เบื้องหลังระบบเสียง – ห้อง Y-DACC ระบบเสียงจะเป็น Surround 5.1 ส่วนห้อง Audioversity เป็นระบบสเตริโอ แต่เป็นสเตริโอที่ถูกเติมมิติของลำโพง
ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์
ในวาระครบรอบ 1 ปี สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส เสด็จเยือนประเทศไทย (1st Anniversary of Pope Francis Apostolic Visit to Thailand) บริษัทสยามดนตรียามาฮ่าเปิดให้เข้าชมนิทรรศการภาพถ่าย ดนตรี และสื่อผสม “ช่วงเวลาแห่งพระหรรษทาน แรงบันดาลใจแห่งความหวัง” ณ อาคารสยามกลการ ปทุมวัน ช่วงวันที่ 23-28 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา
ครั้งนี้เราได้เข้าไปเก็บข้อมูลเบื้องหลังระบบเสียง โดยเฉพาะการทำงานด้านระบบเสียงที่ถือว่าแปลกใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสระบบเสียงในรูปแบบนี้ เรามีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณหมู ภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์อีกครั้ง หลังจากเคยสัมภาษณ์กันไปเมื่อปลายปี 2562
อย่างไรก็ดี ขอขอบคุณทีมงานฝ่าย PA ของสยามดนตรียามาฮ่าที่อำนวยความสะดวกให้เราทุกอย่างด้วยดี
เลือกหัวข้อที่ต้องการอ่าน
จุดเริ่มต้น
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20-23 พ.ย. ปี 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส เสด็จเยือนประเทศไทย ครั้งนั้นถือเป็นโอกาสอันดีของคริสตชนชาวไทย ที่ได้รับเสด็จพระองค์ท่านในรอบ 35 ปีอย่างเป็นทางการ
ช่วงเวลานั้นมีพิธีบูชาขอบพระคุณ (มิสซา) จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 21 พ.ย. 62 ที่สนามศุภชลาศัย และวันที่ 22 พ.ย. 62 ที่ อาสนวิหารอัสสัมชัญ
ในพิธีมิสซาทั้ง 2 ครั้งนั้น ทางฝ่ายระบบเสียง PA ของบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า ได้มีส่วนร่วมในการทำงานเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประสานงาน การเตรียมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เพื่อให้งานลุล่วงไปด้วยดี
เวลาผ่านไป 1 ปี บริษัทสยามดนตรียามาฮ่า จึงนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562 มาให้ทุกท่านได้สัมผัสถึงบรรยากาศ ผ่านการนำเสนอในรูปแบบ “นิทรรศการภาพถ่าย ดนตรี และสื่อผสม” เพื่อให้ผู้คนได้รำลึกถึงเหตุการณ์นั้น อย่างมีความสุขอีกครั้ง
รูปแบบนิทรรศการ
ความตั้งใจจริงๆ คือทางสยามดนตรียามาฮ่า ต้องการเลี้ยงขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในงานครั้งนั้น แต่มีการขยายรูปแบบงานให้น่าสนใจ โดยการคัดสรรภาพถ่ายของกิจกรรมปีที่แล้วมาแสดงร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ร่วมกับภาพถ่ายบางส่วนที่ได้จากสำนักพระราชวัง เพื่อเติมเต็มเนื้อหาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงมีการสร้างเป็นเทศกาลขึ้นมา
โดยทั่วไปงานลักษณะนี้มักจะแสดงเฉพาะภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว หรือบางแห่งอาจมีส่วนของไลท์ติ้ง แสง สี เติมเข้ามาด้วย อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า สยามดนตรียามาฮ่านั้น มีความเป็นสถาบันดนตรี ทางบริษัทฯจึงต้องการนำเสนอสิ่งที่แตกต่าง
ดังนั้นรูปแบบงานจึงมีการนำเครื่องเสียงแบรนด์ Yamaha ซึ่งเป็นผู้นำเทคโนโลยีระบบเสียงระดับโลก มาผสมผสานกับภาพถ่ายเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าชมงานมากยิ่งขึ้น
“ด้วยความที่ผมเป็นผู้ถือซอร์สไฟล์เสียงของบทเพลงศักดิ์สิทธิ์ ทางสยามดนตรียามาฮ่าได้ติดต่อให้เข้าไปช่วยดูแลห้อง Y-DACC กับห้อง Audioversity ซึ่งผมรับผิดชอบเฉพาะสองห้องนี้”
“ทางผู้จัดงานได้ลงมติกัน กำหนดให้ห้อง Y-DACC นำเสนอภาพกิจกรรมในสนามศุภชลาศัย ส่วนห้อง Audioversity เป็นพิธีมิสซาในโบสถ์อัสสัมชัญ ผมมีบทเพลงการแสดงสดจากสถานที่ทั้งสองแห่ง ซึ่งทำมาสเตอริ่งไว้แล้ว จึงนำมาร้อยเรียงให้เข้ากับภาพวิดีโอ” คุณหมู วีออร์กาไนซ์ได้กล่าวกับเรา
คุณภาคภูมิ สุวัชรชัย บจก. วีออร์กาไนซ์
ไฮไลท์ระบบเสียง
เนื่องจากชั้น 3 ของอาคารสยามกลการ ประกอบด้วยห้อง Y-DACC และห้อง Audioversity ซึ่งมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่รองรับระบบ Dante เน็ตเวิร์กเป็นหลัก ทางเจ้าภาพจึงต้องการโชว์ศักยภาพของระบบเสียง แม้จะมีการใช้อุปกรณ์น้อยชิ้น แต่ก็สามารถควบคุมเสียงได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ยังใช้อุปกรณ์เวิร์กสเตชันที่มีอยู่ นั่นคือซอฟต์แวร์ของ Steinberg
“ผมใช้ปลั๊กอิน VST MultiPanner ซึ่งมากับตัว Cubase นอกจากนั้นเครื่องมือหลักอื่นๆ ที่ใช้มิกซ์ก็มี Channel Strip ของ Cubase ซึ่งเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของซอฟต์แวร์ ในนั้นจะมีพวกคอมเพรสเซอร์ เกท อีคิว ผมก็ใช้ในนั้น แต่ตัวหลักคือ MultiPanner ใช้เพื่อช่วยเพิ่มมิติตำแหน่งของเสียง” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
เจ้าภาพยังต้องการให้หลายสิ่งหลายอย่างควบรวมเป็นสิ่งเดียวกัน เพื่อให้สามารถควบคุมได้ง่าย ปรับแต่งเสียงได้อย่างไพเราะมากยิ่งขึ้น มีคุณภาพเสียงสูงสุดเท่าที่จะทำได้
ผู้จัดมองว่า พื้นที่ภายในห้องค่อนข้างกว้างนิดหนึ่ง มีมุมต่างๆ ค่อนข้างเยอะ และอยากได้เสียงในแบบโอบล้อม จึงมองระบบเสียงที่เป็นฟอร์แมต Surround และจึงเลือกเป็นระบบ 5.1 นี่คือคอนเท้นต์หลักที่คิดไว้ตอนต้น
อุปกรณ์ที่ใช้
เมื่อครั้งสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเยือนไทย เราเคยทำสกู๊ปเบื้องหลังระบบเสียงคราวนั้น โดยได้มีการบันทึกเสียงเป็นระบบมัลติแทร็กไว้แล้ว ซึ่งมีการแยกแทร็กเสียงกันอยู่แต่ละชิ้น แต่ละพาร์ทของเสียงร้องต่างๆ เมื่อคัดแยกแทร็กเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาทำเป็นรูปแบบ Surround 5.1
กล่าวคือเป็นการนำเพลงที่จะใช้จริงมาวางเป็นแทร็ก ให้อยู่บนไทม์ไลน์ของซอฟต์แวร์ Cubase Pro แล้วทำการมิกซ์ให้อยู่ในรูปของ Surround 5.1
อุปกรณ์สำคัญถูกติดตั้งเพื่อใช้ในห้อง Y-DACC
ตอนแรกทีมงานมองว่าจะใช้รูปแบบอินเทอร์เฟซแบบไหนดี จึงจะคล่องตัว หรือให้เสียงออกมาให้ดีที่สุด เพราะที่นี่มีอุปกรณ์ซึ่งรองรับงานระดับโลกอยู่แล้ว อาทิ ตัวสเตจบ็อกซ์ Yamaha Rio3224-D เมื่อตัดสินใจใช้ตัวนี้ ทุกคนก็มั่นใจว่าคุณภาพเสียงเอาต์พุตที่ออกมาไม่เป็นรองใคร
ในช่วงเตรียมความพร้อมทีมงานได้ทดลองระบบสักพักหนึ่ง ก็เจอปัญหาคือระบบอาจยังไม่นิ่งพอ จึงมีการใช้ Master Clock มาช่วย ซึ่งภายในห้องนั้น หากพิจารณาพบว่ามี Master Clock หลายตัว หนึ่งในนั้นที่คิดว่าโอเคสุด บริหารจัดการง่ายสุดตัวหนึ่ง นั่นคือ Yamaha MRX7-D ทีมงานจึงตัดสินใจใช้อุปกรณ์ตัวนี้มาทำงาน 2 หน้าที่ด้วยกัน อย่างแรกคือทำหน้าที่เป็น Master Clock อีกหน้าที่คือใช้เป็น Speaker Processor เพื่อใช้จัดการภาคเอาต์พุต
ลำโพง Yamaha Stagepas 400
“จริงๆ Master Clock ใช้ได้หลายตัว แต่เราต้องการหาอะไรมายึด ข้อแรกตัว Dante Virtual Soundcard นั้น มันไม่มี Master Clock แต่ตัวสเตจบ็อกซ์และ MRX7-D เป็น Master Clock ได้ สรุปว่างานนี้เราใช้ MRX7-D เป็น Master Clock สำหรับตัว Rio เนี่ยสามารถทำงานได้ถึง 96kHz เลยนะ แต่โปรเจคของเราเป็น 48kHz ซึ่งจากต้นทางถึงปลายทางวิ่งบน 48kHz ทั้งหมด” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
เบื้องหลังระบบเสียงห้อง Y-DACC
บรรยากาศภายในห้อง Y-DACC
สำหรับห้อง Y-DACC ได้มีการนำเสนอคอนเท้นต์ ผ่านระบบเสียงในลักษณะ Sourround 5.1 โดยใช้ลำโพงรุ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Yamaha DZR12, DZR10 รวมถึง Yamaha Stagepas 400
“เราใช้ตู้ซับวูฟเฟอร์ Yamaha DXS18 จำนวน 2 ใบ วางเป็นโมโนตามหลักการของ 5.1 ส่วนลำโพงตัวอื่นวางรูปแบบ Left-Right, Center, Surround Left และ Right และต้นฉบับของแทร็กเหล่านั้น ปีที่แล้วถูกบันทึกผ่านสเตจบ็อกซ์ Yamaha Rio ที่เชื่อมต่อกับดิจิตอลมิกเซอร์ Yamaha CL5” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว และเขายังได้เล่าถึงระบบเสียงในห้องนี้เพิ่มว่า
“สัญญาณที่เป็นเสียงจากคอมพิวเตอร์จะวิ่งบน Dante Virtual Soundcard (DVS) ซึ่งจะส่งไปที่โพรเซสเซอร์ Yamaha MRX7-D หากเรานำสัญญาณเสียงไปเข้าสเตจบ็อกซ์ Rio มันจะทำอะไรไม่ได้เลย ตอนแรกรู้สึกว่างานมันออกมาไม่ดีเท่าที่ควร”
Yamaha DXS18
“แต่เมื่อนำ MRX7-D มาใช้ งานก็ออกมาดีขึ้น แม้ว่าตัว Cubase จะช่วยรันระบบ 5.1 ได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือระบบลำโพงที่อยู่ในห้องนั้นมีกำลังขับและรุ่นที่ต่างกัน เมื่อมีการนำโพรเซสเซอร์มาใช้ จึงทำให้ระบบเสียงเป็นเนื้อเดียวกัน มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้จะไม่เกี่ยวกับกระบวนการมิกซ์เสียง”
“วันทดสอบระบบเรายังไม่ได้ใช้ตัว MRX7-D แต่วันงานเรานำมาใช้จัดการ 2 อย่างคือ Delay กับ Speaker Processor ซึ่งตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องระยะทาง/เวลา และพรีเซตของลำโพงแต่ละใบ รวมถึงนำมาทำเป็นเฟดเดอร์อีกด้วย เพราะ DVS เวลาสัญญาณวิ่งไปออกสเตจบ็อกซ์ จะไม่สามารถเพิ่มลดความดังของสัญญาณเสียงได้ แต่ตัว MRX7-D สามารถเขียนโปรแกรมโดยการใส่อินพุตเฟดเดอร์เข้าไป”
“ตรงนี้ช่วยให้ปรับแต่งความดังเสียงตามสภาพหน้างานได้ง่ายและคล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ เราพยายามไม่ให้มันดังมาก เพราะจะมีผลต่อมิติของเสียง เนื่องจากห้องไม่ใหญ่พอ หากเปิดดังๆ จะทำให้มิติเสียงไม่ชัด แม้ว่าศัยกภาพของระบบเสียงในวันงานสามารถทำได้มากกว่านั้นก็ตาม”
Yamaha DZR12-D
“สัญญาณเสียงที่ผ่าน MRX7-D ไปอุปกรณ์อื่นยังเป็น Dante เน็ตเวิร์กอยู่ คือไม่ได้นำเอาต์พุตออกมาเป็นอะนาล็อก แต่เป็นการเชื่อมต่อ Dante จาก MRX7-D ไปเข้าสเตจบ็อกซ์ ส่วนการเชื่อมต่อสายสัญญาณบนตัวสเตจบ็อกซ์นั้น นับจากวันทดสอบระบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แค่นำ Device ไปเพิ่มเท่านั้นเอง และแก้ไข Patching บน Dante Controller ใหม่” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
เบื้องหลังระบบเสียงห้อง Audiovesity
บรรยากาศภายในห้อง Audiovesity
ก่อนเริ่มงานห้องนี้ได้ถูกเซตอัพระบบอุปกรณ์ไว้ค่อนข้างลงตัวอยู่แล้ว แต่มีการปรับแต่งบางอย่างใหม่ เพื่อให้เกิดมิติเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะว่าภาพที่ได้มานั้น เป็นภาพจากอาสนวิหารอัสสัมชัญ ฉะนั้นความโอ่โถง ความกว้างของเสียง ต้องเป็นแนวโบสถ์เป็นหลัก
ระบบเสียงที่ทำไว้แต่เดิมนั้น จะเป็นเสียงแบบ Direct Sound (เสียงจริง) ซึ่งจะไม่ติดรีเวิร์บออกมาเลย ทีมงานจึงจำเป็นต้องแก้ไขค่า Reverb time ให้ใกล้เคียงกับลักษณะอะคูสติกของโบสถ์ เพื่อให้ภาพและเสียงมันสัมพันธ์กันมากที่สุด กับอีกเรื่องคือระดับความดัง (SPL) ของระบบ
จากเดิมห้องนี้ไม่เน้นเสียงดังมากนัก เพราะปกติจะใช้แค่บรรยายสัมมนา และใช้เปิดแบ็คกราวด์มิวสิค (background music) เป็นหลัก แต่พอมีคอนเท้นต์ที่ต้องใช้ในงานเทศกาลจึงต้องปรับระดับความดังให้สูงขึ้นอีกเล็กน้อย คือดังมากกว่าปกตินั่นเอง เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงพลังเสียงในโบสถ์มากยิ่งขึ้น
Yamaha VXS, VXC Series
“ห้อง Audioversity จะเป็นการใช้ไฟล์ที่มิกซ์ดาวน์มาแล้ว ไปประกอบกับวิดีโอ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ เราโชว์ทั้งหมด 4 เพลง รูปแบบการ Alignment จะออกมาในลักษณะเสมือนกับบรรยากาศภายในโบสถ์ ถ้าเดินเข้าไปใกล้ๆ ลำโพงจะได้ยินเสียง Direct Sound มากหน่อย แต่พอเดินถอยห่างออกมาจะได้ยินเอฟเฟ็กต์รีเวิร์บมากขึ้น ฟิลด์คล้ายกับเรายืนฟังหน้าวงเล่น กับยืนฟังในโบสถ์”
“ที่นี่ลำโพงบางใบจะมีเฉพาะเสียง Direct Sound บางใบมีเฉพาะเอฟเฟ็กต์ และบางใบมีผสมทั้ง Direct Sound กับเอฟเฟ็กต์เข้าไปด้วย”
“MRX7-D ถือว่าช่วยงานทั้งสองห้องได้มากๆ เป็นพระเอกได้ในระดับนึงเลยนะ โดยเฉพาะห้อง Audioversity เพราะว่าเสียงที่นำไปเพลย์เป็นแค่สเตอริโอแทร็ก” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
Y-DACC vs. Audioversity
ที่ห้อง Y-DACC ระบบเสียงจะเป็น Surround 5.1 ส่วนห้อง Audioversity เป็นระบบสเตริโอ แต่เป็นสเตริโอที่ถูกเติมมิติของลำโพง โดยมี 2 ลักษณะคือ Direct Sound ใช้กับลำโพงคู่หน้า นั่นคือ Yamaha VXL ส่วนลำโพงที่อยู่รายล้อมจะมีการเติมเสียงจริง เติมเอฟเฟ็กต์เข้าไป เช่น VXS5, VXC4 จะเห็นว่าทั้งหมดมีการเติมแอมเบี้ยนซ์ต่างๆ เข้าไปที่ลำโพง
ตู้แร็คบรรจุอุปกรณ์โพรเซสเซอร์ เพาเวอร์แอมป์และอื่นๆ ภายในห้อง Audiovesity
ห้อง Audioversity จะใช้อุปกรณ์โพรเซสเซอร์ MRX7-D เหมือนห้อง Y-DACC ที่นี่มีเพาเวอร์แอมป์ XMV Series รุ่น 8140 ขนาด 8 แชนแนล จำนวน 3 เครื่อง มีเพาเวอร์แอมป์รุ่น PX10 ทำให้ผู้ออกแบบจัดการลำโพงได้อย่างละเอียดทุกแชนแนล
“ห้อง Y-DACC จะมีความซับซ้อนกว่า เพราะมีการวางลำโพงในรูปแบบ Surround 5.1 มิกซ์ดาวน์ด้วยซอฟต์แวร์ Cubase Pro โดย Export แทร็ก STEM ของสนามศุภชลาศัยมาทำใหม่เพื่อให้เสียงออกมาเป็นระบบ 5.1 เพราะไฟล์ที่อัดไว้เป็นมัลติแทร็ก หากจำไม่ผิดน่าจะราวๆ 50 แทร็ก”
“ไฟล์เพลงต้นฉบับเราทำไว้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการนำเสนอผลงานที่ผู้ฟังไม่คุ้นเคยให้รู้สึกต่างออกไป เรียกว่างานนี้เป็นการต่อยอดไฟล์เพลงที่ผมมีอยู่ เพราะทำบาลานซ์ไว้ระดับนึงแล้ว แค่นำมาจัดให้เกิดมิติใหม่ ไม่ได้มิกซ์ใหม่ทั้งหมด เพราะมีเวลาจำกัด เราเริ่มทำงานกันจริงๆ ประมาณ 4 วัน”
Yamaha VXL ติดตั้งอยู่ข้างจอภาพ
“ด้วยโจทย์ที่เราต้องการนำเสนอให้เกิดความแปลกใหม่ ผมจึงแยกแทร็กออกมาเป็น STEM มีทั้งหมด 6 แชนแนล เช่น ของเดิมมีโซปราโน (Soprano) 4 ไมค์ อัลโต (Alto) 4 ไมค์ ก็ทำการรวมให้โซปราโนและอัลโตเหลืออย่างละ 1 STEM เพื่อไม่ให้แทร็กมันเยอะเกินไป ซึ่งจะทำงานลำบาก เสร็จแล้วนำไฟล์เพลงไปเพลย์บน Cubase AI ส่วนแทร็กวิดีโอก็อยู่บนไทม์ไลน์ของ Cubase เช่นกัน ดังนั้นคอนเท้นต์ภาพและเสียงจึงถูกซิงโครไนซ์ไปด้วยกัน” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
รอบแขก VIP
22 พ.ย. 63 เป็นกิจกรรมวันแรกของงาน มีแขกระดับ VIP เข้าชมงานในรอบปฐมฤกษ์ ความคาดหวังสูงสุดของผู้จัดนั้น ต้องไม่มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียวเลย เนื่องจากแขกที่มาล้วนเป็นบุคคลสำคัญมากๆ
ทีมงานจึงมีการทดสอบระบบอยู่หลายสิบครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเสียงไม่มี Error มีการทดสอบทั้งเรื่องความดัง เรื่องคุณภาพเสียง ความชัดเจนของเสียง ว่าได้มิติอย่างที่ต้องการจริงหรือเปล่า มีการ Pan ดนตรีชิ้นต่างๆ เพื่อเช็คว่าภาพที่ผู้ชมเห็นมันสมจริงหรือเปล่า
“ตอนโชว์จริง ผมไม่ได้ออนบอร์ดหน้างาน ทางสยามดนตรียามาฮ่าเป็นผู้จัดการเอง ต่างกับตอนทำงานที่สนามศุภชลาศัย และที่โบสถ์อัสสัมชัญ”
“สำหรับคอนเท้นต์ที่เตรียมนำเสนอ เราคัดสรรกันอย่างพิถีพิถัน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ เราพยายามดูทุกจุดเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในวันงาน”
“ในวันงานมีหลายคนที่มา ทั้งนักขับร้อง แม้กระทั่ง Music Director ที่ดูแลเพลงในเมื่อปีที่แล้วก็มาด้วย” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
บรรยากาศภายในห้อง AFC
ตอนแรกทีมงานคิดว่าเซตอัพเครื่องไว้ พอถึงเวลาก็เปิดโชว์ แต่ความจริงไม่ง่ายแบบนั้น เพราะเวลามาอยู่หน้างาน คือตำแหน่งของลำโพงมันไม่ได้ถูกติดตั้งตามลักษณะของระบบ Surround 5.1 ซะทีเดียว เพราะพื้นที่ของห้องไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยม จึงได้มีการ Alignment ระบบเสียงหน้างานพอสมควร และยังเป็นอีกหนึ่งงานที่มีเบื้องหลังระบบเสียงหลายอย่างให้ศึกษา
สำหรับห้อง Audioversity ทีมงานไม่ได้ทำอะไรมากแค่ปรับ Reverb time และ EQ บางส่วน และปรับแต่งความดังให้เหมาะสม เสร็จแล้วสร้างเป็นซีนใหม่ขึ้นมา ไม่ให้ซ้ำกับซีนเดิมที่มีอยู่ เพราะเครื่องนี้รองรับหน่วยความจำซีนได้เยอะอยู่แล้ว
ห้องอื่นๆ
ในเทศกาลนี้ ทีมงานใช้อุปกรณ์เพลย์แบ็กผ่านดิจิตอลมิกเซอร์ Yamaha TF โดยใช้ร่วมกับลำโพง Yamaha DXR เป็นเสียงประกาศ และเสียงเพลงที่เป็นแบ็คกราวด์มิวสิค บางห้องก็มีการเล่นเปียโนควบคู่ไปด้วย มีการขยายสัญญาณผสมกับเครื่องดนตรีต่างๆ เพื่อให้เกิดความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ในแต่ละห้องที่มีคอนเท้นต์ของมันอยู่
บรรยากาศภายในห้อง Recording
การโชว์ในห้องอื่นๆ ก็มีการใช้ลำโพง DZR12, DXS XLF ขนาด 15 นิ้ว และ 18 นิ้ว หลากหลายแบบ ยังมีการใช้ดิจิตอลมิกเซอร์ TF-Rack ซึ่งสามารถควบคุมผ่าน iPad/สมาร์ทโฟน ซึ่งเหมาะกับเวลาที่มีอีเว้นต์ด้านล่าง
สำหรับห้องมิวสิคฮอลล์ ก็มีคอนเท้นต์ที่เล่าเรื่องพระมหากษัตริย์ไทยกับพระสันตะปาปาในยุคสมัยต่างๆ ผ่านเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งเพลงที่เล่นไปถูกเติมเต็มด้วยระบบ Yamaha AFC (Active Field Control) เพื่อให้ได้แอมเบี้ยนซ์ที่มีมิติมากขึ้น มีความอลังการมากยิ่งขึ้น
โดยระบบเสียง AFC นั้น ทางทีมงานมีการปรับจูนมาอย่างดีอยู่แล้ว ทำให้สามารถกำหนดรูปแบบเสียงที่ต้องการได้หลายลักษณะ ระบบเสียงในห้องนี้เบื้องต้นปรับจูนโดยวิศวกรจากญี่ปุ่น แต่มีการปรับแต่งเพิ่มเติมโดย อ.ศักดิ์ชัย ชัยประภาทอง ปัจจุบันทำงานตำแหน่งฝ่ายเทคนิคอาวุโสของสยามดนตรียามาฮ่า
ในห้อง Recording เป็นการนำเสนอศาสนสัมพันธ์ ด้วยมิติมุมมองต่างๆ เกี่ยวกับศาสนาที่หลากหลายในประเทศไทย ว่าเราอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ตรงนี้ก็มีการจัดเทศกาลภาพ โดยมีการเปิดเพลงผ่าน USB ซึ่งทางสื่อมวลชนคาทอลิคเป็นผู้จัดทำ และนำมาประกอบกับเครื่องเสียงที่มีอยู่ โดยเน้นการเล่าเรื่องราวผ่านแบ็กกราวด์มิวสิค
ช่วงกิจกรรมนักเรียน
ในรอบเปิดให้นักเรียนเข้าชม 3-4 วัน มีปัญหาบางอย่าง เนื่องจากมีคนประสงค์เข้าชมงานจำนวนมาก ผู้จัดจึงแบ่งคนออกมาเป็นรอบๆ แต่ละรอบมีคน ร่วมๆ 50 คน เมื่อมีคนเข้ามามาก ปัญหาคือทำให้ระดับความดังที่เซตไว้แต่แรกนั้นดังไม่พอ มีหลายท่านขอให้ทีมงานเพิ่มระดับความดัง
แต่เนื่องจากระบบเสียงวันนั้นไม่ได้เตรียมมาสเตอร์โวลุ่มเอาไว้ เวลาอยู่หน้างานหากต้องการควบคุมให้เสียงดังขึ้น หรือปรับให้เบาลง เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ก็ต้องไปคุมผ่านเฟดเดอร์ในตัวโปรแกรม Cubase AI โดยตรง แต่ทีมงานพยายามปรับแต่งแบบประนีประนอม ไม่น้อยไม่มากไป
ทีมงานต้องคาดคะเนเอาว่า ถ้านักเรียนเยอะๆ แต่ละรอบต้องเพิ่มสักราว +2dB แต่หากเป็นรอบปกติก็ตั้งไว้ 0dB แต่บางรอบที่มีคนเข้ามาน้อย เช่นรอบค่ำๆ มีคนเข้ามาชมแค่ 4-5 คน การเปิดที่ 0dB จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าดังเกินไป ก็ต้องลดความดังลงประมาณ -3dB
จะเห็นว่าการควบคุมเสียงนั้น ต้องไปวัดผลหน้างานในแต่ละรอบ เมื่อทีมงานเห็นจำนวนคนเข้ามา ก็ต้องเตรียมเฟดเดอร์ไว้เลย
ความประทับใจ
ทางผู้จัดได้ให้ข้อมูลว่า ประทับใจทุกๆ วัน เพราะแต่ละวันก็มีผู้คนเข้ามาอย่างหลากหลาย ที่ประทับใจจริงๆ คือกลุ่มนักเรียน โดยเฉพาะจากโรงเรียนคาทอลิค น้องๆ หลายคนสามารถร้องเพลงตามได้ ทีมงานไม่นึกว่าจะมีคนร้องเพลงได้ ทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะเป็นเพลงที่คุ้น หรือน่าจะจำได้ ทั้งที่ผ่านไปแล้วหนึ่งปี แต่กลับมีคนร้องเพลงนั้นได้
บางคนเข้ามา แล้วมีอารมณ์ร่วมค่อนข้างเยอะ เช่น บางคนร้องไห้ด้วยความตื้นตัน ถือว่างานนี้ทางสยามดนตรียามาฮ่าทำได้ประสบความสำเร็จมากๆ เพราะสามารถทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงสิ่งที่ผู้จัดพยายามจะนำเสนอได้อย่างสมบูรณ์
ระบบเสียง Yamaha ถือว่ามีส่วนมากๆ ในการสร้างอารมณ์ร่วม จากคำติชม ทุกคนจะพูดถึงห้อง Y-DACC มาก ว่าสามารถทำคอนเท้นต์ได้น่าสนใจทั้งภาพและเสียง คอนเซ็บต์ห้องนี้จะมีโทนของความเป็น PA สูง เพราะทีมงานต้องการให้บรรยากาศใกล้เคียงกับสนามศุภชลาศัย
“ฟีดแบ็กส่วนใหญ่จะได้รับการชื่นชม หลายๆ คนดูแล้วก็อยากดูอีก งานนี้ไม่ได้เป็นเพราะฝีมือด้านเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดจากตัวเนื้อหา สำหรับคนทั่วไปถ้าเราไม่บอกเขา เขาไม่รู้หรอกว่าเราทำเป็นระบบ Surround 5.1 แต่เมื่อคนดูเขาเห็นภาพบวกกับได้ยินเสียงเพลง มันทำให้เขารู้สึกอิ่มเอมโดยปริยาย ยิ่งคนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น หากได้รับชมก็จะรู้สึกเหมือนย้อนกลับไปอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นอีกครั้ง” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
เพลงที่ใช้เปิด
สำหรับไฮไลท์แทร็กที่นำมาเปิดจะมีเพียง 2 เพลง เป็นเพลงเร็วชื่อว่า “มาร์ช วิวา อิล ปาปา” (Viva il Papa March) เพลงนี้เล่นในขณะรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาเข้าสู่สนามศุภชลาศัย กับอีกเพลงที่มีชื่อว่า “มิเซริคอร์เดซ ซิคุท ปาแตร์” (Misericordez Sicut Pater) เป็นเพลงที่ใช้ตอนเริ่มพิธีมิสซาตอนมีขบวนนักบวช บิชอป พระคาร์ดินัล จากหลายประเทศในแถบเอเชีย ตั้งแถวเดินออกมาอย่างสวยงาม มีบทขับร้องถึง 8 ข้อด้วยกัน ใช้เวลาเกือบ 6 นาที มีคนนั่งดูเห็นภาพแล้วอินไปกับงาน
ตอนแรกทีมงานคิดว่าเป็นเพลงช้าแล้วคนจะหลับหรือเปล่า แถมเป็นภาษาละตินไม่ได้เป็นภาษาไทยทั้งหมด แต่ผลลัพธ์กลับออกมาดีเกินคาด
ในอนาคตผู้จัดวางแผนว่าอาจจะทำเป็นเทศกาลอื่นๆ อีก โดยนำระบบเสียง Surround มาให้รับชม แม้ว่าพื้นที่ห้องของที่นี่จะไม่เหมาะกับทำ Surround แต่สามารถเนรมิตเสียงในแบบที่ต้องการ เพราะที่ผ่านมาทางสยามดนตรียามาฮ่าไม่เคยทำสื่อที่เป็นมัลติมีเดียแบบนี้ นี่ถือเป็นครั้งแรกก็ว่าได้
ห้อง Y-DACC เพลงจะถูกเปิดผ่าน Cubase AI
“จริงๆ การร้องเพลงก็ไม่มีอะไรมาก บางทีเราก็นำแอมเบี้ยนซ์เข้ามาผสมเข้าไปด้วย เพื่อให้เพลงเกิดความน่าสนใจ มีอะไรใหม่ๆ เราไม่ได้นำแค่บทเพลง เรามองว่าเป็นนี่คือการนำเสนอเนื้อหา เป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น โดยใช้เพลงเป็นตัวประกอบในโชว์”
“เราต้องการเติมสีสัน เสียงโห่ร้อง เสียงระฆัง ค่อยๆ เติมลงไป ทั้งหมดก็มาจากซอร์สจริงทั้งหมดนั่นแหละ อย่างเช่นเสียงโห่ร้อง Viva il Papa ผมไปเอามาจากช่วงที่พระสันตะปาปาเสด็จบนรถวนรอบสนามศุภชลาศัย ตอนนั้นไม่มีการร้องเพลง แต่เรานำมาผสมผสานกับเพลงให้ลงตัว รวมถึงเสียงคอรัส 1,111 คน ที่สนามศุภชลาศัย มาเติมลงไปด้วย” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
การบันทึกเสียง
เราถามว่า เทคนิคการบันทึกเสียงในรูปแบบดิจิตอลผ่าน Dante เน็ตเวิร์ก ต่างจากระบบอะนาล็อกและให้คุณภาพเสียงเป็นอย่างไร
“ข้อดีของการอัดผ่านระบบ Dante เน็ตเวิร์ก เราใช้ทรัพยากรต่ำกว่าระบบอะนาล็อกมาก แต่การอัดด้วยระบบอะนาล็อกอาจได้คาเร็กเตอร์บางอย่างที่โดดเด่น ในวันงานเราใช้สาย LAN เพียงเส้นเดียว ต่อออกมาจากสเตจบ็อกซ์ มาเข้าที่โน้ตบุ๊คก็เรคอร์ดได้เลย ส่วนที่โบสถ์อัสสัมก็ต่อ USB จาก TF1 แล้วอัดเลย คุณภาพเสียงที่อัดจากทั้งสองงานก็ flat ใช้งานได้”
“ยิ่งหากเราทำ Gain Structure ได้ถูกต้อง ก็จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะตอนเรามิกซ์หน้าบอร์ด เราทำ Gain ไว้ดีพอต่อการเรคอร์ดอยู่แล้ว ปกติเรามี Gain อยู่ 2 ชุดคือดิจิตอลและอะนาล็อก Gain เทคนิคคือต้องทำ Gain ของสเตจบ็อกซ์ให้มันได้ก่อน แล้วค่อยถอยดิจิตอล Gain ลงมา เอาเท่าที่ใช้ในงานนั้น แต่ว่าเวลาเรคอร์ดเราดึงสัญญาณจากอะนาล็อก Gain”
“บางครั้งถ้าเป็นงานใหญ่ มีเอ็นจิเนียร์หลายคน ต้องคุยกัน ทำเผื่อกัน งานก็ออกมาดีได้ ตอนนี้ผมคิดว่าหลายๆ คอนเสิร์ตเริ่มอัดด้วยดิจิตอลกันเยอะแล้ว เพราะใช้อุปกรณ์น้อยกว่ามาก”
“แม้ต้นฉบับที่อัดมาคนละที่ อุปกรณ์ที่ใช้อาจเป็นคนละชุด เวลาทำงานไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะอัดมาด้วย Bit Depth ที่เท่ากัน ทำงานได้ มีแก้โทนนิดหน่อย หลายคนงงว่า เสียงอัดจาก Yamaha TF + Tio1608-d หรือนี่”
“Rio กับ Tio อาจมีคาเร็กเตอร์เสียงต่างกันบ้าง แต่ไม่ได้ต่างจนทำงานไม่ได้ เช่นเสียงจาก Rio ประมาณ 20 แทร็ก มีเสียงจาก Tio สัก 3-4 แทร็ก มันไม่ได้ทำให้ภาพรวมของโปรเจคเปลี่ยนไป”
“แน่นอนว่า Rio จะให้โทนเสียงที่อิ่มและลึกกว่า เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาในระดับคุณภาพสูงกว่าตัว Tio” คุณหมู วีออร์กาไนซ์กล่าว
สรุป
คุณหมู วีออร์กาไนซ์ได้สรุปประเด็นสำคัญของงานนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“งานนี้ถือว่าได้มีโอกาสทำอะไรใหม่ๆ โดยปกติหากไม่ใช่คอนเสิร์ตที่ต้องทำมาสเตอริ่งเป็น DVD มักจะไม่มีการมิกซ์เป็น Surround สำหรับงานนี้เราทำเป็น Surround ทำให้เสียงที่ออกมามีมิติแปลกดี”
“งานนี้ถือเป็นงานแรกที่นำ MultiPanner มาใช้แบบจริงจัง เราได้เล่นของใหม่ๆ ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ตัว Cubase ก็ใช้งานสะดวก มีความเสถียร”
“ความยากของงานนี้ มันเปิดมุมมองใหม่ เราไม่เคยฟังดนตรีวัดเป็นแบบ Surround ฉะนั้นเวลานำเสนอเราจึงคำนึงถึงเรื่องให้ฟังง่าย แต่ถ้านำเสนอให้เป็น Surround แท้ๆ จัดๆ อาจจะทำไม่ง่าย เราไม่ได้พยายามทำให้คนหลุดออกจากโชว์ หรือมาเพื่อฟังเสียงจากลำโพง ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ”
“ที่ห้อง Audioversity คนทั่วไปอาจมีคำถามว่ามันทำได้อย่างไร ตรงนี้เป็นความสามารถของ Yamaha MRX7-D เพราะสัญญาณที่ถูกส่งเข้าไปในตัวโพรเซสเซอร์นั้นจะส่งเป็นสเตริโอแทร็ก จากนั้นสัญญาณจะถูกนำไปประมวลผลภายใน”
“เช่นเสียงเอฟเฟ็กต์ หรือเสียงร้องมีการกระจายตัวไปยังตำแหน่งลำโพงต่างๆ เรียกว่าเป็นการจัดตำแหน่งแห่งที่ของเสียงไม่ให้คุ้นหู”
“ทั้งสองห้องจะใช้ SPL ที่ใกล้เคียงกัน แต่เพลงที่นำมาเปิดคนละอารมณ์ เพลงในโบสถ์จะออกแนวหวานๆ ซึ้งๆ ต่างจากสนามศุภชลาศัยซึ่งเพลงจะแสดงถึงความยิ่งใหญ่”
“ดังนั้นอารมณ์ของห้อง Y-DACC กับ Audioversity เป็นคนละอารมณ์กันเลย แต่ว่าซอร์สเสียงที่นำมาใช้งานเอามาจากสถานที่นั้นจริงๆ”
ทั้งหมดนี่คือแนวคิดและวิธีการทำงานของเบื้องหลังระบบเสียง ในวาระครบรอบ 1 ปี ที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส เสด็จเยือนไทย งานนี้จัดขึ้นที่อาคารสยามกลการ ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัทสยามดนตรียามาฮ่าในปัจจุบัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
พิธีมิสซา ณ. อาสนวิหารอัสสัมชัญ | เบื้องหลังระบบเสียง
เบื้องหลังระบบเสียง งาน POPE Visit to Thailand
สามารถทดลองสินค้าได้ที่ :
YDACC ชั้น 3 อาคารสยามกลการ ใกล้กับ bts สนามกีฬาแห่งชาติhttps://goo.gl/maps/ca3fkb2ZmwUq4Rrg6
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่
Facebook : Yamaha Pro Audio Thailand
Line: @yamahaproaudioth
Website: th.yamaha.com
Instagram: yamahaproaudiothailand
Tel: 02-215-2626-39 (1401)