดเร็ว และมีคุณภาพที่ยอมรับได้”
“คือต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างเสียงที่ดีและเล่นบนเวทีได้ จริงๆ เราสามารถทำให้เสียงจากไลบรารีเหมือนของจริงเลยก็ได้ แต่มันยุ่งเกินไปสำหรับเล่นสด เพราะการเล่นสด สมาธิของผู้เล่นจะอยู่ที่ตัวโน้ต มันต้องเป็นระบบง่ายๆ คือกด 3-4 ครั้งแล้วมันเปลี่ยนเสียงให้เขาได้เลย” คุณไกวัลขยายความต่อ
ไม่ว่าจะเป็นซินธ์หรือ Sampling สิ่งที่นักดนตรีผู้นี้อยากได้ “สิ่งที่เราต้องการคือเสียงมีความเป็นธรรมชาติ การควบคุมไดนามิกดังเบาไม่ยากเกินไป มีระบบที่สะดวกต่อการเซตอัพ คือทุกคนเข้าใจได้ไม่ยาก และใช้ทรัพยากรไม่เยอะ เวลาเล่นจริงถ้าซับซ้อนเกินไป มันจะทำให้ผู้เล่นตั้งสติไม่ทัน สมมติว่าเราอยากได้ Legato String เสร็จแล้วมา pizzicato คือไลบรารีหลายตัวมันทำได้หมด ผมได้ลองมาแล้วหลายตัว แต่สุดท้ายมาจบที่ HALion ของ Steinberg” คุณไกวัลเผยประสบการณ์
“ผมเปิด HALion Symphonic Orchestra ตัวหลักขึ้นมาก่อน ฟังเสียงแล้วรู้สึกว่าใช้ได้ แม้เสียงอาจจะสู้ตัว Iconica ไม่ได้ เพราะเป็น Sampling ตัวใหม่ คือในส่วนที่เป็น Ensemble มันเป็นไลบรารีที่เค้าเอาไว้สำหรับแต่งเพลง คือให้นักประพันธ์ได้แต่งเพลงแบบเร็วๆ กดคีย์บอร์ดไม่กี่โน้ต แต่ได้ซาวด์ออกมาเหมือนเล่นวงจริงๆ”
เราได้ถามว่า แล้วรู้ได้ยังไงว่า HALion เหมาะกับละครเพลงเรื่องนี้ “เราก็คิดว่ามันน่าจะเหมาะนะ เพราะมันสามารถ assign ตัว articulation ให้คนเล่นเปลี่ยนได้ไม่ยาก สัก 3-4 โน้ตก็พอแล้ว ให้มันสามารถ Tremolo, Legato, Marcato ได้ ซึ่งมันก็ทำได้ แต่ตอนแรกคิดเยอะกว่านี้อีก” คุณไกวัลตอบ
ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยทำให้ซาวด์อลังการขึ้น “สุดท้ายย่อลงมาโดยใช้คอมพิวเตอร์แค่ 2 เครื่อง ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ String เพราะถือเป็นกระดูกสันหลังของซาวด์ออร์เคสตรา ถ้า String ฟังดี อย่างอื่นมันจะดีหมด งานยุคนี้ใช้คนเล่นน้อยลง แต่ได้ซาวด์ที่ใหญ่ขึ้น โปรเจคนี้ถ้าเทียบกับวงออร์เคสตราน่าจะเทียบได้ประมาณ 80 ชิ้น” คุณไกวัลกล่าว
“จริงๆ เราอยากจะใช้ Sampling ของ Brass ด้วย แต่มันยุ่งยากเกินไป ผมจึงเลือกเสียงจาก Yamaha Montage มาเป็น Brass Section แทน ลองแล้วก็พอใจ ใช้งานได้ค่อนข้างดี คือไลบรารีเสียงของ Steinberg กับ Yamaha มันมาจากโรงงานเดียวกัน เนื้อเสียงจึงค่อนข้างใกล้เคียงกันเลยทีเดียว ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าโดดไปคนละไลบรารี”
HALion Symphonic Orchestra
สรุปใช้คีย์บอร์ดหลายตัว เพื่อให้ได้เสียงที่ต้องการ “งานนี้เราใช้คีย์บอร์ด 3 ตัว เล่นเป็น String 2 ตัว และ Brass 1 ตัว ส่วนเสียงเปียโนก็ใช้เป็นเปียโนไฟฟ้า ส่วนเครื่องจังหวะใช้ Percussion Pad มีเสียงพวก กลอง Timpani คราวก่อนใช้กลองจริง 2 ใบ แต่คราวนี้หาที่วางไม่ได้จึงใช้ Pad แทน” คุณไกวัลกล่าวอย่างละเอียด
Latency ของแสลงในการเล่นสด
ปัญหาของนักดนตรีบางคนคือเล่นแล้วมันหน่วงหรือเกิด Latency “ในการลด Latency ในการเล่นสด มี 2 ทาง อันดับแรกคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ต้องค่อนข้างแรง พวก Core i7 ขึ้นไป อันดับสองตัว Audio Interface ต้องมี Latency ที่ต่ำ หากได้ 2 อย่างนี้ จะทำให้เซตค่า Latency ได้ต่ำมากๆ คือ Buffer size ประมาณ 64 Samples ค่านี้ใช้ได้จริง”
“นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถที่จะโหลดหลายๆ Sampler เข้าไปในคอมพิวเตอร์พร้อมกันได้ คือให้โหลดทีละ 1 โปรแกรมเสียงก็พอ ถ้าเราโหลดครั้งละหลายๆ โปรแกรมมันจะไปดึงคอมพิวเตอร์ลง แต่ถ้า CPU แรงเราลด Buffer size ลงจนกระทั่งคนเล่นไม่รู้สึกว่ามันหน่วง” คุณไกวัลเล่าถึงประสบการณ์ตรง
แม้งานนี้จะมีหน่วงระหว่างซ้อมแต่เขาก็ผ่านไปได้ “ประสบการณ์ตรงของงานนี้ วันแรกที่ซ้อมกัน คนเล่นเค้าบอกว่า ทำไมมันรู้สึกหนืดๆ เราจึงดึงลงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตอนแรกตั้งไว้ 128 Samples นั่นหมายความว่า หากใครจะใช้ Sampling เล่นสด จะต้องหาคอมพิวเตอร์แรงๆ มี RAM เยอะๆ ควรเลือก Audio Interface ที่มี Latency ต่ำๆ พวกที่ต่อผ่าน USB” คุณไกวัลกล่าว
Iconica Opus ไลบรารีตัวใหญ่สุด
เขายังให้รายละเอียดเชิงแนะนำเพิ่มว่า “ตัวไลบรารี Iconica โหลดเข้าไปในเครื่องก็กินแรมไม่กี่ร้อยเม็กกะไบต์ หากมี RAM เยอะก็ทำงานสบาย เพราะต้องเผื่อเฮดรูม เช่นเราใช้หลาย Polyphonic มันก็จะไปดึง RAM ดึง CPU อย่าไปโหลดอะไรเยอะๆ เหมือนทำงานในสตูดิโอ เพราะเล่นสดอาจไม่รอด คือต้องมองเรื่องความเสถียรมาก่อน” คุณไกวัลให้คำแนะนำ
ที่เห็นพูดถึงไลบรารีมาเยอะ แต่ก็ต้องพึ่งพาเครื่องดนตรีจริงพอสมควร “อย่างไรก็ตาม งานนี้ 90% เล่นสด ส่วน 10% ใช้ Sampling มาเสริม สำหรับตัว Iconica ของ Steinberg ตอนนี้มีให้เลือก 3 แพ็กเกจคือตัวเล็กสุดคือ Iconica Ensembles ซึ่งเหมาะกับคนทำเพลงที่ต้องการอะไรเร็วๆ ถัดขึ้นมาหน่อยก็เป็นตัว Iconica Sections & Players และตัวใหญ่สุดคือ Iconica Opus ซึ่งคุณภาพเสียงถือว่าดีใช้ได้” คุณไกวัลกล่าว
“งานครั้งนี้ต้องขอบคุณบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า ที่สนับสนุนไลบรารี Iconica ตัวนี้มาให้ทางเราได้ลองใช้งาน รวมถึงเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดคือ Yamaha Montage ตัวนี้คุณภาพเสียงได้มาตรฐานสากล” คุณไกวัลกล่าวในช่วงท้ายของการพูดคุยครั้งนี้
ขอขอบคุณบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ที่เอื้อเฟื้อให้ทาง Reverb Time ได้เข้าไปเก็บข้อมูลและประสานงานการสัมภาษณ์เพื่อนำความรู้หรือแนวคิดต่างๆ มาเผยแพร่ให้แก่ผู้อ่านในครั้งนี้